ดร.นิพนธ์คาดอีก 20 ปี ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ โตไม่เกินเป้า ไม่ต้องผันน้ำจาก ‘สตึงนัม’ กัมพูชา
ภาพอนาคตใช้น้ำอีก 20 ปี ‘ดร.นิพนธ์’ ห่วงอีสเทิร์นซีบอร์ดไร้แผนพัฒนาชัดเจน คาดการณ์ใช้น้ำเพิ่ม 600 ล้านลบ.ม. เชื่อเมืองไม่เติบโตตามเป้า ไทยไม่ต้องผันน้ำจากเขื่อนสตึงนัม กัมพูชา ติง รบ.ขาดแผนศึกษาความเป็นไปได้จัดการน้ำ แนะระยาวเก็บค่าน้ำภาคเกษตร สร้างจิตสำนึกรู้คุณค่า
วันที่ 8 ก.ย. 2560 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนา เรื่อง ภาพอนาคตในปี 2035:ที่ดิน พลังงาน และน้ำในประเทศไทย ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงแนวโน้มอุปสงค์การใช้น้ำในประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ที่จะมีการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และมุ่งยกระดับให้จ.ฉะเชิงเทรา เป็นเมืองที่จะมีประชากรอาศัยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า อุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นมีอะไร และจำนวนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ทั้งหมดเกิดจากการคาดคะเน จึงมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ตัวเลขอุปสงค์การใช้น้ำในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดที่คาดการณ์จะเพิ่มขึ้นอีก 600 ล้าน ลบ.ม. รัฐต้องทบทวนว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ออกมาระบุสามารถจัดหาแหล่งน้ำในประเทศโดยไม่รุกล้ำป่าอนุรักษ์ ได้ราว 300 ล้านลบ.ม. ส่วนอีก 300 ล้านลบ.ม. ที่เหลือ จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า อาจต้องศึกษาด้วยว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องซื้อน้ำจากต่างประเทศ โดยหากพบการพัฒนาไม่เกินขีดความสามารถที่ตั้งไว้ก็ไม่จำเป็นต้องผันน้ำจากเขื่อนสตึงนัม ประเทศกัมพูชา
เมื่อถามถึงแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า รัฐบาลยังขาดในเรื่องการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับแผนการพัฒนาบริหารจัดการน้ำในด้านต่าง ๆ ว่า โครงการใดควรทำหรือไม่ควรทำ ซึ่งในเรื่องนี้จะพบหน่วยงานของรัฐไม่ยอม เพราะกังวลว่า โครงการที่จะเสนอของบประมาณนั้นไม่ได้รับการพิจารณา ทั้งที่ความจริงควรผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะทรัพยากรของประเทศมีจำนวนจำกัด
รศ.ดร.นิพนธ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ การจัดสรรอุปสงค์การใช้น้ำของประเทศอย่างเร่งด่วน เพราะเมื่อถึงฤดูแล้ง จะพบในบางปีมีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ พร้อมเสนอให้เกษตรกรต้องบำรุงรักษาคูคลองส่งน้ำที่เข้าสู่ไร่นาของตัวเอง สร้างระบบการจัดเก็บภาษีมลพิษ รวมถึงภาษีนำเข้าการใช้สารเคมีเกษตร ซึ่งต้องออกกฎหมายฉบับใหม่มาบังคับใช้ เพราะเมื่อมีการใช้สารเคมีหรือมลพิษลดน้อยลง คุณภาพน้ำดีจะเพิ่มมากขึ้น
“ระยะยาวต้องวางแผนจัดเก็บค่าน้ำจากภาคเกษตรกรรม แต่นักการเมือง ข้าราชการ มักตกใจ ไม่มีใครอยากทำ เพราะกลัว ทั้งที่ความจริงแล้ว ตัวอย่างในต่างประเทศจะพบว่า ค่าน้ำที่จัดเก็บไม่แพง แต่ต้องเก็บเพื่อให้เกษตรกรตระหนักในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า แต่รัฐต้องวางโครงสร้างพื้นฐานให้ดี และสัญญาว่าทุกครั้งที่เปิดท่อน้ำจะต้องมีน้ำให้บริการ หากไม่มีน้ำต้องห้ามเก็บ” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าว .