ขมวดเส้นทางเงินซับซ้อน!ค่านายหน้าคดีปลูกปาล์มอินโดฯผ่านแบงก์ฮ่องกง-ถึงร้านค้าใน กทม.
ชำแหละเส้นทางการเงินค่านายหน้า ‘ซับซ้อน’ ปมปลูกปาล์มอินโดฯ จากเจ้าของที่ดิน ผ่าน KSL คนไทย 2 รายลงนาม เชื่อมเอกชนอีกแห่งผ่านธนาคารฮ่องกง มีบางฉบับแฟกซ์ถึงร้านค้าตั้งใจกลางเมือง กทม.
โครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียที่ดำเนินการโดยบริษัท พีทีที.กรีน เอเนอร์ยี่ฯ (PTT.GE) ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ PT.MAR Pontianak PT.Az Zhara PT.MAR Banyuasin PT.FBP และ PT.KPI กำลังถูกตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพิ่งส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช. คือรายงานการตรวจสอบจากบริษัท HADISUMARTO&PARTNERS (HSP บริษัทที่ปรึกษา PTT.GE) ล่าสุดคือบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (บริษัทลูกของ Deloitte Touche Tohmatsu ผู้สอบบัญชีระดับโลก) ที่ระบุถึงความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อที่ดินจัดทำโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย
ขณะเดียวกันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบข้อมูลของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (บริษัทลูกของ Deloitte Touche Tohmatsu ผู้สอบบัญชีระดับโลก) ได้รายงานถึงผู้บริหารระดับสูงใน ปตท. ทราบว่า การจัดซื้อที่ดินทำโครงการปลูกปาล์มน้ำมันดังกล่าวอย่างน้อย 2 โครงการ ได้แก่ PT.Az Zhara และ PT.KPI มีบริษัทนายหน้า Kalimantan Sawit Lestari Ltd. (KSL) จดทะเบียนในสาธารณรัฐโดมินิกัน เข้ามาเกี่ยวข้อง ได้รับค่าบริการรวมประมาณ 34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย KSL ปรากฏบุคคลสัญชาติไทย 2 ราย เข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการลงนามค่านายหน้า และค่าที่ปรึกษาดังกล่าว
โครงการ PT.Az Zhara มี Mr.Agustiar เป็นเจ้าของ ส่วนโครงการ PT.KPI มี Mr.Burhan เป็นเจ้าของ (สำหรับ Mr.Burhan คือหนึ่งในพยานคนสำคัญที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และคณะทำงาน เดินทางไปสอบปากคำด้วยตัวเองที่ประเทศอินโดนีเซีย)
สำหรับกระบวนการชำระเงินค่านายหน้า และค่าที่ปรึกษาดังกล่าว ในการขายที่ดินโครงการ PT.Az Zhara และ PT.KPI ตามการตรวจสอบของบริษัท ดีลอยท์ฯ พบว่า ในการซื้อขายที่ดินดังกล่าว เมื่อ Mr.Agustiar และ Mr.Burhan ขายที่ดินแล้ว จะต้องแบ่งรายได้จากการขายที่ดินเป็นค่านายหน้า และค่าที่ปรึกษาให้กับ KSL ด้วย รวมวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยเฉพาะโครงการ PT.KPI ที่บริษัท ดีลอยท์ฯ ตรวจสอบความซับซ้อนในการชำระเงินดังกล่าว พบว่า มีการโอนเงินค่าที่ปรึกษา (Consultancy Service Agreement) ไปยังบุคคล และบริษัทอื่น ๆ รวม 5 ครั้ง เป็นบุคคลสัญชาติไทย 1 ครั้ง วงเงินประมาณ 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และบริษัทเอกชน 2 แห่งผ่านธนาคารในฮ่องกง บริษัทแรก 3 ครั้ง บริษัทที่ 2 1 ครั้ง รวม 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 8,526,000 เหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้บริษัท ดีลอยท์ฯ ยังพบเส้นทางการโอนเงินอีก 2 รายการ ระหว่างปี 2551-2554 ครั้งแรก Mr.Agustiar โอนเงินไปยังบุคคลต่างประเทศที่ปรากฏชื่อลงนามเป็นพยานในการทำสัญญาค่านายหน้าระหว่าง Mr.Agustiar และ KSL 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อมามีการโอนเงิน 2 แสนเหรียญสหรัฐฯ จาก Mr.Burhan ไปยังบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งผ่านธนาคารในฮ่องกง
สำหรับเส้นทางเงินจาก Mr.Burhan ไปยังบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งผ่านธนาคารในฮ่องกงนั้น บริษัท ดีลอยท์ฯ พบเอกสารรายละเอียดการโอนเงินฉบับหนึ่งที่น่าจะส่งมาจากธนาคารของ Mr.Burhan ผ่านทางแฟกซ์ และน่าจะถูกส่งต่อไปทางแฟกซ์อีกเช่น ที่หมายเลขโทรศัพท์ของร้านค้าแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมือง กทม. โดยปรากฏข้อความเขียนด้วยลายมือเป็นชื่อบุคคลสัญชาติไทย 2 รายด้วย (ดูภาพประกอบ)
อย่างไรก็ดีคดีดังกล่าวปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาทุกรายในคดีนี้จึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
อดีตเลขา‘สุวัจน์’ฟ้องหมิ่น‘อิศรา’ ปมเสนอข่าวค่านายหน้าปลูกปาล์มอินโดฯ
'นิพิฐ-บ.ปาล์ม บิซ' โนติสเตือนอิศราหยุดเสนอข่าวป.ป.ช.สอบคดีปลูกปาล์มอินโด