'คู่ค้าข้าวเสี่ยเปี๋ยง-ซุกหุ้นแม้ว-ที่ดินบิ๊กตู่'!ย้อนสารพัด บ.บริติชเวอร์จิ้นโยงคดีไทย
"... บริษัท ไฟน์ คอนทิเนนตัล เทรดดิ้ง คอร์ป จำกัด ซึ่งจดทะเบียนตั้งอยู่ที่เกาะบริติชเวอร์จิน เลขที่ Palm Grove House, P.O.BOX 438, Road Town, Tortola, British Virgin Islands ...มิได้เป็นบริษัทเอกชนแห่งเดียวที่จดทะเบียนจัดตั้งอยู่ที่ เกาะบริติชเวอร์จิน ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่ปรากฎชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญในประเทศไทยรายบริษัท..และมีหลายคดีที่ผู้เกี่ยวข้องในไทยถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด ส่วนอีกหลายคดีอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐ.."
บริษัท ไฟน์ คอนทิเนนตัล เทรดดิ้ง คอร์ป จำกัด ซึ่งจดทะเบียนตั้งอยู่ที่เกาะบริติชเวอร์จิน เลขที่ Palm Grove House, P.O.BOX 438, Road Town, Tortola, British Virgin Islands และถูกบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ของ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดังของประเทศไทย จำเลยในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี กล่าวอ้างว่า เป็นเอกชนที่ทำสัญญาซื้อขายข้าวกับบริษัทจีน 2 แห่ง คือ บริษัท กวางตุ้งฯ และบริษัท ไห่หนานฯ ที่รับซื้อข้าวต่อมาจากรัฐบาลไทย และนำมาขายต่อให้กับบริษัทสยามอินดิก้า อีกต่อหนึ่ง เพื่อยืนยันว่า บริษัทสยามอินดิก้า ทำธุรกิจขายค้าตามปกติ และการระบายข้าวจีทูจี มีอยู่จริง (แต่ศาลเห็นว่าข้อมูลฟังไม่ขึ้นและตัดสินลงโทษ บริษัทสยามอินดิก้า และนายอภิชาติ ไปแล้ว) มิได้เป็นบริษัทเอกชนแห่งเดียวที่จดทะเบียนจัดตั้งอยู่ที่ เกาะบริติชเวอร์จิน ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่ปรากฎชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญในประเทศไทยรายบริษัท (อ่านประกอบ : อยู่บริติชเวอร์จิน! ข้อมูลใหม่บ.ไฟน์ฯคู่ค้าข้าวสยามอินดิก้า ก่อนศาลสั่งจำคุกเสี่ยเปี๋ยง-พวก)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นฐานข้อมูลข่าวศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา ที่เคยนำเสนอไป พบรายชื่อบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนตั้งอยู่ที่เกาะบริติชเวอร์จิน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญในประเทศไทยหลายบริษัทดังนี้
@ เอซีอี เพรซิชั่น อินเวลเม้นทส์ ลิมิเต็ด สัญชาติจีน
เอซีอี เพรซิชั่น อินเวลเม้นทส์ ลิมิเต็ด ปรากฏชื่อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ บริษัท เอ.ที. แลนด์ แอนด์ เดเวล็อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเข้าไปผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท สิราลัย จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด เป็นหนึ่งในจำเลยคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี
ทั้งนี้ เอซีอี เพรซิชั่น อินเวลเม้นทส์ ลิมิเต็ด แจ้งว่า ตั้งอยู่เลขที่ 957 ออฟชอร์ อินคอร์ปอเรชั่นส์ เซ็นเตอร์ ถนนทาวน์ ทอร์โทลา บริติชเวอร์จิน ไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นที่อยู่เดียวกันกับ บริษัท อาร์ทลิช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ ของ บริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรากฎรายชื่อเป็นหนึ่งในเอกชนที่อยู่ในข่ายถูกตรวจสอบกรณีการซื้อขายมันสำปะหลัง (มันเส้น) ในรูปแบบสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 7 สัญญา ปริมาณรวม 4,790,000 ตัน จำนวนเงินรวม 30,642,500,000 บาท ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในปัจจุบัน (อ่านประกอบ :เปิดตัว บ.จีนหุ้นใหญ่ 'สิราลัย'เครือข่ายเสี่ยเปี๋ยง! ใช้ที่อยู่เดียวบ.มันเส้นจีทูจี-'บริติชเวอร์จิน')
@ วินเทค โปรฟิท คอมปะนี ลิมิเต็ด ไทรเด้นท์ ทรัส (บี.วี.ไอ.) ลิมิเต็ด ไทรเด้นท์ แซมเบอร์
วินเทค โปรฟิทฯ ปรากฏชื่อเข้ามาถือหุ้นใหญ่ บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับ พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา บิดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำนวน 9 แปลง เนื้อที่ 50-3-08 ไร่ จำนวนเงิน 600 ล้านบาท
วินเทค โปรฟิทฯ แจ้งว่าตั้งอยู่ตู้ ป.ณ. 146 ,โรดทาวน์,ทอร์โทล่า , บริติชเวอร์จิน ไอร์แลนด์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ จำนวน 49,000 หุ้น จากบริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด โดยรับโอนมาจาก บริษัท ทรงวุฒิ บิสซิเนส จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2556
ขณะที่ที่อยู่บริติชเวอร์จิน ไอร์แลนด์ แห่งนี้ เป็นที่อยู่เลขเดียวกับ ทีซีซี แอสเส็ทส์ ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ทีซีซีแลนด์ จำกัด ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีแสนล้าน
(อ่านประกอบ : บริษัทรับซื้อที่ดินพ่อ“ประยุทธ์”600 ล.“หุ้นใหญ่”ตั้งบนเกาะบริติชเวอร์จิน)
@ วินมาร์คลิมิเต็ด & แอมเพิล ริช
วินมาร์คลิมิเต็ด เข้ามาเกี่ยวพันกับการโอนหุ้นเครือชินคอร์ปของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัวเมื่อหลายปีก่อน ได้แก่ บริษัท โอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จำนวน 33 ล้านหุ้น บริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 19.9 ล้านหุ้น และ บริษัท เอส.ซี.เค.เอสเตท จำกัด จำนวน 3.5 ล้านหุ้น
วินมาร์คลิมิเต็ด แจ้งว่า ตั้งอยู่ตู้ไปรษณีย์ พี.โอ.3151 โรดทาวน์ ทอร์โตรา ในหมู่เกาะบริติช
ต่อมามีการพิสูจน์ได้ว่า ต่อมาได้พิสูจน์ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นของ นายทักษิณเองตั้งขึ้นเพื่อเลี่ยงภาษี
ส่วน แอมเพิล ริช ที่เข้าไปเกี่ยวข่องกับกรณี การขายหุ้น บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น ของครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ จำนวน 1,487.7 ล้านหุ้น มูลค่า 73,269 ล้านบาทให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ซึ่งมีการตรวจสอบพบความผิดปกติในทำธุรกรรมครั้งประวัติศาสตร์หลายประการที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ครอบครัวชินวัตร และนำไปสู่การยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ วงเงินหลายหมื่นล้านบาท
แอมเพิล ริช ถูกระบุว่าจดทะเบียนจัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายเกาะบริติชเวอร์จิ้น โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือหุ้น 100% ด้วยทุน 5 หมื่นเหรียญ แต่ลงทุนจริงเพียง 1 เหรียญสหรัฐ ไม่มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ ที่ใด นอกจาสถานที่ติดต่อเป็นตู้ไปรษณีย์ที่สิงคโปร์
@ บริษัท วิคแฟร์ จำกัด
บริษัท วิคแฟร์ จำกัด เข้ามาเกี่ยวข้องกับ กรณีนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะยังเป็นเจ้าของบริษัท ปิคนิคแก๊ส แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้ซื้อกิจการน้ำมันเอ็มพีของนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในวงเงิน 100 ล้านบาท
จากตรวจสอบพบว่า การทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นการโอนหุ้นจากคนใกล้ชิดนายวัฒนาผ่านบริษัท วิคแฟร์ จำกัด ซึ่งจัดตั้งเป็นตู้ไปรษณีย์ 957 โรดทาวน์ ทอร์โตรา บริติชเวอร์จินส์ สัญชาติไอซ์แลนด์
(อ่านประกอบ :4 นักการเมืองดังพัวพันบริษัทบนเกาะ“บริติชเวอร์จินส์-แชนแนล-เบอร์มิวด้า”)
@ ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสเม้นท์ ลิมิเต็ด
ปรากฎชื่อเข้าไปถือหุ้นใน บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี่ โฮลดิ้ง จํากัด ซึ่งเป็น บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติออกตั๋วสัญญาใช้เงินวงเงิน 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 8.50 % ครบกําหนดชําระในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ให้กับบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี่ โฮลดิ้ง จํากัด และค้ำประกัน โดยจดจํานองที่ดินมูลค่าตามบัญชี 189 ล้านบาท โดยนําเงินกู้ดังกล่าวไปวาง มัดจําค่าหุ้นให้แก่บริษัท ธนวริทร์ จํากัด 120 ล้านบาท เพื่อเข้าทํา Due Diligence บริษัท เดย์ โพเอทส์ จํากัด (a-day) ตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) วันที่ 7 ตุลาคม 2559 ซึ่งบริษัทจะเข้าลงทุนในบริษัทดังกล่าว 70 % กำหนดราคาซื้อขายขั้นต้นประมาณ 350 ล้านบาท ก่อนที่ดีลการซื้อขายหุ้น a-day จะล้มเลิกไป
โดย ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสเม้นท์ ลิมิเต็ด แจ้งที่อยู่เลขที่ "พี.โอ.บ๊อกซ์ 957 ออฟชอร์ อินคอร์ปอเรชั่นส์ เซ็นเตอร์ โร้ด ทาวน์ ทอร์โตร่า ประเทศหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งเป็นที่อยู่เดียวกับ บริษัท อาร์ทลิช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ ของ บริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรากฎรายชื่อเป็นหนึ่งในเอกชนที่อยู่ในข่ายถูกตรวจสอบกรณีการซื้อขายมันสำปะหลัง (มันเส้น) ในรูปแบบสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 7 สัญญา ปริมาณรวม 4,790,000 ตัน จำนวนเงินรวม 30,642,500,000 บาท ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของ ป.ป.ช. เช่นกัน
(อ่านประกอบ: เปิดตัว บ.เจ้าของ KPN ให้ 'โพลาริส' กู้100ล. ซื้อหุ้นa-day!ผู้ถือหุ้นอยู่บริติชเวอร์จิ้น)
@ 600 คนไทย-บิ๊กธุรกิจ-นักการเมืองตั้งบริษัทลับบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-เคย์แมน
ในช่วงเดือนเม.ย.2556 สำนักข่าวอิศรา ร่วมกับ ICIJ (www.icij.org) ซึ่งเป็นเครือข่ายอิสระของผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนจาก 60 ประเทศทั่วโลก นำเสนอข่าว ข้อมูลลับของบริษัทนายหน้าให้บริการจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตใหญ่ระดับโลกสองราย คือ บริษัทพอร์ตคูลลิสต์ ทรัสต์เน็ต (Portcullis TrustNet) ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์แต่มีสาขาอยู่ในหลายประเทศ และบริษัทคอมมอนเวลธ์ ทรัสต์ ลิมิดเต็ด (Commonwealth Trust Limited) ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น โดยข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วยประกอบด้วยไฟล์ทั้งหมด 2.5 ล้านไฟล์ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและตัวแทนบุคคล 130,000 ราย และบริษัทนอกอาณาเขต 120,000 บริษัท แม้ว่าการเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตซึ่งหมายถึงบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศหรือเขตปกครองที่มีกฏหมายปลอดภาษีและกฏหมายที่เอื้อต่อการปกปิดข้อมูลบริษัท จะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ข้อได้เปรียบเรื่องปลอดภาษีและการไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลบริษัท ทำให้โดยอาชญากร นักธุรกิจ และนักการเมืองทั่วโลกใช้บริษัทนอกอาณาเขตในการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เช่นการเลี่ยงภาษี และการปกปิดการถือครองทรัพย์สิน เป็นต้น
สำหรับประเทศพบว่า มีชื่อบุคคลและบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยกว่า 600 ราย ที่เป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขต พื้นที่ต่างๆทั่วโลก เช่น บริติช เวอร์จิ้น, เมอริเชียส และแกรนด์ เคย์แมน
ในจำนวนนี้ นอกจากเจ้าของกิจการและผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ แล้ว ยังมี นักการเมืองและสมาชิกในครอบครัว, ตระกูลนักธุรกิจใหญ่, อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้อยู่ในวงการบันเทิงบางราย เช่น นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย, คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร, นาย บรรณพจน์ ดามาพงศ์, นาย ประเสริฐ ประคุณศึกษาภัณฑ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น, นายสุทธิรรม จิราธิวัฒน์, นายอิสระ ว่องกุศลกิจร่วมกับสมาชิกในตระกูลว่องกุศลกิจบางราย และนักร้องชื่อดัง “แอ้ด คาราบาว” เป็นต้น (อ่านประกอบ : พบ 600 คนไทย-บิ๊กธุรกิจ-นักการเมืองตั้งบริษัทลับบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-เคย์แมน)
ข้อมูลจากบริษัทพอร์ตคูลลิสต์ ทรัสต์เน็ตชี้ว่า ในปี 2550 คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าผู้รับผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียวของบริษัท พรีเมี่ยม ซีเล็คท์ อิ้งค์ (Premium Select Inc) ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น โดยใช้บริการของ UBS AG ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้บริษัทนอมินีที่จดทะเบียนที่เกาะบริติชเวอร์จิ้นสองบริษัท คือบริษัทเอ็กซ์คอร์ป ลิมิดเต็ด (Excorp Limited) และ แชร์คอร์ป ลิมิดเต็ด (Sharecrop Limited) จดทะเบียนผู้อำนายการและผู้ถือหุ้นของบริษัทพรีเมี่ยม ซีเล็คท์ อิ้งค์ตามลำดับ
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีคุณหญิงพจมานได้ใช้ประโยชน์บริษัทพรีเมี่ยม ซีเล็คท์ อิ้งค์หรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตามพบว่าคุณหญิงพจมานไม่ได้จ่ายเงินค่าต่อใบอนุญาตบริษัทในปีถัดมา
ในขณะเดียวกัน พบว่านายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ เป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท บริษัทที่บริติชเวอร์จิ้น จำนวนสองบริษัท โดยในปี 2547 นายบรรณพจน์จดทะเบียนเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท บาวน์ตี้ ฮาร์เวสต์ คอร์เปอเรชั่น (Bounty Harvest Corperation) โดยใช้บริษัทนอมินีเดียวกันกับคุณหญิงพจมานจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้น ไม่มีข้อมูลเช่นเดียวกันว่าบริษัทบาวน์ตี้ ฮาร์เวสต์ คอร์เปอเรชั่นทำธุรกิจประเภทใด แต่บริษัทได้ปิดตัวลงในปี 2552
ในปี 2549 นายบรรณพจน์ซื้อบริษัททรอปปิก ออฟชอร์ โฮลดิ้ง อิ้งค์ (Tropic Offshore Holding Inc) และจดทะเบียนเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม พบว่าชื่อเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ได้เปลี่ยนจากนายบรรณพจน์เป็นนาย กาลิด โมฮัมหมัด กาดฟอร์ อัลเมไฮรี (Khalid Mohamad Kadfoor Almehairi) ในปี 255 การจดทะเบียนบริษัททั้งสองบริษัททำผ่านบริการของ UBS AG สิงคโปร์เช่นเดียวกับคุณหญิงพจมาน
ขณะที่ในฐานข้อมูลของบริษัทบริษัทพอร์ตคูลลิสต์ ทรัสต์เน็ต (Portcullis TrustNet) ซึ่งเป็นบริษัทรับจัดการเรื่องการจดทะเบียนเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตรายใหญ่ของเอเซียตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ มีชื่อนางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทยและอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และนาย อนุรัช มิสรา น้องชาย เป็นผู้ถือหุ้นและผู้อำนวยการบริษัท ฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด (Hall Kingston International Limited) ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น ในปี 2551 (ดูลิ้งค์ข่าวภาษาอังกฤษ: http://www.icij.org/offshore/mugabe-crony-among-thai-names-secret-offshore-files)
นางนลินีและนายอนุรัชเข้าซื้อบริษัทฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด ด้วยการจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการและถือหุ้นคนละ 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่นางนลินีจะเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษา และ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมในปีเดียวกัน โดยบริษัทบริษัทฮอลล์ คิงสตัน อินเตอร์เนชั่นนัล ลิมิดเต็ด จดทะเบียนก่อตั้งเพียงสองวันก่อนหน้าที่บุคคลทั้งสองเข้าถือหุ้น คือในวันที่ 25 สิงหาคม 2551
ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน สำนักงานควบ คุมทรัพย์สินต่างชาติ ของกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา ได้ระบุชื่อนางนลินี ทวีสิน ว่าเป็นหนึ่งในสี่ของบุคคลผู้ให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมทางการเงินแก่ประธานาธิปดี โรเบิร์ต มูกาเบ้ และครอบครัว ซึ่งมีส่วนช่วยให้นายมูกาเบ้สามารถดำเนินการทางการเมืองที่บ่อนทำลายประชาธิปไตยในประเทศซิมบับเวต่อไปได้ โดยผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวไม่สามารถทำธุรกรรมต่างๆทางการเงินกับ พลเมืองชาวอเมริกัน อีกทั้งทรัพย์สินใดๆของผู้ถูกขึ้นบัญชีนี้ที่อยู่ในสหรัฐฯก็ต้องถูกอายัดตามกฎหมายของสหรัฐฯ
นางนลินีได้แถลงข่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯในช่วงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 โดยกล่าวว่าความสัมพันธ์ของตนเองกับครอบครัวมูกาเบ้นั้นเป็นความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนซึ่งไม่มีการดำเนินธุรกิจใดๆเกี่ยวข้อง
(อ่านประกอบ :“นลินี-น้องชาย”ตั้งบริษัทบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-นายพล“แองโกลา”หุ้นส่วน)
@ ปานามาลีก'!เจ้าสัวไทย นักธุรกิจดัง ติดโผตั้งบ.ลับเกาะบริติชเวอร์จิ้นเพียบ
ต่อมาในช่วงเดือนเม.ย.2559 เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ร่วมกับหนังสือพิมพ์ Suddeutsche Zeitung ของประเทศเยอรมัน เปิดเผยข้อมูลบุคคลและหน่วยงานผู้มีรายชื่อเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขต (offshore companies) ทั่วโลก
โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากฐานข้อมูลของบริษัท Mossak Fonseca ซึ่งเป็นสำนักกฎหมายที่ให้บริการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขตที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศปานามา และมีสาขาใน 42 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
ซึ่งในกรณีของประเทศไทยพบนักธุรกิจและกลุ่มธุรกิจชื่อดัง มีชื่อใช้บริการจดทะเบียนเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น กับสำนักกฎหมายแห่งนี้ อาทิ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี และคุณหญิงวรรณา ซึ่งมีตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ผู้บริหารกลุ่มเบียร์สิงห์ รุ่นที่ 3 และ ม.ล. ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ภรรยากลุ่มพี่น้องตระกูลจิราธิวัฒน์ กลุ่มนักธุรกิจค้าข้าว' คดีระบายจีทูจี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่พบร่องรอยว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายแต่ประการใด
(อ่านประกอบ : ส่วนร่วมเล็กๆ 'อิศรา' ในข่าวพูลิตเซอร์ 'ปานามาเปเปอร์ส' กับงานข่าวโลกยุค 'Big Data')
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลรายชื่อบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนตั้งอยู่ที่เกาะบริติชเวอร์จิน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญในประเทศไทย
และมีหลายคดีที่ผู้เกี่ยวข้องในไทยถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด ส่วนอีกหลายคดีอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐ