30Mbpsจ่าย200บ./เดือนทำไม่ได้!สตง.ไล่บี้เน็ตชายขอบ2หมื่นล.-กสทช.พร้อมแจงก่อนทำสัญญา
สตง. สอบเบื้องต้นโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงชายขอบ 2 หมื่นล้าน พบที่เลขาธิการ กสทช. อ้าง กำหนดลดค่าใช้จ่ายเหลือ 200 บาท/เดือน ทำไม่ได้ เป็นแค่การประมาณการเอง แค่ค่าซ่อมบำรุงก็ 300 บาท/เดือนแล้ว ไม่มีกำหนดในเงื่อนไขด้วย ด้าน กสทช.พร้อมแจงก่อนทำสัญญา
จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอให้ตรวจสอบโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงชายขอบ (USO) ที่ใช้วงเงินงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาทอาจก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินงานในอนาคต ต่อมา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ทำหนังสือชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ถึงผู้ว่า สตง. ยืนยันว่า โครงการดังกล่าวปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ไม่มีปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อน และประเด็นการคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าไปอย่างถูกต้อง (อ่านประกอบ : ทำตามมติครม.แล้ว! 'ฐากร' แจงปมโครงการเน็ตความเร็วสูงพื้นที่ชายขอบ2หมื่นล., อาจมีปัญหาในอนาคต! สตง.ชง รมว.ดีอี-กสทช. ทำโครงการเน็ตความเร็วสูง2หมื่นล.รอบคอบ)
อย่างไรก็ดี สตง. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. อีกครั้ง ขอให้ชี้แจงประเด็นต้นทุนต่อหน่วยของความเร็วอินเทอร์เน็ต และค่าบริการที่ กสทช. กำหนดความเร็วอินเทอร์เน็ต 30 Mbps จากเดิม 599 บาท/เดือน เหลือเพียง 200 บาท/เดือน เหมาะสมหรือไม่ คิดอย่างไร รวมถึงการประมูลโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบดำเนินการอย่างไรนั้น (อ่านประกอบ : ป้องเกิดปัญหาต่อ รบ.ในอนาคต!สตง.ชงซ้ำ กสทช.ขอข้อมูลเน็ตความเร็วสูงชายขอบ2หมื่นล.)
ล่าสุด แหล่งข่าวจาก สตง. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบโครงการดังกล่าวเบื้องต้นพบว่า ประเด็นต้นทุนต่อหน่วยของความเร็วอินเทอร์เน็ตราคาให้บริการ 200 บาท/เดือน ไม่มีการระบุเป็นเงื่อนไขใน TOR แต่เป็นการประมาณการของ กสทช. เอง โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงราคา 200 บาท/เดือน ที่ความเร็ว 30/10 Mbps ผู้ประกอบการไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่คุ้มทุน ราคาปกติคือ 590 บาท/เดือน หากหักค่าข่ายสายที่ กสทช. ลงทุนให้เพียงบางส่วน ผู้ประกอบการยังคงมีต้นทุนโครงข่ายที่ตัวเองต้องลงทุน บวกกับค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ และค่าวงจรต่างประเทศ ค่าซ่อมบำรุงรักษารวมแล้วเฉลี่ยกว่า 300 บาท/เดือน ดังนั้นตัวเลขค่าบริการ 200 บาท/เดือน จึงเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ กสทช. จะให้เงินอุดหนุนมา และไม่มีกำหนดเป็นเงื่อนไขใน TOR และยังไม่มีการทำข้อตกลงนี้กับผู้ชนะการประมูลแต่อย่างใด
ส่วนการประมูลอินเทอร์เน็ตชายขอบ (USO) วงเงินสัญญาเบื้องต้น 1.3 หมื่นล้านบาทนั้น แหล่งข่าว ระบุว่า ประกอบด้วยงานบรอดแบนด์ 4 สัญญา และงานอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Moblie) 4 สัญญา โดยงานบรอดแบนด์หลัก ๆ ประกอบด้วย ข่ายสายและอุปกรณ์ การก่อสร้างอาคาร USO Net ค่าเช่าดาวเทียม 5 ปี ค่าบำรุงรักษาทุกระบบ 5 ปี ส่วนงาน Moblie ประกอบด้วย ค่าอุปกรณ์ Small Cell และค่าติดตั้ง ค่าเช่าวงจรจากสัญญาบรอดแบนด์ ค่าอุปกรณ์และติดตั้งโซลาร์เซลล์ ค่าเช่าสัญญาณดาวเทียม 5 ปี และค่าดูแลบำรุงรักษาทุกระบบ 5 ปี และเมื่อครบสัญญา 5 ปี ทรัพย์สินที่สร้างโดยเงินโครงการ จะต้องโอนกลับไปที่กระทรงดีอี ยกเว้นสัญญา Mobile ที่ไม่ต้องโอนทรัพย์สิน เนื่องจากกระทรวงดีอี ไม่มีสิทธิในคลื่นความถี่
“ในระยะเวลา 5 ปี ผู้ชนะประมูลสามารถใช้ทรัพย์ยากรในโครงการเพื่อหารายได้เพิ่มเติมได้ โดย TOR กำหนดให้ขายที่ 1 Mbps ไม่เกิน 10 บาท/เดือน ดังนั้นที่ความเร็ว 30 Mbps ให้ขายได้ไม่เกิน 300 บาท/เดือน ไม่ใช่ 200 บาท/เดือน” แหล่งข่าว ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตรวจสอบโครงการดังกล่าว เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 69 ระบุว่า ให้สำนักงาน กสทช. จัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชี ทำการส่งผู้สอบบัญชีภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
ในทุกรอบปี ให้ สตง. เป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงาน กสทช. โดยให้วิเคราะห์ประสิทธิผลของการใช้จ่ายเงินพร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นว่า การใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใดด้วย แล้วทำบันทึกรายงานผลเสนอต่อ กสทช. คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา
ให้สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยรับตรวจตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
ในเวลาใด ๆ ที่ สตง. ตรวจพบว่า การใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงาน กสทช. ไม่เกิดประสิทธิผล หรือเป็นการฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือการดำเนินการใดไม่ถูกต้องตามแผน หรือจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ส่วนรวม ให้ สตง. แจ้งให้ กสทช. ทราบ และให้ กสทช. ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือระงับการดำเนินการตามควรแก่กรณีภายในระยะเวลาที่ สตง. กำหนด และหากปรากฏว่า กสทช. ไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันควร สตง. อาจพิจารณารายงานต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ขณะที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แถลงผลการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และรายงานจากเลขาธิการ กสทช. ที่เข้าประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งพิจารณาเรื่องโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) 3,920 หมู่บ้าน จำนวน 8 สัญญา โดยเห็นชอบผลการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค. 2560 วงเงินงบประมาณรวม 13,614.62 ล้านบาท ประกวดราคาในวงเงินรวม 12,989.69 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 624.93 ล้านบาท และให้สำนักงาน กสทช. ร่างหนังสือตอบข้อซักถามของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อน แล้วจึงดำเนินการเรื่องการลงนามในสัญญาต่อไป
โดยสำหรับสัญญาแต่ละสัญญามีผู้ชนะการประกวดราคา ดังนี้
1. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,812,014,000 บาท
2. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,103,800,000 บาท
3. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,492,599,999 บาท
4. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,868,235,000 บาท
5. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท ทีโอทีจำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,889,999,927 บาท
6. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 786,549,600 บาท
7. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 532,064,800 บาท
8. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 504,423,740 บาท