คาดเข็มขัดนิรภัย...เพื่อความปลอดภัยผู้โดยสารตอนหลัง
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2560 รถแท๊กซี่พร้อมผู้โดยสารนักท่องเที่ยวชาวมาเลยเซีย ที่เดินทางมาจากสนามบินตอนเมืองเกิดอุบัติเหตุเสียหลักชนขอบทางบนทางด่วนโทเวย์ เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวที่ “นั่งตอนหลัง” ถูกเหวี่ยงทะลุกระจกออกมานอกตัวรถเพราะไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย สุดท้ายรถที่วิ่งตามมาทับศีรษะเสียชีวิต
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2557 ก็เกิดเหตุกับนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส ที่เพิ่งจะลงเครื่องบินจากสนามบินสุวรรณภูมิแล้วเช่าเหมารถแท๊กซี่ไปพัทยา แต่มาเกิดอุบัติเหตุบนถนนมอเตอร์เวย์ก่อนถึงพัทยา ในลักษณะเดียวกับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย คือถูกเหวี่ยงทะลุออกมาจากรถเพราะนั่งตอนหลังและไม่คาดเข็มนิรภัย (ข่าวนักท่องเที่ยวฝรั่งเศส)
เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 2 กรณีที่เกิดกับนักท่องเที่ยว เป็นการโดยสารแท๊กซี่จากสนามบินผ่านเส้นทางด่วนด้วยความเร็วสูง โดยนั่งตอนหลังและไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เมื่อเกิดเหตุถูกเหวี่ยงออกมาเสียชีวิต ในขณะที่คนขับซึ่งคาดเข็มขัดนิรภัยมีการบาดเจ็บเล็กน้อย
แม้กฎหมายคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา แต่ผลสำรวจในช่วงส.ค. 2560 โดยมูลนิธิไทยโรดส์ ก็พบว่าผู้โดยสารแท๊กซี่ตอนหลังคาดเข็มขัดนิรภัยเพียง 3% สอดคล้องกับการสำรวจก่อนหน้านี้ที่พบว่าผู้โดยสารตอนหลังเกือบทั้งหมดไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย เพราะเห็นว่าเดินทางในเมืองระยะใกล้ๆ อึดอัดไม่สะดวกเวลาขึ้นลง มีบางส่วนที่ต้องการคาดเข็มขัดนิรภัยแต่ไม่เห็นที่เสียบเข็มขัด
รู้หรือไม่ ? .. นั่งแท๊กซี่ตอนหลังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย .. อันตรายทั้งกับตัวเองและคนนั่งตอนหน้า
เมื่อแท๊กซี่เกิดอุบัติเหตุ แรงปะทะที่เกิดจากการชนหรือเหวี่ยงจะส่งผลให้ผู้ที่นั่งตอนหลังพุ่งไปข้างหน้าหรือถูกเหวี่ยงออกจากรถ เหมือนกรณีนักท่องเที่ยวมาเลเชียและฝรั่งเศส ในกรณีรถที่วิ่งด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. เมื่อเกิดการชน แรงปะทะที่เกิดขึ้นเทียบเท่ากับ “ตกตึก 8 ชั้น” และการชนที่ความเร็ว 120 กม./ชม. จะเกิดแรงปะทะเท่ากับตกตึกสูงถึง 19 ชั้น ซึ่งเบาะที่นั่งตอนหน้าก็ไม่สามารถช่วยป้องกันความรุนแรงในกรณีนี้ได้ ดังนั้น เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงและเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ถึงร้อยละ 40-60
นอกจากอันตรายจากแรงปะทะที่เกิดผู้โดยสารตอนหลังแล้ว การไม่คาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารตอนหลังยังส่งผลให้ผู้ที่นั่งตอนหน้ามีโอกาสเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะเมื่อเกิดแรงปะทะผู้โดยสารตอนหลังจะพุ่งไปข้างหน้าทำให้เก้าอี้ตอนหน้าพับและกดทับคนขับหรือคนที่นั่งข้างคนขับ (ดังคลิป)
ข้อพิจารณาเพื่อป้องกันความรุนแรงและลดการเสียชีวิตของผู้โดยสารรถแท๊กซี่
แม้ตัวเลขผู้โดยสารรถแท๊กซี่ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุยังมีจำนวนไม่สูงเมื่อเทียบกับรถประเภทอื่นๆ แต่ก็พบเป็นข่าวอยู่ตลอด โดยเฉพาะกรณีที่เกิดกับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจะมีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ในแต่ละวันจะมีรถแท๊กซี่ออกมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารเฉลี่ย 1 แสนคัน/วัน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม พบมีจำนวนอุบัติเหตุของรถแท๊กซี่ เฉลี่ย 2 พันครั้ง/ปี (คิดเป็นร้อยละ 4 ของอุบัติเหตุที่รวบรวม) ดังนั้น เพื่อให้มีการจัดการความเสี่ยงของผู้โดยสารที่ใช้บริการรถแท๊กซี่ เฉพาะอย่างยิ่งกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางด้วยแท๊กซี่จากสนามบินผ่านเส้นทางด่วนสายต่างๆ ซึ่งรถจะใช้ความเร็วสูง จำเป็นที่ต้องมีการจัดการเพื่อให้ “คาดเข็มขัดนิรภัย” ทั้งตอนหน้าและตอนหลัง โดยมีข้อเสนอดังนี้
1. กรมการขนส่งทางบก, บ.ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมท่องเที่ยว ฯลฯ พิจารณาจัดระบบสื่อสารประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่โดยสารรถแท๊กซี่จากสนามบิน “คาดเข็มขัดนิรภัย” อาทิ
- มีป้ายและเจ้าหน้าที่คอยแจ้งเตือนเมื่อผู้โดยสารจะขึ้นรถแท๊กซี่
- มีป้ายเตือนผู้โดยสารที่นั่งตอนหลัง “คาดเข็มขัดนิรภัย” ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ชัดเจน
- มีการอบรมพนักงานขับรถแท๊กซี่ประจำสนามบินให้สามารถพูด/สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้โดยสารใช้เข็มขัดนิรภัย
2. กรมการขนส่งทางบก เข้มงวดกับการความพร้อมใช้งานของเข็มขัดนิรภัยตอนหลัง ทุกครั้งที่เข้ารับการตรวจสภาพ พร้อมสุ่มตรวจการพร้อมใช้งานเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันมิให้มีการนำที่ล๊อกสายเข็มขัดไปไว้ใต้เบาะรถ
3. กรณีนักท่องเที่ยวประสบเหตุรุนแรงถึงชีวิต ตำรวจท่องเที่ยวและกระทรวงท่องเที่ยวฯ ควรพิจารณาจัดทำระบบสอบสวนสาเหตุ พร้อมรวบรวมข้อมูลและจัดทำมาตรการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุซ้ำๆ
แม้อุบัติเหตุรถแท๊กซี่ที่บันทึกไว้จะมีจำนวนน้อยกว่ารถประเภทอื่นๆ แต่ก็พบเฉลี่ย 5-6 ราย/วัน และมีแนวโน้มไม่ลดลง ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงและเสียชีวิตกับผู้โดยสารโดยคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่นั่งรถแท๊กซี่ทั้งตอนหน้าและตอนหลัง ก็จะช่วยลดความรุนแรงได้ระดับหนึ่ง..
พึ่งระลึกไว้เสมอว่า ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารตอนหลังที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ได้บาดเจ็บกับตัวเอง แต่ยังทำให้ผู้นั่งตอนหน้าบาดเจ็บด้วยเช่นกัน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก sanook.com