ศาล ปค. สูงสุดไม่คุ้มครองชั่วคราว 'เบสท์ริน' ให้ขสมก.ยึดเงินประกัน 338 ล.
ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ไม่เห็นพ้องให้คุ้มครองชั่วคราว 'เบสท์ริน' ถูก ขสมก.ริบเงินประกัน ชี้ผู้ถูกฟ้องคดีมีสิทธิ์ริบเงิน ฐานผิดสัญญา หากพบภายหลังอีกฝ่ายทำผิด ระบุไม่ยากเเก่การเยียวยา ขณะที่ ธ.ไอซีบีซี (ไทย) จ่ายเเล้ว 338 ล้านบาท จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอขอคุ้มครองชั่วคราว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในในคดีหมายเลขดำที่ 502/2560 และคดีหมายเลขดำที่ 955/2560 คดีพิพาทระหว่าง บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดี) กรณีการจัดซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิง
โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยไม่เห็นพ้องกับคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการกระทำใด ๆ เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาจากธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ตามหนังสือค้ำประกันเลขที่ HOB28301B600284 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2559 จำนวน 338 ล้านบาท จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกนั้น
ดังนั้น จึงมีคำสั่งให้ยกคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเลิกสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดียังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำผิดสัญญา และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมมีสิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาและเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันการปฏิบัติงานตามสัญญาของผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้เงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ อันเป็นสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
ถึงแม้ธนาคารผู้ค้ำประกันจะได้ใช้เงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีและได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้ฟ้องคดีให้ชดใช้เงินดังกล่าวคืนแก่ธนาคารก็ตาม แต่หากต่อมาปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญา ศาลย่อมกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ ความเสียหายของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขภายหลัง
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฎอีกว่า ก่อนที่ศาลปกครองชั้นต้นจะได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อ 30 มิ.ย. 2560 ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ค้ำประกันการปฏิบัติงานตามสัญญาของผู้ฟ้องคดีได้ใช้เงินตามหนังสือค้ำประกันสัญญาให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีไปแล้วเป็นเงิน 338 ล้านบาท
ปรากฎตามสำเนาใบเสร็จรับเงิน เลขที่ H-60-6-RO—0185 ลงวันที่ 12 มิ.ย. 2560 กรณีนี้จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดี .