สคร.ชี้แจงข้อวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ
ร่าง พรบ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และไม่เกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่มีวัตถุประสงค์หลักในการปฏิรูปและยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจผ่านการส่งเสริมให้มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี โปร่งใส มาใช้กำกับรัฐวิสาหกิจ และนำมาตการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปแต่อย่างใด
ตามที่สื่อสังคม online ได้เผยแพร่ข้อวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ (ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนารัฐวิสาหกิจ) ว่า “คสช. เตรียมออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจอำพรางแบบยกเข่งโดยผ่านสภาเสียงข้างเดียว กินรวบหนักกว่ายุคทักษิณหรือไม่”
กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า ข้อวิจารณ์ข้างต้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างมาก จึงขอชี้แจงแต่ละประเด็น ดังนี้
ข้อวิจารณ์ที่ 1. กรณี สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยจะนำรัฐวิสาหกิจ 11 แห่งที่มีสภาพเป็นบริษัท ให้กับบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (บรรษัทฯ) เป็นผู้ครอบครองแทน และบรรษัทฯ จะออกใบหุ้นมอบกระทรวงการคลังให้อยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบรรษัทฯ และในอนาคตเมื่อบรรษัทฯ ต้องการเพิ่มทุนในรัฐวิสาหกิจใด แต่รัฐไม่สามารถเพิ่มทุนหรือไม่ต้องการเพิ่มทุน ก็จะเปิดให้เอกชนมาถือหุ้นแทน คือกระบวนการแปรรูปอำพราง เป็นการแปรรูปผ่านกระบวนการเพิ่มลดทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช่หรือไม่
กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า: ร่าง พรบ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และไม่เกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่มีวัตถุประสงค์หลักในการปฏิรูปและยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจผ่านการส่งเสริมให้มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี โปร่งใส มาใช้กำกับรัฐวิสาหกิจ และนำมาตการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปแต่อย่างใด โดยในระหว่างยกร่างกฎหมาย และการรับฟังความคิดเห็นจากสหภาพฯ ที่เป็นห่วงในประเด็นการแปรรูปนี้ ในหลักการและเหตุผลของร่าง พรบ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ จึงได้ระบุให้ชัดเจนว่า "บรรษัทฯ ทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทแทนกระทรวงการคลัง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์และสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้" และได้มีการกำหนดไว้ใน กฏหมายชัดเจน ว่า "ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบรรษัทฯ และหุ้นทุกหุ้นของบรรษัทฯ ...โอนเปลี่ยนมือมิได้" ดังนั้น ข้อวิจารณ์ที่ว่า "กระทรวงการคลังอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบรรษัทฯ และจะเปิดให้เอกชนมาถือหุ้นแทน" จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง
ข้อวิจารณ์ที่ 2. หุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจจะถูกลดสัดส่วนลงไปเรื่อยๆ จนรัฐวิสาหกิจอาจหมดสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้
กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า: ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ กำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบรรษัทฯ ประกอบกับมาตรา 89 กำหนดให้เมื่อกระทรวงการคลังได้โอนหุ้นในรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัทฯ แล้ว ให้มติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดใดใช้บังคับกับบรรษัทฯ ในการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจนั้นด้วย อันมีผลทำให้บรรษัทฯ เมื่อได้รับโอนหุ้นจากกระทรวงการคลังแล้วจำเป็นจะต้องเพิ่มทุนให้คงสัดส่วนตามที่มติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดไว้ โดยจะไปลดทุนเองไม่ได้ นอกจากนั้น มาตรา 11 (8) แห่งร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เป็นผู้เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในกรณีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว อันเป็นการสร้างขั้นตอนการลดสัดส่วนหุ้นของรัฐวิสาหกิจขึ้นอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้เกิดความรอบคอบ จากเดิมที่เป็นเพียงมติคณะรัฐมนตรีที่กระทรวงเจ้าสังกัดแต่ละแห่งจะสามารถเสนอขอลดสัดส่วนได้เอง ดังนั้น ข้อวิจารณ์ที่ว่า หุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจจะถูกลดสัดส่วนไปเรื่อยๆ จึงไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ประชาชนยังมีสิทธิตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 78 ทุกประการ
ข้อวิจารณ์ที่ 3. การนำบริษัทรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ที่มีทรัพย์สินรวมกันมูลค่ามหาศาลประมาณ 6 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติ รวมทั้งอำนาจและสิทธิมหาชน เตรียมเปิดขายเหมาเข่ง เป็นกระบวนการผ่องถ่ายทรัพย์สินของรัฐให้เอกชนใช่หรือไม่
กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า: บรรษัทฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
โดยกระทรวงการคลังทำหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายและการลงทุนของบรรษัทฯ รวมถึงประเมินผลการทำหน้าที่ของบรรษัทฯ คู่ขนานไปกับ คนร. ที่จะกำกับการดำเนินการของบรรษัทฯ ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์และสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ อันเป็นหลักการและเหตุผลในการตรากฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้จึงมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการดำรงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้
ข้อวิจารณ์ที่ 4. การจัดตั้งบรรษัทฯ และการรวบเอากรรมสิทธิ์ในหุ้นรัฐวิสาหกิจไปรวมศูนย์ไว้ในมือของบรรษัทฯ นั้น นอกจากมิได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศไทย และไม่สามารถพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้นแต่อย่างใดแล้ว บรรษัทฯ ยังสามารถจะใช้ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนกับนักธุรกิจในประเทศและในต่างประเทศได้
กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า: การจัดตั้งบรรษัทฯ ขึ้นตามร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจนี้เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยสร้างความชัดเจนในหน้าที่ของผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจจากเดิมที่มีหน้าที่ทับซ้อนกันของหลายหน่วยงาน และกำหนดให้บรรษัทฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นเชิงรุก ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 44 แห่งร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจที่กำหนดให้จัดตั้งบรรษัทฯ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ "เพื่อถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัทฯ และกำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้น ให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ” ซึ่งการทำหน้าที่ของผู้ถือหุ้นเชิงรุกโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ย่อมส่งผลให้กิจการของรัฐวิสาหกิจมีการดำเนินการตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถจัดให้มีบริการสาธารณะที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ร่าง พรบ.พัฒนารัฐวิสาหกิจนี้ ยังกำหนดให้มีการประเมินผลบรรษัทที่ชัดเจน โดยให้กระทรวงการคลังมีหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานบรรษัทฯ ตามหลักเกณฑ์ที่ คนร.กำหนด. ดังนั้น การนำรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทที่มีทุนเรือนหุ้นที่ชัดเจน มาอยู่ภายใต้บรรษัทฯ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นจากการมีมาตรฐานการกำกับดูแลเดียวกัน โปร่งใส และรับผิดรับชอบตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี
ข้อวิจารณ์ที่ 5. การดำเนินการต่างๆ จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบครบถ้วนโดยรัฐสภาเสียก่อน มิใช่ปล่อยให้ สนช.ซึ่งเป็นสภาเสียงข้างเดียวที่แต่งตั้งมาโดยรัฐบาล คสช.มาตัดสินใจแทนคนไทยทั้งประเทศผู้เป็นเจ้าของสมบัติชาติที่แท้จริง
กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า: ในการยกร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ ได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นที่ครบถ้วนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เช่น การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ รวมทั้งองค์กรด้านแรงงานของรัฐวิสาหกิจ (สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้นำความเห็นและข้อสังเกตดังกล่าวมาประกอบการปรับปรุงร่างกฎหมายด้วยแล้ว เช่น ข้อกังวลของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังได้กำหนดในเหตุผลของร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจว่า “สมควรจัดตั้งบรรษัทฯ ทำหน้าที่ผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทแทนกระทรวงการคลัง…โดยคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้” ดังที่ได้ชี้แจงไปแล้วในประเด็นที่หนึ่งข้างต้น นอกจากนี้ ทาง สนช. ได้จัดตั้งกรรมาธิการฯเพื่อนำร่างกฎหมายมาพิจารณาให้รอบคอบด้วยอีกชั้นหนึ่ง โดยได้มีประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ (สพร.ท) เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการฯ ด้วย
ข้อวิจารณ์ที่ 6. บรรษัทฯ ที่ตั้งไม่ขึ้นอยู่กับสภาพัฒน์ ไม่อยู่ภายใต้กม. แรงงานสัมพันธ์ และ พรบ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงบรรษัทฯ สามารถเลือกองค์กรที่จะเข้ามาตรวจสอบบัญชีได้ จึงไม่แน่ใจว่า กม. ที่จะป้องกันทุจริต มีอำนาจตรวจสอบหรือไม่
กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า: ในร่างพรบ.มาตรา 51 ได้กำหนดชัดเจนว่า “ให้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังได้โอนหุ้นให้แก่บรรษัทฯ ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และให้นำกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาใช้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้น ในการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ คนร. จะเป็นผู้กำกับให้บรรษัทฯ เสนอกรอบนโยบายการพัฒนาและทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำหรับข้อวิจารณ์ที่ว่าบรรษัทฯ ที่จัดตั้งนั้น สามารถเลือกองค์กรที่จะเข้ามาตรวจสอบบัญชีได้ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเช่นกัน เพราะร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ ไม่ได้ให้สิทธิบรรษัทฯ ในการเลือกองค์กรที่จะเข้ามาตรวจสอบบัญชี หากแต่เป็นกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบรรษัทฯที่จะเป็นผู้แต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบรรษัทฯ ตามมาตรา 79 ประกอบกับบรรษัทฯ ยังมีสถานะเป็นหน่วยรับตรวจตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน นอกจากนี้ บรรษัทฯ จะยังอยู่ในความหมายของนิยาม “หน่วยงานของรัฐ”ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ที่จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าว ประกอบกับมาตรา 62 และมาตรา 75 แห่งร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ กำหนดให้กรรมการบรรษัทฯ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บรรษัทฯ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีผลทำให้บุคลากรดังกล่าวมีหน้าที่ในการเปิดเผยและยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักงาน ป.ป.ช. รวมทั้งยังอยู่ภายใต้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามกฎหมายดังกล่าวด้วย