เราควรเรียนรู้อะไรกรณีสื่อพาดหัวข่าวผลโพลคะแนนนิยม‘ทักษิณ-บิ๊กตู่’?
“…แล้วพวกเราพลเมือง เราควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ครับ? ผมคิดว่านี่คือตัวอย่างว่า เราไม่ควรอ่านข่าวแต่พาดหัว แต่ควรไปดูเนื้อข่าวจริงๆ แม้กระทั่งอ่านเนื้อข่าวแล้วก็ยังเชื่อทันทีไม่ได้ ต้องฟังความให้ครบถ้วนรอบด้านก่อน เพราะเราจะคิดอย่างไร จะตัดสินอย่างไร ไม่ควรให้สื่อ ไม่ว่าข้างใด มาตัดสินให้เราครับ…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ถึงกรณีสื่อมวลชนพาดหัวข่าว จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องความนิยมของผู้นำประเทศ สถาบันพระปกเกล้าฯ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
----
#อย่าอ่านข่าวแต่พาดหัว
กรณีศึกษาข่าวโพลสถาบันพระปกเกล้า
ผมแปลกใจเมื่อเห็นพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเวอร์ชั่นออนไลน์ว่า 'โพลสถาบันพระปกเกล้าเผย คนเชื่อมั่นทักษิณ มากกว่าบิ๊กตู่' โดยในภาพข่าวเป็นรูปอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ มีพาดหัวไว้ในรูปอีกทีว่า 'โพลชี้คนปลื้มทักษิณมากกว่าบิ๊กตู่'
ที่แปลกใจก็เพราะว่าก่อนหน้านั้นเพิ่งเห็นอีกสำนักข่าวอีกสำนักหนึ่งพาดหัวตรงข้ามกันเลยคือ 'โพลชี้คะแนนทหารนำโด่งนักการเมือง เชียร์บิ๊กตู่นั่งอีกสมัย' ตกลงผลโพลนี้เป็นยังไงกันแน่? ผมจึงเข้าไปดูผลโพลล์ของสถาบันพระปกเกล้าว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร (http://kpi.ac.th/kpi05092017.html)
ปรากฏว่าโพลสถาบันพระปกเกล้าเฉพาะประเด็นนี้เป็นเรื่อง 'ความเชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรี' ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าได้สำรวจไว้เกือบทุกปีมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณได้คะแนนความเชื่อมั่นในปี 2546 คือ 92.9 % หลังจากนั้นก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือ 72.2 % ในปี 2549 ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2548 ได้คะแนนความเชื่อมั่น 87.5 % และลดลงมาเหลือ 84.6 % และ 84.8% ในปี 2559 และ 2560
สรุปว่าการพาดหัวที่ว่า 'โพลชี้คนปลื้มทักษิณ คะแนนนำบิ๊กตู่' คือเอาคะแนนความเชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน กับคะแนนความเชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรีในปี 2546 ซึ่งคือคุณทักษิณ ชินวัตร ที่สถาบันพระปกเกล้าได้สำรวจไว้ในปีนั้น มาเปรียบเทียบกัน ไม่ใช่การเปรียบเทียบคะแนนนิยมในปัจจุบันของนายกฯ ทั้งสองคนครับ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องการพาดหัวข่าวที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนครับ
จากนั้นข่าวใหญ่ในวันต่อมาคือนายกรัฐมนตรีโมโหผลโพลของสถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักข่าวอีกสำนักหนึ่งพาดหัวข่าวว่า 'บิ๊กตู่ฉุนขาดผลโพลพระปกเกล้า ชี้คนไทยยังนิยมแม้ว โทษเพราะสื่อไม่ก้าวข้าม' อันนี้ดูจะยิ่งไปกันใหญ่นะครับ เพราะใช้คำว่า คนไทย 'ยัง' นิยมแม้ว ทั้งๆ ที่ข้อมูลความเชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรีคือผลจากการสำรวจในตอนนั้น ไม่ใช่ในตอนนี้ การใช้คำว่า 'ยัง' จึงผิดเลยนะครับ
ส่วนการพาดหัวของสำนักข่าวที่ออกมาตรงข้ามกันคือ 'โพลชี้ คะแนนทหารนำโด่งนักการเมือง เชียร์บิ๊กตู่นั่งนายกอีกสมัย' ผมก็ไปหาดูว่า ที่ว่าเชียร์บิ๊กตู่นั่งอีกสมัย ผลโพลจริงๆ เป็นอย่างไร ปรากฏว่าโพลไม่มีประเด็นนี้ครับ! เข้าไปดูข่าวอีกทีจึงเห็นว่า ที่ว่า 'เชียร์บิ๊กตู่นั่งอีกสมัย' เป็นโพลอีกสำนักคือ 'นิด้าโพล' แต่เอามาพาดหัวรวมกันจนเข้าใจว่าเป็นโพลสถาบันพระปกเกล้า!
ความจริงแล้วนายกรัฐมนตรีไม่ควรโมโหผลโพลเพราะถ้าไปอ่านดูผลโพลล์ ก็ไม่เห็นมีอะไรน่าโมโห เพราะเป็นการเปรียบเทียบในขณะที่แต่ละคนเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่คะแนนนิยมของอดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ นี่แสดงว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้อ่านผลโพล สื่อที่เอาไมค์ไปถามก็ - ขออภัย - อาจจะพอๆ กันคือไม่ได้อ่านผลโพลเหมือนกันครับ
นายกฯ จึงไม่ควรโมโห ถ้าโมโหก็เป็นการโมโหที่ผิดประเด็น เพราะสิ่งที่น่าโมโหคือการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนมากกว่า แต่สื่อก็ไม่ใช่อย่างนั้นทั้งหมด เพราะพาดหัวกลางๆ ก็มีมาก ดังนั้น ถ้านายกฯ จะโมโหก็ควรโมโหการพาดหัวข่าว และต้องโมโหการพาดหัว 'เชียร์บิ๊กตู่อีกสมัย' ด้วย เพราะเป็นปัญหาเรื่องเดียวกันเลย เพียงแค่คนละข้างกันเท่านั้น
แล้วพวกเราพลเมือง เราควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ครับ? ผมคิดว่านี่คือตัวอย่างว่า เราไม่ควรอ่านข่าวแต่พาดหัว แต่ควรไปดูเนื้อข่าวจริงๆ แม้กระทั่งอ่านเนื้อข่าวแล้วก็ยังเชื่อทันทีไม่ได้ ต้องฟังความให้ครบถ้วนรอบด้านก่อน เพราะเราจะคิดอย่างไร จะตัดสินอย่างไร ไม่ควรให้สื่อ ไม่ว่าข้างใด มาตัดสินให้เราครับ