ลาวซื้อไฟฟ้าจากไทยแน่! 'อิศรา'ถาม 'กฟผ.'ตอบ ปมปัญหารวมสัญญาเขื่อนน้ำงึม1-เซเสด
"...ราคา 2 บาท ในสัญญาใหม่แพงไหมถ้าแพงต้องดูว่าแพงกรณีไหนถ้าเราซื้อเขาเราก็จะแพงแต่เขาซื้อเรามันก็แพงเราก็จะได้กำไรกลับมาแต่แนวโน้มในช่วง1-2 ปีราคาใกล้ๆศูนย์หมายถึงทั้งซื้อและขายคงไม่ได้เปรียบกันสักเท่าไหร่ส่วนพีคหรือเวลาใช้ไฟฟ้าสูงสุดทีเอามากำหนดตัวราคาจะยึดถือพีคไทยเป็นหลักคือช่วง 9.00-22.00 น. ในวันปกติ ถ้าไม่ตรงช่วงพีคจะเป็นอีกราคาหนึ่งนั่นคือ 1.60 สตางค์แต่เช่นเดียวกันเราจะคิดส่วนต่างเพิ่มอีก 10 สตางค์.."
ยังคงเป็นคำถามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ความสำคัญ และต้องการคำตอบที่ชัดเจน!
ต่อ กรณีเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าหลังการรวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเสดระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) ที่ส่งผลทำให้มีการปรับราคาซื้อขายไฟฟ้าใหม่จากเดิมที่กฟผ.จะซื้อไฟฟ้าจากฟฟล. ในราคา 1.60 บาทต่อหน่วยส่วนราคาไฟฟ้าที่กฟผ.ขายให้กับฟฟล. อยู่ที่ราคา 1.74 บาทต่อหน่วยมาเป็นกฟผ.ซื้อไฟฟ้าจากฟฟล. ในราคา 2 บาทต่อหน่วยส่วนกฟผ.ขายไฟให้กับฟฟล. ในราคา 2.10 บาทต่อหน่วย
อาจทำให้ฝ่ายไทยเสียประโยชน์ เนื่องจากสภาพการใช้ไฟฟ้าจริงของประเทศลาวมีสัดส่วนน้อยมาก ซึ่งหากลาวไม่ได้รับซื้อไฟฟ้าจากไทยตามสัญญาฉบับนี้เลย ขณะที่สัดส่วนการใช้ไฟไฟาของไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากลาว ก็เท่ากับว่าไทยอาจจะต้องเป็นฝ่ายรับซื้อไฟฟ้าจากลาวเพียงฝ่ายเดียว ในอัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาทต่อหน่วยตามสัญญา จากราคาเดิมแค่ 1.60 บาทต่อหน่วยเท่านั้น และอาจจะเป็นผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าที่จะต้องจัดเก็บจากประชาชนปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย (อ่านประกอบ ไขที่มารวมสัญญาซื้อขายไฟ2ฉ.-ปริศนาไอ้โม่งรับปย.สตึงนัมกัมพูชา-วัดใจ 'บิ๊กตู่'เช็คบิล)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายอดุลย์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ให้เกิดความชัดเจน
"สัญญาใหม่จะเริ่มตุลาคมนี้ จริงๆ ลาวอยากได้แพงกว่านี้ เขาบอกว่าต้นทุนแพง แต่เราอยากได้น้อยกว่านี้ แต่ในสัญญาตัวนี้ ก็มีการคุยกันว่าถ้ายังงั้น ทั้งสองฝ่ายจะใช้ราคานี้ 1 ปี ก่อน แล้วค่อยมาเจรจากันใหม่ ไม่ใช่ราคานี้จะใช้ยาวเพราะว่าสัญญาเดิมหมดไปเมื่อเมษายน ปี 60 และขอต่อสัญญามาสิ้นเดือนกันยายนนี้"
นี่ คือ คำยืนยัน ของ นายอดุลย์ พิทักษ์ชาติวงศ์
ก่อนจะชี้แจงถึงประเด็นที่ว่า ทำแบบนี้ ฝ่ายไทยจะขาดทุนหรือไม่ว่า "ไม่ขาดทุน เพราะเราต้องคุยราคากันใหม่ ราคา 2 บาท ใช้ปีเดียว เพราะเรารู้ว่าบางช่วงเราผลิตเองถูกกว่า เราเองรู้ว่าแพง เลยให้ราคา 2 บาทใช้ชั่วคราวก่อน สมมติเรารู้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงอีกในอนาคต ก็ไม่ควรใช้ราคา 2 บาท"
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คนในรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับราคาในสัญญานี้ นายอดุลย์ ตอบว่า อย่าลืมว่าโครงการในลาวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐวิสาหกิจลาว กับรัฐบาลไทย เพราะอย่างนั้น ทางนโยบายก็มองในภาพรวมมองว่า ไม่ได้ไปเอาเปรียบทางโน้นมาก และหวังว่าเขาจะเป็นประโยชน์ให้กับเรา มองในระยะยาวว่าเขาสามารถป้อนให้เราได้มากกว่า
"ส่วนโครงสร้างของลาวมีอนุกรรมการประสาน ระหว่างทางด้านพลังงาน ประกอบไปด้วย รัฐบาลลาว ไทย ทุกโครงการที่ทำกับรัฐบาลไทย รัฐบาลลาว จะต้องผ่านอนุกรรมการนี้ เช่น ลาวจะมีการขายไฟ ก็ต้องไปถามอนุกรรมการระหว่างสองประเทศก่อน ราคาไฟฟ้าจะต้องอยู่พื้นฐานเท่านี้ ผ่านอนุกรรมการ และไปที่ กพช. แล้วส่งไปยัง คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ"นายอดุลย์กล่าว
และว่า สำหรับกรณีนี้ ส่งขึ้นไปแล้ว ครม.ตีกลับให้ กพช.มาทบทวนดูราคาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ที่กพช. เพราะมีคนติงเรื่องราคาตรงนี้ เมื่อเทียบกับสัญญาเดิมที่ซื้อในราคา 1.60 บาท แต่เวลาออกข่าวไปบอกว่าเราซื้อเขา ด้วยราคา 2 บาท แต่ไม่บอกว่า ราคาขายก็ปรับขึ้นเหมือนกัน
นายอดุลย์ ยังกล่าวอีกว่า ราคา 2 บาทในสัญญาใหม่ แพงไหม ถ้าแพง ต้องดูว่าแพงกรณีไหน ถ้าเราซื้อเขา เราก็จะแพง แต่เขาซื้อเรา มันก็แพง เราก็จะได้กำไรกลับมา แต่แนวโน้มในช่วง1-2 ปี ราคาใกล้ๆ ศูนย์ หมายถึง ทั้งซื้อและขายคงไม่ได้เปรียบกันสักเท่าไหร่ ส่วนพีคหรือเวลาใช้ไฟฟ้าสูงสุดทีเอามากำหนดตัวราคาจะยึดถือพีคไทยเป็นหลัก คือช่วง 9.00-22.00 น. ในวันปกติ ถ้าไม่ตรงช่วงพีคจะเป็นอีกราคาหนึ่ง นั่นคือ 1.60 สตางค์ แต่เช่นเดียวกัน เราจะคิดส่วนต่างเพิ่มอีก 10 สตางค์
ส่วนประเด็ญสำคัญที่ว่า จะทำให้ราคาค่าไฟในไทยสูงขึ้นไหม นายอดุลย์ กล่าวว่า "ก็สูงขึ้นบางช่วง เช่น ในช่วงที่ไฟฟ้าในประเทศผลิตได้ต่ำกว่า 2 บาท สมมติช่วงหน้าหนาวเราผลิตได้ต่ำกว่า 2 บาท หรือประมาณ 1.90 บาท แต่เราต้องซื้อเขา 2 บาท แบบนี้ราคาไฟฟ้าก็จะแพงมา 10 สตางค์ แต่แพงมา 10 สตางค์ วันหนึ่งเราซื้อไฟฟ้าจากลาว สิบล้านหน่วย ดังนั้น สิบล้านหน่วยกับส่วนต่าง 10 สตางค์เป็นเงิน ประมาณ 1 ล้านบาท ต่อวัน ถ้ามองวันหนึ่ง ค่าเชื้อเพลิงประมาณ 1.4 ล้านหน่วย คือ พอชั่นค่าไฟลาวเมื่อมาเทียบของเรา ค่าเชื่อเพลิง 5 พันล้านบาท ส่วนต่างที่เพิ่มจากไฟฟ้าลาวแค่ 1 ล้านบาท พอชั่นนิดเดียว อย่างที่สนพ. ชี้แจงว่าไม่ได้กระทบค่าไฟฟ้าส่วนใหญ่ พอหน้าแล้ง ที่เขาซื้อเรา เราก็ขายราคาแพงกว่าที่เราผลิตได้ เราก็กำไร 10 สตางค์ ก็หักลบบัญชีแล้วก็ใกล้เคียงกัน"
เมื่อถามย้ำว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ลาวจะไม่ซื้อไฟฟ้าจากเรา เราเป็นฝ่ายซื้อจากลาวอย่างเดียว
นายอดุลย์ กล่าวว่า "เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่งั้นไฟเขาจะดับเพราะเขาไม่มีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น เขื่อนใหญ่ของเอกชนที่สามารถเก็บสำรองไฟ แต่ให้สัมปทานกับ IPP ไปหมดเเล้ว ส่วนของลาวที่สร้างเองเป็นเพียงเขื่อนเล็กๆ 10, 20, 50 เมกะวัตต์ ลาวมีโครงการก่อสร้างประมาณ 100 กว่าเขื่อน ปัจจุบันที่สร้างเสร็จแล้ว 40-50 แห่ง เป็นเขื่อนที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำ เอาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปขวางไว้ ปั่นกระแสไฟในช่วงน้ำหลากเฉยๆ"
โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในลาว กฟผ.ทำสัญญาระยะยาว 20-25 ปี ราคาโดยเฉลี่ย 1.80-1.90 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่พวกนี้มีข้อบังคับในสัญญาว่า ถ้าคุณจ่ายไฟไม่ได้ จะต้องเสียค่าปรับ ผูกมัดทางสัญญา แต่ของรัฐวิสาหกิจลาวในสัญญาไม่มีการปรับ คล้ายๆ มีถ้ามีไฟก็จ่าย ถ้าไม่ก็ไม่ต้องจ่าย สัญญาคนละรูปแบบ
นายอดุลย์ กล่าวอีกว่า หน่วยไฟฟ้าในแต่ละปี ถ้าปีไหนเขาน้ำมาก เขาอาจขายทั้งปี เราก็ต้องซื้อเขา และเขาก็เอาจากเราน้อย แต่ปีไหนที่เขาแล้ง ช่วงที่เขาผลิตได้ เขาก็น้อย เมื่อเทียบแล้วทั้งปีเขาก็อาจซื้อเรามากขึ้นก็ได้ แต่แนวโน้มเราอาจซื้อเขามากแต่ละปี พันล้านหน่วย ช่วงหน้าน้ำเขาจ่ายไฟให้เรา 300ล้านต่อเดือน โดยปกติลาวจะซื้อเราประมาณ เดือนละ เกือบ 200 ล้านหน่วย ทั้งปีไม่ได้ต่างกันมากมาย
“โครงการในสัญญาใหม่ ที่ซื้อในราคา 2 บาทต่อหน่วย ถ้าเทียบกับที่เราผลิตเอง ก็ใกล้ๆ กัน ปัจจุบันเราผลิตไฟฟ้าเองบางช่วงเช่นหน้าแล้ง ตกที่เกือบๆ 2 บาทต่อหน่วย หน้าหนาว แล้วก็ราคาน้ำมันไม่ขึ้น เราผลิตได้ถูกกว่าทางลาว แต่ถ้าราคาน้ำมันแพงสัก 60-70 เหรียญต่อบาเรลขึ้นไป ราคาผลิตก็จะพอๆ กัน”
ทั้งหมดนี่ คือคำชี้แจงล่าสุดของ ตัวแทนกฟผ. ต่อกรณีการรวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเสด และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจทำให้ฝ่ายไทยเสียประโยชน์ เนื่องจากสภาพการใช้ไฟฟ้าจริงของประเทศลาวมีสัดส่วนน้อยมาก ซึ่งหากลาวไม่ได้รับซื้อไฟฟ้าจากไทยตามสัญญาฉบับนี้เลย
ขณะที่สัดส่วนการใช้ไฟไฟาของไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากลาว ก็เท่ากับว่าไทยอาจจะต้องเป็นฝ่ายรับซื้อไฟฟ้าจากลาวเพียงฝ่ายเดียว ในอัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาทต่อหน่วยตามสัญญา จากราคาเดิมแค่ 1.60 บาทต่อหน่วยเท่านั้น และที่สำคัญอาจจะเป็นผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าที่จะต้องจัดเก็บจากประชาชนปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ส่วนคำชี้แจงจะชัดเจน เคลียร์ทุกปมแล้วหรือไม่ ขอให้สาธารณชนร่วมกันพิจารณา ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และอาจได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งดี หรือไม่ดี จากการดำเนินงานโครงการนี้