ภาคต่อ "โรฮิงญา" ไทยเตรียมรับปัญหา "ผู้อพยพ"
ประเด็นโรฮิงญายังคงเต็มไปด้วยความอ่อนไหว โดยเฉพาะท่าทีของรัฐบาลไทยที่มีผู้นำเป็นทหาร ซึ่งดูจะตอบรับกับความเคลื่อนไหวของผู้นำทางทหารเมียนมาที่เดินทางเยือนไทย เพื่อล็อบบี้เกี่ยวกับปัญหาโรฮิงญาและความรนแรงในรัฐยะไข่
ศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนเครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาจุดยืนในเรื่องนี้อย่างรอบคอบ
O การที่ผู้นำทหารเมียนมาขอให้ไทยเรียกโรฮิงญาว่า "เบงกาลี" หรือ "บังกาลี" คิดว่ามีจุดประสงค์อะไร?
เป็นการใช้เทคนิคของรัฐบาลเมียนมาที่บอกว่าไม่มีชาวโรฮิงญาอยู่ในประเทศของตนเลย เท่ากับว่าที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมากำลังยืนยันและสร้างความชอบธรรมในเรื่อง "ลบการมีตัวตน" ของชาวโรฮิงญา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช แต่เกิดขึ้นจากการที่ "นายพลเนวิน" ปฏิวัติเมื่อปี ค.ศ.1962 เพราะก่อนหน้านั้นโรฮิงญาเคยมีสถานีวิทยุ และมีภาษาของตนเอง เป็นสถานีวิทยุในย่างกุ้ง มีแบบเรียน มีการกำหนดว่าชาติพันธุ์โรฮิงญาเป็นส่วนหนึ่งของพม่าในช่วงต้นของการได้รับเอกราช
ดังนั้นการใช้คำว่า "เบงกาลี" ก็เพื่อลบกลบเกลื่อนการมีตัวตนของชาวโรฮิงญา ถือว่าไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ของพม่า อันนี้ต้องชัดเจนว่าการมีตัวตนของชาวโรฮิงญามีมาก่อนหน้านี้แล้ว
คำว่า" เบงกาลี" คือการแก้ไขประวัติศาสตร์ใหม่ จึงไม่เห็นเหตุผลที่รัฐบาลไทยต้องทำตามรัฐบาลเมียนมา ยกเว้นว่าเรามีผลประโยชน์อย่างอื่นที่จะแลกกับรัฐบาลเมียนมา ซึ่งผมคิดว่าไม่มีผลประโยชน์อะไรที่เพียงพอให้เราต้องทำตาม
เราต้องตระหนักว่าการใช้นโยบายกีดกันด้วยความรุนแรงของเมียนมา สร้างปัญหาให้กับเราตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องโอนอ่อนผ่อนปรนให้กับรัฐบาลเมียนมาอีกต่อไป การยอมรับให้เรียกชาวโรฮิงญาเป็น "เบงกาลี" ไม่ได้ทำให้ชาวโรฮิงญาลดการอพยพเข้ามาในประเทศไทย และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรของเรา แต่ยิ่งทำให้ความเปลี่ยนแปลงของปัญหาในรัฐยะไข่น่ากลัวมากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงของวิกฤติผู้อพยพในรูปแบบใหม่ ซึ่งภาระจะตกไปที่เพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ ไทย และมาเลเซีย
ฉะนั้นถ้าเราจะคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวของไทย ผมว่าเราต้องมีท่าทีที่แข็งสำหรับเมียนมาด้วยซ้ำ การยอมรับชาวโรฮิงญาของเมียนมาไม่จำเป็นต้องให้สัญชาติโรฮิงญา แต่ว่าต้องยอมรับการมีตัวตนอยู่ในประเทศของตัวเอง จุดนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหา แม้ชาวโรฮิงญาบางส่วนอาจหลบหนีเข้าเมืองมาจริง แต่มันก็มีกระบวนการที่จะพิสูจน์ตัวตนของเขาในประเทศ คิดว่าเมียนมาต้องจริงใจในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่หยิบประวัติศาสตร์ขึ้นมากำจัดคนของตัวเอง
O สรุปคือเป็นการทำลายความชอบธรรมของโรฮิงญา โดยใช้ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และภาษา?
ถ้าในเฉพาะระดับประเทศเมียนมา ยอมรับว่ารัฐบาลเมียนมาทำสำเร็จในการขจัดการมีตัวตนหรือหลักฐานในเมียนมาไปเรียบร้อยแล้ว แม้แต่คนธรรมดาทั่วไปของโรฮิงญายังไม่มีที่อยู่ แล้ววันนี้กลายเป็นผู้อพยพ "เบงกาลี" ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของเมียนมา แต่การที่จะเรียกร้องให้นานาชาติเปลี่ยนคำเรียกชาวโรฮิงญาเป็น "เบงกาลี" แสดงให้เห็นว่ามันมีความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของชาวโรฮิงญาจากการกดขี่
ฉะนั้นเรื่องนี้คงไม่ได้เป็นการทำลายความชอบธรรมของชาวโรฮิงญาในชุมชนนานาชาติ เพราะหลักฐานจำนวนมากและความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ก็ถูกพูดคุยภายนอกประเทศเมียนมาอยู่ตลอดเวลา คงไม่มีอะไรที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับโรฮิงญาได้มากไปกว่า การทำให้ชาวโรฮิงญาหายไปจากประวัติศาสตร์ของโลก ยิ่งเมียนมาทำยิ่งทำให้ชาวโรฮิงญามีความชอบธรรมมากขึ้น ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลของชาติอาเซียนมีท่าทียอมรับกับการเรียกร้องของรัฐบาลเมียนมาแบบไหน
O ท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ตอบรับเรื่องเปลี่ยนคำเรียกโรฮิงญาเป็น "เบงกาลี" คิดว่าเหมาะสมหรือไม่?
ถ้ามองในแง่หลักการ ผมไม่โอเคตั้งแต่ตอนที่ราชบัณฑิตฯเปลี่ยนคำเรียกและตัวเขียนคำว่า "โรฮิงญา" เป็น "โรฮีนจา" แล้ว แม้จะอ้างอิงตามการออกเสียงของชาวพม่าเป็นหลัก แต่ทั่วไปเรามักจะเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ตามถ้อยคำที่เขาเรียกตัวเอง ถ้าเราจะมีความเคารพในความแตกต่างทางชาติพันธุ์ เราก็ควรจะต้องยืนยันการเรียกตัวแทนชาติพันธุ์นั้นๆ ตามสิ่งที่เขาเรียกตัวเขาเอง ซึ่งก็คือ "โรฮิงญา"
ยกเว้นถ้าเรามีเหตุผลทางการเมืองที่จะมีความเห็นใจรัฐบาลเมียนมา แต่ผมคิดว่ารัฐบาลไทยไม่ได้เลวร้ายเท่ารัฐบาลทหารพม่า ทำไมเราต้องไปคลุกคลีกับกองทัพพม่าที่มีประวัติในการละเมิดกลุ่มชาติพันธุ์เยอะกว่าไทย คิดว่าถ้าเราไม่อยากลดความน่าเชื่อถือของประเทศมากกว่านี้ เราไม่ควรใกล้ชิดกับรัฐบาลเมียนมามากไปกว่านี้ เราต้องมีหลักการมากกว่าที่จะทำตามข้อเรียกร้องจากคนที่ใกล้ชิด ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ได้สร้างเครดิตให้กับประเทศด้วยซ้ำ
O ท่าทีของไทยควรเป็นอย่างไร?
โดยหลักการคิดว่าเรื่องนี้ไทยควรเริ่มต้นการพูดคุยกับอาเซียน ควรเปิดเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด วันนี้อย่าคิดว่ามันเกิดขึ้นแค่การปะทะ หรือแค่สถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ เพียงแต่พื้นที่ที่เกิดความรุนแรงยังอยู่ตอนบนของรัฐ ทำให้การอพยพออกมายังไม่กระจายตัวเหมือนที่เกิดขึ้นในปี 58 วันนี้เรายังมีเวลาพอที่จะผลักดันให้กลไกระหว่างประเทศทำงานก่อนที่จะเกิดวิกฤติอพยพเหมือนปี 58 ไทยในฐานะชาติสมาชิกอาเซียนควรทำให้อาเซียนเปิดไปสู่เรื่องนี้โดยเร็วที่สุด
คิดว่าการประสานการประชุมต่อเนื่องจากที่เราเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมปัญหาผู้อพยพอย่างไม่ปกติในทะเลอันดามัน เมื่อเดือน พ.ค.ปี 58 ครั้งนี้น่าจะมีการนัดประชุมอีกครั้งเพื่อเตรียมความพร้อม รวมถึงอาจต้องสื่อสารกับรัฐบาลบังกลาเทศด้วยว่า คุณจำเป็นจะต้องเปิดให้ผู้อพยพลี้ภัยหนีความรุนแรงจากการประทะกับทหารเมียนมาเข้าไปอยู่ในชายแดนชั่วคราว เพื่อผ่อนแรงกดดันจากทางการเมียนมา
ต้องยอมรับว่าปฏิบัติการทางทหารของเมียนมายังไม่ยุติ มันก็ยิ่งทำให้แรงกดดันกับพลเรือนโรฮิงญา หรือคนพุทธในรัฐยะไข่ เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และยิ่งมากเท่าไหร่แรงผลักให้ออกมาข้างนอกก็ยิ่งสูงขึ้น ผมว่ามันมีความจำเป็นที่บังกลาเทศจะต้องเป็นประเทศแรกที่จะต้องผ่อนแรงกดดันภายในเมียนมาในเบื้องต้น แต่ความพยายามในการกดดันรัฐบาลเมียนมาในเชิงของระหว่างประเทศยังดำเนินการอยู่
ผมว่าเรื่องนี้จำเป็นมาก ถ้าหากเราไม่เจอวิกฤติผู้อพยพเหมือนช่วงปี 55-56 มันก็ยังมีชาวโรฮิงญาหลายแสนคนที่อยู่ในรัฐยะไข่ ที่ผ่านมายังพออยู่ได้ภายใต้แรงกดดัน แต่การใช้กำลังทหารที่มากขึ้นของรัฐบาลเมียนมาทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง แล้วก็ตอนนี้เราก็เห็นแล้วว่ามีกลุ่มของชาวโรฮิงญาที่เลือกเส้นทางการเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรง ซึ่งก่อนหน้าช่วงปี 55 แทบไม่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ยะไข่เลย เพราะว่าไม่มีปัจจัยเงื่อนไขมากพอ
แต่ตั้งแต่ปี 55 เป็นต้นมา ปัจจัยเงื่อนไขที่รัฐบาลเมียนมาใส่เข้าไปมันมีมากขึ้น รัฐบาลเมียนมาโต้ตอบด้วยความรุนแรงจากกลุ่มที่ไม่มีทางออก แล้วก็เลือกโต้ตอบด้วยความรุนแรง วิธีแบบนี้ไม่ทำให้สถานการณ์สงบง่ายๆ คราวนี้เราอาจไม่ยอมรับ แต่ในความเป็นจริงแล้วคนไม่มีทางเลือกเขาคงหนี เขาจะหนี แล้วบังกลาเทศติดทะเล ติดอ่าวเบงกอล ต่อเนื่องมาถึงทะเลอันดามันของไทย เราปฏิเสธไม่ได้ แม้ว่าเราจะยืนยันนโยบายที่จะช่วยเหลือโดยไม่ให้เขาเข้ามาในประเทศก็ตาม
O หลังจากนี้คาดว่าจะมีผู้อพยของชาวโรฮิงญามาไทย หรือผ่านไทยมากขึ้นหรือไม่?
มากขึ้นแน่ แต่ว่ารูปแบบอาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งรูปแบบการอพยพเข้ามาหลังจากที่เราทำลายขบวนการค้ามนุษย์ไปแล้ว แม้ว่าการเข้ามาทางเรือจะยุติไปแล้ว แต่เขาก็ปรับรูปแบบการเดินทางทางบก ให้สินบนเจ้าหน้าที่เมียนมา และอาศัยช่องทางเครือข่ายเช่นเดียวกับแรงงานพม่าทั่วไป ที่ผ่านมาเราไม่สามารถคัดแยกได้ว่าใครเป็นพม่า มุสลิมพม่า หรือโรฮิงญา เพราะว่ามาเป็นกลุ่มเล็กๆ เราจะตีความว่าเป็นพม่าทั้งหมด
ฉะนั้นรูปแบบจะเปลี่ยนไป แต่ว่าอนาคตอาจจะกลับมาทางทะเล หากทางการเมียนมายังคุมทางบกเข้มงวดมากขึ้น แม้ว่ากองทัพเรือไทยยังไม่ออกมายืนยันว่าจะใช้มาตรการเช่นเดิม แต่ก็ต้องระวัง เพราะช่วงที่ผ่านมากองทัพเรือไทยล้มเหลวกับการป้องกันขบวนการค้ามนุษย์ อันนี้เป็นความกังวลตลอดเวลา เพราะภายใต้นโยบายของไทยที่ยืนยันจะไม่รับกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญามา มันเอื้ออำนวยให้กับขบวนการที่จะช่วยเหลือคนที่เข้ามาไปในตัว เพียงแค่มีเจ้าหน้าที่ทุจริตไม่กี่คน ขบวนการมันก็จะกลับเข้ามาเต็มที่
----------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : เนื้อแพร พงษ์สุวรรณ ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี
ขอบคุณ : ภาพ ศิววงศ์ สุขทวี จากศูนย์ภาพเนชั่น
อ่านประกอบ :