ภาคประชาสังคมเสนอรัฐ คุมทุนไทยต่างแดน หลังพบละเมิดสิทธิชุมชน-สิ่งแวดล้อม
ภาคประชาสังคม เตรียมเสนอให้รัฐร่างแผนแห่งชาติ รับหลักการยูเอ็น ติดตามทุนไทยลงทุนต่างแดน ควบคุมผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสิทธิมนุษยชน เผยปัจจุบันมีเม็ดเงินราว2 ล้านล้านทั้งรัฐวิสากิจ และเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน
เมื่อวันที่ 07 ก.ย. 60 ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย (Thai Extra – Territorial Obligations Working Group: ETO Watch) ได้จัดรายงานข้อมูลว่าด้วยความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดนของไทยในภูมิภาคแม่น้ำโขง
นายมนตรี จันทวงศ์หัวหน้าคณะทำงานฯ กล่าวถึงการลงทุนข้ามพรมแดนของไทยในปัจจุบันมีมูลค่าสะสมตั้งแต่ปี 2548-2559 รวมกันประมาณ 2,562,775.95 ล้านบาท โดนมีการลงทุนสะสมในกลุ่มประเทศอาเซียนมากที่สุด (785,949.78 ล้านบาท) รองลงมาคือฮ่องกง, เคย์แมน ไอส์แลนด์, มอริเชียส, สหรัฐอเมริกา, บริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์และประเทศอื่นๆ ตามลำดับ แต่เมื่อดูเฉพาะในกลุ่มอาเซียนก็พบว่า ในช่วงปี 2548-2559 ไทยลงทุนในสิงคโปร์สูงที่สุด (261,064.09ล้านบาท) รองลงมาคือ เมียนมา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ลาว, กัมพุชา, ฟิลิปปินส์และบรูไน
นายมนตรี กล่าวว่า การที่ทุนไทยไปลงทุนในประเทศเกาะต่างๆ เช่น สิงคโปร์, มอรีเชียส, บริติช เวอร์จิ้น เป็นต้น เพื่อใช้เป็นฐานในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อลงทุนต่อไปยังประเทศที่สาม เนื่องจากสิทธิประโยชน์ในด้านภาษีและความสะดวกในการทำธุรกรรม โดยกิจการที่ไทยลงทุนสำคัญๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ การลงทุนในภาคไฟฟ้า ขุดเจาะก๊าซ-น้ำมัน อุตสาหกรรมเช่นน้ำตาล สิ่งทอ การทำเหมืองแร่ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ซึ่งมีบทบาทใน 3 รูปแบบ คือบทบาทในฐานะผู้พัฒนาโครงการ, ผู้สนับสนุนและผู้ลงทุนสถาบันทางการเงิน
ทั้งนี้การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย ได้สร้างผลทั้งด้านลบและบวก โดยเฉพาะด้านลบที่มักเป็นความไม่โปร่งใส ขาดหลักธรรมภิบาล ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ
นายมนตรี กล่าวว่า สำหรับผลกระทบทางสังคมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ถูกเปิดเผยในเอกสารโครงการ แม้จะถูกเปิดเผยภายใต้ขอบเขตการศึกษา มีปัญหาว่า พื้นที่ที่อยู่นอกเขตการศึกษาพอมีปัญหาขึ้นมา กลายเป็นว่า อยู่นอกความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการไป ตัวอย่างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี ที่รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ครั้งแรกเกิดผลกระทบ 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย แต่พอ กสม.ได้เข้ามาตรวจสอบพบว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการฯสุดท้ายต้องให้มีการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมภายหลัง พบว่ามีอย่างน้องอีก 50-60 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ หรือโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเย รัฐมอญ ตัวโครงการใช้รัศมีดูผลกระทบเพียง 1 กิโลเมตรจากโรงงาน ในขณะที่หากใช้รัศมี 5 กิโลเมตร จะมีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบเพิ่ม 5-7 หมู่บ้าน
“เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า รายงานผลกระทบต่อสังคมเหล่านี้ ถึงแม้จะมีการเปิดเผยแต่เป็นการเปิดเผยในวงจำกัด ไว้ด้วยขอบเขตการศึกษา ตรงนี้ไม่ได้เป็นเรื่องถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่อง กรอบศึกษาแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน” นายมนตรี กล่าวและว่า ในเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องผลกระทบที่ระบุไว้ในเอกสารแล้ว แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ จะมีลักษณะเป็นโครงการให้สัมปทานที่ดิน ทั้งในกัมพูชา เมียนมา หรือโรงไฟฟ้าต่างๆ ข้อมูลที่เปิดเผยมาจากสื่อมวลชนในประเทศนั้นๆ หรือการศึกษาของกลุ่มองค์กร เอกชนในประเทศนั้นๆ ที่เข้าไปศึกษาเมื่อโครงการเกิดขึ้นเเล้ว เช่น โรงไฟฟ้า หงสาลิกไนต์ เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี เราทราบว่าการอพยพชาวบ้านท้องถิ่น ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่มีรายงานการเผยแพร่ หรือจะมีก็ต่อเมื่อโครงการดำเนินไปแล้ว
สุดท้ายคือผลกระทบต่อเนื่อง นายมนตรี กล่าวว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ผลกระทบต่อท้ายน้ำ เราจะกำกับไปถึงแค่ไหน เช่นโครงการเขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว ผลกระทบท้ายน้ำ โดยตัวโครงการท้ายน้ำครอบคลุมมาที่ประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม หรือโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำฮัตจี การศึกษาก็ไม่ได้ ศึกษาว่าท้ายน้ำสาละวินเป็นอย่างไร
“หลายๆ โครงการรัฐบาลไทยเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะฉะนั้นการเข้าไปสนับสนุนโครงการ เหล่านี้ที่ยังมีปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เท่ากับว่า รัฐบาลไทยมีส่วนโดยตรงในการเข้าไป ส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิ์เหล่านั้น” นายมนตรีกล่าว
ด้าน น.ส.พอร่า ศุกระถคร์ เจ้าหน้าที่ด้านงานรณรงค์ติดตามทุนไทยในลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า ในวันที่ 11 กันยายนนี้ทางคณะทำงานจะไปเสนอต่อ กสม. เพื่อให้ กสม.เสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้รับหลักการ UNGP (หลักการสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจแห่งสหประชาชาติ หรือ Guiding Principles for Business and Human Right) ซึ่งต้องตามดูว่าหน้าตาของนโยบายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการสร้างกลไกให้เกิดธรรมภิบาลในทุนไทยจะเป็นอย่างไร
น.ส.พอร่า กล่าวว่า เรื่องร่างแผนโดยใช้หลักกร UPR ร่างแผนแห่งชาติของประเทศไทยเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เราพยายามผลักดันให้ใส่เรื่องธรรมภิบาลของทุนไทยเข้าไปในแผนนี้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะในประเทศ แต่รวมไปถึงการลงทุนข้างแดน ซึ่งงานนี้กระทรวงยุติธรรมก็จะดูเเลรับผิดชอบ
“เราอยากเห็น กลไกที่เกิดขึ้น ที่รัฐไทยมีหน้าที่รับผิดชอบ ปกป้องไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยใน3 เสาหลักของ UNGP คือ 1. รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน (The state duty to protect human rights)
2: องค์กรเอกชนมีความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน (The corporate responsibility to respect human rights) 3: การเข้าถึงการเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (Access to remedy for victims of business-related abuses)” น.ส.พอร่ากล่าว.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการที่อาจจะส่งผลกระทบในอนาคต ซึ่งคณะทำงานฯ ติดตามทั้งสิ้น 13 โครงการ เช่น
- โครงการเขื่อนฮัตจี Hat Gyi Dam รัฐกะเหรี่ยง พม่า
- โครงการเหมืองถ่านหินบานชอง เมืองทวาย พม่า
- โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย Dawei SEZ พม่า
- โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ มะละแหม่ง รัฐมอญ พม่า
- โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมืองเย รัฐมอญ พม่า
- โครงการเขื่อนไซยะบุรี Xayaburi Dam แขวงไซยะบุรี ลาว
- โครงการเขื่อนปากแบง Pak Beng Dam แขวงอุดมไซ ลาว
- เหมืองแร่ถ่านหินและโรงไฟฟ้าหงสา เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี ลาว
- โครงการเพาะปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลเกาะกง จังหวัดเกาะกง กัมพูชา
-โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนกวางจิ ประเทศเวียดนาม
-โครงการเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา เมืองมยิตตา ประเทศเมียนมา
-โครงการสัมปทานที่ดินทางเศรษบกิจเพื่อการปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาล จังหวัดโอดอร์ เมียนเจย กัมพูชา