รัฐไม่รับซื้อไฟส่วนเกิน นักวิชาการ ชี้อุปสรรคใหญ่โซลาร์รูฟไทย
นักวิชาการ ชี้อุปสรรคโซลาร์รูฟได้ยังไม่เสรี เพราะนโยบายรัฐไม่จูงใจ ไม่รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน ระบบขออนุญาตซับซ้อน ยาวนาน แนะนำระบบ Net Billing มาใช้กำหนดซื้อไฟให้เท่าราคาขายปลีก
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 60 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จัด สัมมนาสรุปผลการศึกษาโครงการวิเคราะห์โครงการนำร่องการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟเสรีณ อาคารจามจุรี 10จุฬาฯ
ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการ TDRI กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคของการส่งเสริมโซลาร์รูฟในเมืองไทย ว่า แม้ว่าในทางนโยบายไทยด้านส่งเสริมพลังงานทดแทนจะเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียน แต่อุปสรรคใหญ่สามประการที่ทำให้ไม่สามารถเดินไปตามเป้าได้ ประการแรกคือ นโยบายไม่จูงใจ เช่นการประกาศไม่รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน ความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย การเปิดรับสมัครเป็นช่วงสั้นๆ เมื่อกับเทียบเวลาที่ต้องขอใบอนุญาต นอกจากนี้ยังมีข่าวการเก็บ Back up ซึ่งขัดกับการเปิดเสรีโซลาร์รูฟ
ประการที่สองที่เป็นอุปสรรค ดร.วิชสิณี กล่าวว่า คือการขาดการเก็บข้อมูล ไม่มีข้อมูลสำหรับคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของรูฟท็อป ไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูล เกี่ยวกับกับระบบรูฟท็อป ทำให้ขาดองค์ความรู้ ซึ่งเสนอแนะให้มีการเก็บข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากทุกระบบที่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้าฯ ควบคู่ไปกับการออกนโยบายส่งเสริม เพื่อให้ กฟน.และกฟภ. สามารถวางแผนปรับปรุงระบบจำหน่าย และเพื่อให้ สนพ. และกฟผ.สามารถคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าและบริหารจัดการ System Load Curve ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผน PDP ที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต
ดร.วิชสิณี กล่าวต่อถึงอุปสรรคประการที่สาม ว่า เป็นเรื่องกำกับดูเเล ซึ่งเป็นอุสรรคในระดับการปฏิบัติ ทำให้ไปไม่ถึงจุดหมาย ปัจจุบันการขอใบอนุญาตมีหลายใบทำให้ต้องเดินทางไปหลายหน่วยงาน ขณะที่ไม่สามารถติดตามสถานะการสมัครได้ง่ายๆ ทั้งยังขาดตัวกลางที่จะประสานงานให้ข้อมูล นอกจากนี้ที่ผ่านมามีมาตรฐานความปลอดภัยโดยวิศวกรรมสถานฯ (วสท.) แต่ไม่ถูกบังคับใช้ และPrivate PPA หรือหน่วยงานเอกชนที่จะมาเป็นกลางเพื่อลงทุนให้กับประชาชนรายย่อย ไม่สามารถเป็นคู่สัญญากับการไฟฟ้าได้ ยากต่อการขยายผลต่อธุรกิจ
“ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในความคุ้นทุนของระบบ ผู้บริโภค รวมทั้งสถาบันการเงิน ยังไม่มั่นใจในความคุ้มค่าของระบบรูฟท็อป ทั้งยังขาดการโมเดลธุรกิจในการเข้าถึงรูฟท็อป ปัจจุบันรูฟท็อปเป็นทางเลือกของคนที่มีเงินเท่านั้น สิ่งที่เราต้องการเพื่อเปิดให้เสรีคือรูปแบบที่ช่วยให้คนรายได้ต่ำเข้าถึงได้” ดร.วิชสิณี กล่าว และว่า สำหรับข้อเสนอแนะที่รัฐต้องแก้คือการลดขั้นตอน กฎระเบียบและเวลาที่ใช้ในการขอในอนุญาตที่เกี่ยวข้อง และอำนวยความสะดวกโดยปรับปรุงระบบการสมัครแบบออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีเจ้าภาพในเรื่องนี้
ด้านดร.โสภิตตาสุดา ทองโสภิต สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัยโครงการฯนี้ กล่าวถึงผลการศึกษาถึงมาตรการส่งเสริมระบบเสรีโซลาร์รูฟเพื่อการผลิตไฟฟ้าเองใช้เองว่า ภาครัฐควรอนุญาตให้มีการผลิตไฟฟ้าเองใช้เองจากระบบโซลาร์รูฟโดยเน้นให้ใช้เองก่อน และหากมีไฟฟ้าเหลือก็ควรอนุญาตให้มีไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบจำหน่ายได้ และภาครัฐควรรับซื้อไฟฟ้าไหลย้อนนี้ในราคาที่เหมาะสมโดยไม่เป็นภาระและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป และการไฟฟ้าฯ
ทั้งนี้ ทีมวิจัย เสนอให้มีการส่งเสริมการผลิตใช้เองในรูปแบบ Net Billing โดยรัฐควรกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าไหลย้อนแบ่งตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า พร้อมทั้งควรกำหนดระยะเวลาส่งเสริม ตามอายุของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คือ 25 ปี รวมถึงปรับเปลี่ยนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าไหลย้อนสำหรับโครงการใหม่ที่จะเข้าระบบก่อนปรับค่าไฟฟ้าฐาน เช่นทุกๆ 3 ปี
นอกจากนี้ ข้อเสนอของทีมวิจัย ในเรื่องไฟฟ้าย้อนเข้าสู่ระบบจำหน่าย จะเกิดผลกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าใน ประเด็นแรงดันและกำลังไฟฟ้าสูญเสีย ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถแก้ไขด้วยการปรับปรุงระเบียบการเชื่อมต่อ(Grid code) ให้สามารถรองรับปริมาณโซลาร์รูฟอย่างเหมาะสมได้ ส่วนผลกระทบต่อระบบผลิตและระบบส่ง อาจช่วยลดพีกในตอนกลางวันได้ แต่พีกจะเปลี่ยนมาเป้นกลางคืน ซึ่งอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการโดยเฉพาะการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่อาจมีต้นทุนเพิ่มเติม
ด้านนายดุสิต เครืองาม อดีตกรรมาธิการด้านพลังงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจกำลังขยาย ความต้องการพลังงานโต เรื่องการลงทุนพลังงานทดแทน น่าจะเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด เพราะรัฐไม่ต้องหาเงินลงทุน แต่วันนี้ระเบียบราชการยิ่งถอยหลัง ทำให้การขอใบอนุญาต ยิ่งใช้เวลามากขึ้น และอยากให้ปรับปรุงระบบดีเลย์เอาออกไปเลย โดยเฉพาะจากผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยที่ไม่ได้ซื้อไฟจากหม้อแปลง เพราะว่าไม่จำเป็น เป้าหมาย สปช. ตอนปี 2558 ประเมินว่าตอนนี้มีคนเข้าไป 1,000 เมกะวัตต์ และใน10ปีข้างหน้า ถ้าเปิดเสรีจะมีคนเข้ามามากถึง 15,000 เมกะวัตต์ ต้นทุนเฉลี่ย 1 เมกกะวัตต์ 60ล้านบาท บ้านที่อยู่อาศัย 6หมื่นบาทต่อกิโลวัตต์ และไม่ควรมีระบบโควต้า ใครอยากเข้าเมื่อไหร่ก็ได้ เท่าไหร่ก็ได้ ไฟที่ได้ก็สามารถขายเข้าระบบได้เท่าปริมาณสายส่งจะรับได้
นายดุสิต กล่าวอีกว่า ราคาระบบขายไฟที่เหลืออยากให้อยู่ในราคาระหว่างขายส่ง ขายปลีกคือ 3-4 บาท มโนภาพที่ว่าผลิตเองจะส่งผลต่อระบบไฟฟ้า เป็นมโนจิต ปัจจุบันรัฐมีการรับซื้อไฟจากโครงการไฟฟ้าพลังงานทดแทนเยอะไปหมด ไม่เห็นบ่นว่าทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ตอนนี้ไทยมีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2,500 เมกะวัตต์ คิดเป็น 10%เท่านั้นที่เป็นโซลาร์รูฟ สัดส่วนที่เหมาะสมจริงๆ ควรเป็น60:40นั่นคือ โซลาร์รูฟ ต่อ โซล่าร์ฟาร์ม
“วันนี้เราส่งเสริมโซลาร์ฟาร์มเพียงพอแล้ว เมื่อสิ้นสุดแผน PDP ในปี2579 ควรปรับสัดส่วนเน้นความสำคัญบ้านที่อยู่อาศัย เพื่อลดการใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการเข้าโซลาร์เสรี ส่วนค่าไฟฟ้าส่วนเกินคิดอีกแบบ ไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากโรงงานก็ควรคิดอีกแบบ ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ควรให้บ้านสูงกว่า คือใกล้เคียงกับราคาขายปลีก” นายดุสิต กล่าวและว่า เพราะอาคารขนาดใหญ่ลงทุนแล้วได้สิทธิประโยชน์จาก BOI ได้เป็น บริษัทให้พลังงงาน ได้หักภาษีไปแล้ว แต่บ้านเรือนไม่มีมาตรการตรงนี้ กลายเป็นยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไปอีก นอกจากนี้การส่งเสริมให้ครัวเรือนผลิตไฟฟ้าใช้เองยังช่วยให้รัฐลดภาระที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้ามากขึ้น ช่วยตัดพีกในเวลากลางวัน อีกอย่างรัฐไม่ต้องมาทะเลาะกับชาวบ้านจากโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้า