เรื่องไม่หมู กับเฮียนพ หมูปิ้งนมสด ยุค 4.0
ผมประสบปัญหามาก ปี 2558 ที่คสช.เข้มงวดแรงงานต่างด้าว ผมก็เริ่มคิดเรื่องใช้เครื่องจักรมา 3-4 ปี ไปติดต่อเด็กวิทยาลัยการอาชีพจอมทอง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ให้เขาเข้ามาดูแล้วก็ทำไม่ได้
ปี 2560 SMEs ในประเทศไทย มีกว่า 3 ล้านกิจการ แต่มีที่จดทะเบียนในรูปนิติบุคคลอยู่แค่ 6.5 แสนรายเท่านั้น ที่เหลือเป็นบุคคลธรรมดาที่ทำการค้าขาย
หนึ่งใน SMEs 4.0 ที่เรียกว่า ทันสมัย เจ้าของกิจการก็มีหัวคิดทันสมัยสามารถปรับและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับโลกของเทคโนโลยีได้ มีชื่อ “เฮียนพ-หมูนุ่ม” หรือชวพจน์ ชูหิรัญ เจ้าของธุรกิจหมูปิ้งนมสด วัย 49 ปีรวมอยู่ด้วย
บริษัทหมูนุ่ม จำกัด หรือโรงงานเฮียนพ หมูนุ่ม ตั้งอยู่ที่อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ผลิตหมูปิ้งนมสด เริ่มต้นเสียบหมูปิ้งนมสดอยู่แถวหลังโรงพักปากเกร็ด จากแค่หลักพันไม้ หมื่นไม้ต่อวัน ก้าวสู่หลักแสนไม้ต่อวันแล้ววันนี้
“เฮียนพ” สวมผ้ากันเปื้อนสีเหลืองทับชุดเสื้อยืดและกางเกงยีนส์สีดำ พร้อมสวมหมวกใบโปรดที่ใส่อยู่เสมอๆ เวลาต้องทำงานอยู่ในโรงงาน ร่วมพูดคุยกับเราถึงการทำธุรกิจหมูนุ่มในยุค 4.0 โดยเขามองว่า SMEs บ้านเราที่ไม่โต เพราะกลัวเสียภาษี พอทำอะไรให้ถูกต้องก็กลัว หลบๆ ซ่อนๆ กลัวเสียภาษี
เฮียนพ หมูนุ่ม เริ่มต้นทำธุรกิจนี้เมื่อปี 2551 จากธุรกิจครอบครัวเล็กๆ “หมูปิ้งนมสดปากเกร็ด” มาขายดีมากๆ ปี 2554 ช่วงน้ำท่วมใหญ่ ช่วงม็อบทางการเมืองลูกค้าเฮียนพมีทั้งเหลืองและแดง ขายได้วันละเป็นหมื่นไม้
กระทั่งมาปี 2556 จึงตั้งบริษัท หมูนุ่ม จำกัด ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ
“ผมยอมจ่ายเงิน 15,000 บาท ทำเว็บไซต์ www.moo-noom .com เมื่อปี 2555 ลูกค้าโทรมาสั่งสินค้า ผมจะถามรู้ได้อย่างไรว่า ผมขายหมู บ้างตอบว่า อ่านจากหนังสือ บางคนบอกว่า ดูในอินเตอร์เน็ต ผมก็รู้แหละว่า ใช้ได้ดูในเน็ต และผมเริ่มรู้แล้วว่า ที่มาของลูกค้าเป็นอย่างไร
หลังสร้างโรงงานเสร็จ ผมเริ่มให้สื่อลงเรื่องการสร้างโรงงานหมูปิ้งเสียบไม้เจ้าแรกของประเทศไทย ก็มีรายการโทรทัศน์มาถ่ายทำ นำไปโพสต์ในยูทิวป์ ซึ่งผมนำเรื่องของผมโพสต์ลงในไลน์ด้วย”
จากนั้น เฮียนพ หาหนังสือมาอ่าน คนที่รวยเขาทำอย่างไรกัน และคิดแบ่งลูกค้าหมูปิ้งออกเป็น 4 กลุ่ม 1.กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ที่ซื้อสินค้าของเขามาตั้งแต่ช่วงแรกๆ โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีความแน่นอน มีทั้งหยุดขาย สั่งของจ่ายเงินก็ไม่ค่อยตรง 2.ขายผ่านตัวแทนจำหน่าย 3.ซื้อหมูไปสร้างแบรนด์เองได้ เช่น ในปั๊มน้ำมัน และ4. สินค้า House Brand
“แม้แต่กลุ่มดาราของกัมพูชา ก็นำสินค้าของผมไปสร้างแบรนด์เอง ในชื่อ ซุปเปอร์หมู วันนี้ผมได้เซ็นต์สัญญาอย่างเป็นทางการให้กัมพูชาเป็นตัวแทนจำหน่ายหมูปิ้งในแบรนด์ของเฮียนพแล้ว” เจ้าของธุรกิจหมูปิ้งนมสดร้อยล้าน ให้ข้อมูล และชี้ว่า สำหรับสินค้าส่งไปสาธารณรัฐประชาชนลาว เขาต้องปรับรส เพราะคนลาวชอบกินผงชูรสเยอะมาก ซึ่งปกติขายในไทยจะไม่ใส่ผงชูรส
นอกจากขายในประเทศ แผนการส่งออกไปยังต่างประเทศ และแผนการเปิดตัวสินค้าใหม่ ทำให้เฮียนพต้องการเงินลงทุนหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทหมูนุ่ม ได้ขอสินเชื่อกับธนาคารกรุงไทย 5 ล้านบาท และมี บสย.ค้ำประกัน 3 ล้าน ภายใต้โครงการ SMEs ทวีทุน (PGS6)
เฮียนพ ยอมรับ ที่ผ่านมาเขาไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อนเลย แต่โชคช่วยได้ลูกค้าดี คู่ค้าดี และลูกน้องดี บวกกับการสั่งสมประสบการณ์ ได้เรียนลัดจากการทำธุรกิจจากลูกค้า
“ผมไม่ได้ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ผมได้เรียนรู้ว่า สินค้าตัวเดียวกัน แต่ความคิดของผู้บริหารแต่ละแห่งจะต่างกัน เช่น ห้างแห่งหนึ่ง จะมองลูกค้าต้องได้สินค้าที่ดีที่สุด ขายแค่ 7 วัน สินค้าหมูนุ่มปรุงรสต้องแช่เย็น (Chill) ไม่มีการแช่แข็ง (Frozen) เพราะคุณภาพไม่เหมือนเดิม มีน้ำแทรก ซึ่งเป็นข้อดีของผู้บริโภค แต่ข้อเสียอยู่ที่ผู้ผลิตลำบาก เราผลิต 1 วัน อยู่โกดัง 1 วัน เหลือ 5 วัน เดินไปทางต่างจังหวัด เหลือ 4 วัน พอถึงมือผู้บริโภคใกล้จะหมดอายุ ก็จะไม่ซื้อ ขณะที่ห้างอีกแห่ง ซื้อสินค้าไปปิ้งขาย ทำกำไรเห็นๆ ส่วนอีกแห่ง ก็มองว่า สินค้าทำออกมา 1 อย่างต้องมีอายุการขายให้นานที่สุด ต้องขาย Frozen อายุ 1 ปี” เฮียนพ ถอดบทเรียนการตลาดที่ได้จากชีวิตจริง และว่า
“ ผมไม่มีเซลล์ ไม่ได้ทำการตลาด ทุกคนที่ซื้อสินค้าผม ติดต่อมาหาผมหมด ไปเคยเดินเสนอขายสินค้า”
วันนี้ เฮียนพ หมูนุ่ม ได้เพิ่มช่องทางการขาย จากขายในช่องทางปกติ มาขายผ่านช่องทางออนไลน์ ขายผ่านหน้าเว็บไซต์ ผ่านไลน์ และล่าสุด TOT กำลังสร้างแอพพลิเคชั่น ให้เขาได้ขายสินค้าผ่านแอพฯ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ซื้ออีกช่องทางหนึ่ง
สำหรับรายได้ 10-20 ล้านบาทต่อเดือน เฮียนพ ระบุว่า เขามียอดจากการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ถึง 60-70 %
“จากประสบการณ์ผมเชื่อว่า อีกไม่นานธนาคารอยู่ลำบาก ก็ทุกวันนี้ผมแทบไม่ได้ไปสาขาธนาคาร หรือเอทีเอ็มเลย ผมโอนเงินค่าหมูค่าของผ่านเครื่องมือสื่อสาร ผมพกไอแพดติดตัวถึง 3 เครื่องสำหรับติดต่อธุรกิจ ใช้ QR Code ฉะนั้นอย่าทิ้งเทคโนโลยี หรือsocial media พฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไป ซื้อขายผ่านเว็บ
แต่ละวันผมนอนดึก เพราะศึกษาว่า เขาไลฟ์สดขายอะไรกัน ผมให้ความสนใจกับเรื่องพวกนี้มาก ใช้ไม่เป็นก็พยายามใช้ให้เป็น จึงเชื่อว่า ไม่น่าเกิน 2 ปีจากนี้ คนไม่ขายออนไลน์จะอยู่ไม่ได้”
โรงงานหมูปิ้ง เฮียนพ ปัจจุบันมีทั้ง หมูปิ้งนมสดเสียบไม้ ไก่ย่างโบราณ ไส้กรอกอีสาน และไส้อั่วสมุนไพร จากที่เคยจ้างกลุ่มแม่บ้านเสียบหมูร้อยละ 40 บาท วันนี้เขามีพนักงาน 180 คน แบ่งเป็นคนไทย 40 คน ที่เหลือเป็นพนักงานสัญชาติกัมพูชา ซึ่งขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า โรงงานมีความตั้งใจอยากจะเปลี่ยนจากการใช้แรงงาน เป็นการใช้เครื่องจักรในการเสียบหมูปิ้ง หรือไม่
“สมัยก่อน กรมราชทัณฑ์เคยติดต่อมาจะให้เอาหมูปิ้งไปทำในคุก เพื่อให้ผู้ต้องขังมีงานทำ แต่เขาถามผมว่า ทำอย่างไรไม่ใช้มีดหั่น ผมก็บอกจนปัญญา เลยไม่ได้ ไม่สำเร็จ ก่อนหน้านี้ช่วงยังไม่ได้จัดตั้งเป็นบริษัท ผมใช้แรงงานสีเทา เจอปัญหาโดนตำรวจจับ ยิ่งเทศกาลเจอปัญหาแรงงานต่างด้าวหายไป ต่อให้ก้มกราบเท้าก็ไม่อยู่ต้องกลับบ้าน ผมประสบปัญหามาก มา ปี 2558 ที่คสช.เข้มงวดแรงงานต่างด้าว ผมก็เริ่มคิดเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะไม่มีแรงงาน ผมคิดใช้เครื่องจักรมา 3-4 ปี ไปติดต่อเด็กวิทยาลัยการอาชีพจอมทอง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ให้เขาเข้ามาดูแล้วก็ทำไม่ได้
ผมมีลูกคนเดียวเรียนวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผมให้อาจารย์มศว. มาที่โรงงานปี 2558 ออกแบบผลิตเครื่องเสียบหมูปิ้งให้ ผ่านมา 2 ปีแล้วก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ หรือแม้แต่บริษัท ศรีพิพัฒน์เอ็นจิเนียริ่ง ทำเครื่องจักรให้กับเจ้าใหญ่ๆ เข้ามาพบผม ก็ยังไม่มีการติดต่อกลับมา”
เจ้าของธุรกิจหมูปิ้งนมสด แสนไม้ต่อวัน โชว์คลิปการไปจ้างผลิตเครื่องจักรเสียบหมูปิ้ง หมดเงินไปกว่า 3 แสนบาท พอใช้งานจริงกลับพบว่า เครื่องจักรทำงานช้ากว่าแรงงานคนถึง 5 เท่า เพราะต้องเอาคนมาจับหมู มาวางหมู
“ผมจะใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนได้ ก็ต่อเมื่อผมเปลี่ยนรูปแบบหมูปิ้ง ต้องเป็นชิ้น หรือลูก ให้เหมือนลูกชิ้นถึงทำได้ แต่หากยังใช้ภูมิปัญญาไทย หั่นหมูบางๆ และเสียบด้วยไม้แบบนี้ เครื่องจักรยังทำไม่ได้”
ส่วน “ไม้เสียบ” หมูปิ้ง โรงงานแห่งนี้ ใช้ไม้เสียบหมูปิ้งเดือนละไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านอัน หรือคิดเป็นเงินหลายแสนบาท ทุกๆ ปีประสบการณ์ปัญหาหน้าฝนไม้จะขาดตลาด ต้องสู้รบตบมือกับการแย่งชิงไม้มาเสียบหมู
เขาตัดสินใจเด็ดขาด ลงทุน 3 ล้านบาทตั้งโรงงานไผ่สร้างสรรค์ สั่งไม้จากลำปาง ตัวโรงงานอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ผลิตไม้เสียบหมูใช้ได้เองแล้ว
และเร็วๆ เฮียนพ บอกว่า เขาคิดขายสินค้าออนไลน์ ส่งของทางไปรษณีย์ โดยต้องเป็นสินค้าที่ “เก็บไว้ได้นาน ส่งขายได้ง่าย ราคาไม่แพง” นั่นก็คือ หมูสวรรค์ และหมูแดดเดียว ตอบสนองให้ผู้บริโภคที่อยู่ไกลๆ
สุดท้าย เขายังคาดการณ์ คนไทยบริโภคหมูปิ้งต่อวันไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนไม้ พร้อมกับตอบคำถามทิ้งท้าย ทำไมถึงต้องกินหมูเฮียนพ ?
“เราบอกทุกที่ หมูเฮียนพ ไม่ได้วิเศษวิโส หมูปิ้งก็คือหมูปิ้ง แต่การกินหมูปิ้งเฮียนพ โรงงานเราผ่านการตรวจสอบ มีอย. มีGMP หมูเราใช้จากจากเบทาโก และวีซีฟู้ดส์ วันละ 4-5 ตัน ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งของเมืองไทย เครื่องปรุง ซอส ซีอิ้ว เราใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอย.ทั้งหมด คุณจะกินหมูปิ้งป้าปากซอยก็ไม่ผิด สะอาดมากป้าซื้อหมูมาล้าง มาหั่นสะอาดมาก แต่ป้าไม่เคยรู้เลยว่า หมูที่ซื้อมานั้นใส่สารบอแรกซ์ หรือใส่สารเร่งเนื้อแดงหรือไม่ นี่คือความแตกต่างหมูปิ้งป้าปากซอยขายกับหมูเฮียนพ”
และนี่คือเรื่องการตรวจสอบคุณภาพ ที่เจ้าของโรงงานหมูปิ้งเจ้าแรกของเมืองไทย มีอย.การันตี...