เออออห่อหมกทุกเรื่องไม่ได้!'ประยุทธ์' ยันโรงไฟฟ้าสตึงมนัมปลอดบ.คนใกล้ชิดใครหาปย.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยันรัฐบาลไทย-กัมพูชา ร่วมมือทำโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม เพื่อ2 ประเทศ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ หากเอามาแล้วมีต้นทุนสูงส่งผลกระทบกับผู้ใช้ต้องหาแนวทางที่เหมาะสมอื่น เออออห่อหมกทุกเรื่องไม่ได้ เตือนสื่อหยุดเขียนมีคนได้ประโยชน์ ระบุไม่ได้รู้จักใครทั้งสิ้น ลั่นบริษัทเครือญาติใครไม่สน- ครม.ไม่นำเข้า ตนไม่อนุมัติก็จบ!
เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการลงทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ร่วมกับประเทศกัมพูชา ว่า โครงการนี้เป็นเรื่องที่มาการหารือกันมานานแล้ว เนื่องจากแหล่งน้ำในประเทศโดยเฉพาะต้นน้ำบริเวณภาคตะวันออกค่อนข้างมีปัญหา ซึ่งเป็นต้นน้ำที่ไปสู่จังหวัดจันทุบรี ระยอง ตราด ชลบุรี ต้องการแก้ปัญหาน้ำแล้งของภาคการเกษตร จึงสั่งการให้คำนวณหาว่าจะมีต้นน้ำจากไหนได้บ้างทั้งในประเทศรวมถึงแหล่งน้ำภายนอกประเทศ รัฐบาลนี้เอามาดูต่อว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง
"รัฐบาลนี้ได้หยิบโครงการมาดูต่อ พบว่ามีหลายเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 24 เมกะวัตต์ ต้องพิจารณาดูว่าจำเป็นหรือไม่ ถ้ามองด้านเดียวก็พบว่ายังน้อยอยู่ แต่ถ้าดูถึงเรื่องได้น้ำมาด้วยจะดีหรือไม่ ก็ต้องหารือตรงนี้ หากเอาน้ำมาแล้วมีต้นทุนสูงก็มีผลกระทบกับผู้ใช้ ก็ต้องหาแนวทางที่เหมาะสม"
พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุด้วยว่า "การสร้างโรงไฟฟ้าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของการลงทุน บริษัทไทยไปลงทุนในประเทศกัมพูชา ตามกติกาเขา เป็นเรื่องประกอบการธุรกิจ ผมไม่รู้จักใครทั้งสิ้น ใครที่รู้จักก็ตาม แต่ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีไม่รู้จัก มันอยู่ที่ผม รู้จักก็ไม่ให้อยู่แล้ว เป็นเรื่องกลไกกติกา”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อไปว่า "ในวันที่ 7 ก.ย.2560 นี้ จะเดินทางไปประชุมร่วมกับทางกัมพชา ก็ต้องให้เครดิตเขา กัมพูชามีน้ำใจ ถ้าเราอยากได้น้ำ กัมพูชาก็ต้องไปลงทุนเพิ่ม ก็มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น คราวนี้อยู่ที่ไทยว่ารับได้หรือไม่ ถ้ารับไม่ได้ก็ไปศึกษาก่อน ไม่ใช่จะไปเออออห่อหมกทุกเรื่องไม่ได้ ไม่อยากให้ประเด็นเหล่านี้ที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อนมากระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องอะไรที่เป็นเรื่องที่ต้องหารือก็หารือกันต่อไป ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับคนนู้นคนนี้หรอก เพราะหากนำน้ำมาใช้จริง การลงทุนฝั่งเขามากขึ้น เขาก็มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เป็นเรื่องทางนั้นลงทุนกันไป ไฟฟ้าจะซื้ออย่างไรก็ว่ากันอีกที แต่ถ้าจะเอาน้ำ ต้องไปดูว่าเขาจะทำให้หรือไม่ เรารับได้หรือไม่ และเมื่อน้ำเข้ามาแล้ว ต้องมีระบบส่งน้ำภายในประเทศอีก เราก็ต้องทำของเราอยู่แล้วในขณะนี้ มันไม่ใช่ให้บริษัทไปลงทุนได้ค่าก่อสร้าง"
"มันไม่ใช่ว่าให้บริษัทไปลงทุน ได้ค่าก่อสร้างทางนั้นแล้ว เมื่อน้ำเข้ามาบริษัทจะได้ค่าก่อสร้างยวงนี้อีก ถ้าจะทำต้องเปิดประมูลเป็นท่อนๆ รัฐบาลมีแผนงานอยู่แล้ว เพียงแต่หาน้ำมาเสริมเท่านั้นเอง จะมาจากไหน ถ้ามันไม่ได้ก็ต้องรอฝนเอา โอเค เข้าใจหรือยัง เลิกพูดสักทีเถอะ” นายกรัฐมนตรีระบุ
นายกยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “ไม่ได้รู้จักใครทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะนั่งหน้าห้องไหน ฉันไม่รู้ เครือญาติ บริษัทไหน ไม่รู้ เพราะฉันไม่รู้จัก ไม่มีส่วนตัว ไปเขียนกันเลอะเทอะไปเรื่อย คนอนุมัติเป็นใคร นายกรัฐมนตรีไม่ใช่หรือ จะนั่งหน้าห้องใครก็ไม่รู้ แต่ถ้านายกรัฐมนตรีไม่อนุมัติก็จบ คณะรัฐมนตรีไม่นำเข้าก็จบ ก็ทำงานกันแบบนี้นะ”
ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกมาระบุว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยชะลอโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ขนาด 24 เมกะวัตต์ ในประเทศกัมพูชาออกไปก่อน เพื่อรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความชัดเจนว่าความต้องการใช้น้ำและแหล่งน้ำในประเทศจะมีเพียงพอต่อความต้องใช้ในระยะยาวหรือไม่ หลังกระทรวงเกษตรฯระบุว่า น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วง 12 ปีนี้
"โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมที่ถูกสั่งชะลอ ไม่น่าจะเกิดจากความขัดแย้งด้านนโยบาย แต่น่าจะเป็นความไม่ชัดเจนของข้อมูลมากกว่า ซึ่งกระทรวงเกษตรฯคงจะต้องศึกษาใช้ชัดว่าต้องการใช้น้ำหรือไม่ ถ้าไม่ต้องการโครงการนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น และถ้าไม่ดำเนินโครงการนี้เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)จะเอาน้ำจากไหนก็ต้องศึกษาให้ชัดด้วย" นายประเสริฐ กล่าว
ส่วนประเด็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ในราคาแพงถึง 10.75 บาทต่อหน่วยนั้น ยืนยันว่า การวิเคราะห์ต้นทุน ผลตอบแทนการลงทุนต่างๆ เป็นไปตามระบบที่ศึกษาความเหมาะสมและคำนวนโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งต้องมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ส่งน้ำมันผ่านภูเขา ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้าง ประเมินเบื้องต้น อยู่ที่ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท และเป็นราคา maximum ซึ่งทุกๆ 10.75 บาทต่อหน่วย นอกจากจะได้ไฟฟ้า 1 หน่วย บนพื้นฐานต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ไทยผลิตได้อยู่ที่ 2.60 บาทต่อหน่วย และยังได้น้ำอีก 3 ลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 2.80 บาท และน้ำอย่างน้อยปีละ 300 ล้านลูกบาศ โดยกำหนดได้ว่าจะให้ตอนช่วงหน้าแล้งเท่านั้น หรือจะให้ส่งน้ำมาตลอดทั้งปีก็ได้ และมีข้อผูกผันในการส่งน้ำเป็นเวลา 50 ปี ขณะที่ปริมาณผลิตไฟฟ้าเพียงแค่ 24 เมกะวัตต์ ทั้งๆที่โครงการมีปริมาณน้ำจำนวนมากนั้น เพราะมองว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่มีไม่มาก หากผลิตไฟฟ้ามากขึ้นจะยิ่งส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้นไปด้วย
นายประเสริฐ กล่าวว่า โครงการนี้หากประเทศไทยไม่ต้องการใช้น้ำจากกัมพูชา ก็ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการนี้ เพราะไม่ได้มีประเด็นต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของภาคตะวันออก ซึ่งกระทรวงพลังงานดูแลได้อยู่แล้ว แต่วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือเรื่องน้ำ โดยการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศที่ผ่านมากระทรวงพลังงานจะพิจารณาบนพื้นฐาน 4 ข้อ คือ ปริมาณที่เหมาะสม,พื้นที่ที่ต้องการ,ราคาที่ต้องไม่แพงกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ และช่วงเวลที่เหมาะสม ซึ่งโครงการนี้ ทางกัมพูชา ประเมินว่าต้องใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6-7 ปี แต่คาดว่าอาจต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ และต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ด้วย
(อ่านประกอบ : ไขที่มารวมสัญญาซื้อขายไฟ2ฉ.-ปริศนาไอ้โม่งรับปย.สตึงนัมกัมพูชา-วัดใจ 'บิ๊กตู่'เช็คบิล)