ร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ ดร.นวลน้อย เสนอตั้งคณะกก.กำกับดูแลพนัน
5 วัตถุประสงค์ กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อสังคม พันล้าน ขอตัดข้อสุดท้าย เอาเงินไปโครงการนโยบายรัฐ หวั่นเปิดช่องประชานิยม ไร้การควบคุม แถมสั่งง่าย ไม่ผ่านสภาฯ
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่..) พ.ศ….ว่า ตอนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา มีเจตนารมณ์ที่ดี มีการออกคำสั่ง คสช.ที่ 11/2558 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล และให้มีกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์แก้ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับสลากและการพนัน
“ระยะเวลาผ่านมา 2 ปี ใกล้ถึงเลือกตั้ง สำนักงานสลากฯ จึงต้องออกกฎหมาย และไปเอาร่างในม.44 อะไรมาวางไว้อย่างเดิมโดยไม่ทำการบ้าน ไม่มีการพัฒนาให้ระบบดีขึ้น แต่ที่ทำมากกว่านั้น คือการไปแก้บางเรื่องให้ตัวเองมีอำนาจมากขึ้น ปลดล็อกบางเรื่องทำให้ออกสลากอะไรได้มากขึ้น”
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลให้แนวทางในม.44 แล้ว แต่พอในขั้นแก้พ.ร.บ.สลากใหม่ น่าจะทำร่างกฎหมายนี้ได้ดีกว่านี้ ยกตัวอย่างในต่างประเทศ กิจการที่เกี่ยวกับการพนัน สลากล็อตโต้จะอนุญาตให้เอกชนทำ โดยภาครัฐเปลี่ยนบทบาท เป็นผู้กำกับดูแลแทน หรือขณะแม้บางประเทศจะมีหน่วยงานภาครัฐทำเรื่องนี้ แต่ก็จะมีคณะกรรมการกำกับดูแลเรื่องการพนันแห่งชาติ
“การที่ร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ไปกำหนดรูปแบบ และปล่อยโดยบอกว่าต่อไปการออกสลากใหม่ เดิมต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ตอนนี้ไปปลดล็อกให้บอร์ดกองสลากกำหนดได้เอง เพิ่มคำว่า รูปแบบเข้าไป หมายความว่า สามารถออกรูปแบบอื่นได้ เช่นหวยบนดิน โดยเรายังไม่มีคณะกรรมการกำกับดูแลเรื่องการพนันเลย จึงเป็นเรื่องใหญ่และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง”
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวต่อว่า หากร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ กำหนดอำนาจบอร์ดกองสลากแบบนี้ ออกรูปแบบสลากโดยไม่ผ่านครม. ควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแล ให้เหมือนสินค้า เหล้า บุหรี่
ส่วนการให้มีเงินรางวัลสมทบ หรือแจ็คพ็อต ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า ควรมีการกำหนด มิใช่ให้เพิ่มไปเรื่อยๆ จนถึง 600 ล้านบาท หวั่นว่าจะเป็นการกระตุ้นให้คนเล่นการพนันมากขึ้น รวมถึงเรื่องกองทุนฯ ไม่มีที่ไหนให้กองทุนไปอยู่กับผู้ควบคุม
“กองทุนฯ ประกอบด้วย 5 วัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาวิจัยแก้ปัญหากาพนันและผลกระทบ 2.เผยแพร่ทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนัน 3.เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพนัน 4.แก้ปัญหาการจำหน่ายสลากฯ และ 5.เพื่อดำเนินการโครงการนโยบายของรัฐ” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว และว่า วัตถุประสงค์ ข้อ 5 จะเป็นปัญหาเพราะเปิดช่องให้รัฐบาลที่จะเข้ามาทำนโยบายประชานิยม โดยไม่มีการควบคุม สั่งง่าย ไม่ผ่านสภาฯ ทั้งนี้เสนอให้ตัดวัตถุประสงค์ข้อ 5 และลดจำนวนเงินในกองทุนฯ ลงจาก 1,000 ล้านบาท เหลือ 500 ล้านบาท
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวด้วยว่า วัตถุประสงค์กองทุนสลากฯ หากยังจะมีข้อ 5 ต้องมีคณะกรรมการที่มีความชัดเจน ติดตามและประเมินผลการใช้เงิน มีรายงานสู่สาธารณะ เราเข้าสู่ยุค 4.0 ต้องโปร่งใส ไม่หมกเม็ด
ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 นั้น ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยจะทำผ่าน 4 ช่องทาง ช่องทางแรกคือการเสวนาระดมความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ช่องทางที่ 2 คือการนำร่าง พ.ร.บ. เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานฯ www.glo.or.th และเว็บไซต์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ www.mict.go.th ในช่วงต้นเดือนกันยายน และตุลาคม 2560 ช่องทางที่ 3 คือการเปิดให้ส่งจดหมายแสดงความคิดเห็นถึงสำนักงานฯ โดยตรง และช่องทางที่ 4 ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานฯ จะทำหนังสือสอบถามความเห็น ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างเต็มที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผลศึกษาปี 58 พบเด็กเล่นพนันตั้งแต่ 7 ขวบ 'สลากกินเเบ่งฯ' ได้รับความนิยมสุด