ป้องเกิดปัญหาต่อ รบ.ในอนาคต!สตง.ชงซ้ำ กสทช.ขอข้อมูลเน็ตความเร็วสูงชายขอบ2หมื่นล.
สตง. ส่งหนังสือซ้ำสอง! ขีดเส้น กสทช. ส่งข้อมูลรายละเอียดโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงชุมชน-โรงเรียนพื้นที่ชายขอบ 2 หมื่นล้าน ให้ตรวจสอบด่วน เร็วสุด 4 ก.ย. แต่ไม่เกิน 11 ก.ย. หลังพบอาจมีบางประเด็นก่อปัญหาได้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ป้องปัญหาต่อ รบ. ในอนาคต
จากกรณีช่วงปลายเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ‘ดีอี’ (นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์) และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้คำนึงถึงผลกระทบโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนของ Zone C+ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ซึ่งจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ ที่ใช้เงินจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการ ตามแผนการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม พ.ศ.2555-2559 วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อาจก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินงานในอนาคต
อย่างไรก็ดีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ทำหนังสือชี้แจงกรณีดังกล่าวถึงผู้ว่า สตง. แล้ว สรุปได้ว่า โครงการดังกล่าวปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี และไม่มีปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อน และการคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าไปจัดทำแต่อย่างใด และ กสทช. ไม่มีอำนจมอบหมายงานภารกิจให้ผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่งไปยังผู้รับใบอนุญาตอีกรายหนึ่งให้ดำเนินการแทนโดยตรงได้นั้น (อ่านประกอบ : ทำตามมติครม.แล้ว! 'ฐากร' แจงปมโครงการเน็ตความเร็วสูงพื้นที่ชายขอบ2หมื่นล., อาจมีปัญหาในอนาคต! สตง.ชง รมว.ดีอี-กสทช. ทำโครงการเน็ตความเร็วสูง2หมื่นล.รอบคอบ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา สตง. ทำหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. (นายฐากร) อีกครั้งหนึ่ง เรื่องการดำเนินโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ชายขอบ โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดทำความเห็นต่อไป
หนังสือดังกล่าว สรุปได้ว่า ข้อมูลการพิจารณาและการคำนวณอัตราค่าบริการที่จะให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บจากประชาชนตามที่ กสทช. ได้ชี้แจงไว้ว่ามีวิธีคิดอย่างไร ต้อนทุนต่อหน่วย (ความเร็ว) ของแต่ละครัวเรือนเป็นอย่างไร รวมถึงข้อตกลงเรื่องราคากับผู้ชนะการประกวดราคา สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความเร็ว 30 Mbps ที่กำหนดว่าจะต้องลดลงจาก 599 บาท/เดือน เหลือประมาณไม่เกิน 200 บาท/เดือน หากดำเนินการแล้ว ขอให้จัดส่งสำเนาหนังสือข้อตกลงหรือหนังสือที่ผู้ให้บริการให้การรับรองว่าจะให้บริการในอัตราไม่เกิน 200 บาท/เดือน นอกจากนี้ การพิจารณาอัตราค่าบริการดังกล่าว มีการพิจารณาร่วมกันกับกระทรวงดีอีเพื่อกำหนดอัตราค่าบริการให้สอดคล้องกับการกำหนดอัตราค่าบริการโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่
ทั้งนี้ที่ กสทช. ยืนยันว่า การดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบหลักการโครงการดังกล่าว โดยให้กระทรวงดีอี บูรณาการดำเนินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาให้เกิดความสอดคล้องเชื่อมโยงไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอื่น ๆ เช่น โครงการ USO (โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม) ของ กสทช. นั้น จากการตรวจสอบรายงานการประชุมของคณะทำงานชุดดังกล่าว สตง. ไม่พบการกล่าวถึงการนำข้อมูลโครงการ USO ที่ดำเนินการแล้ว มาพิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด จึงขอให้ กสทช. ส่งข้อมูลหมู่บ้านและจุดติดตั้งอินเทอร์เน็ตชุมชุม และอินเทอร์เน็ตโรงเรียนที่ดำเนินการในโครงการ USO 2 ส่งให้ สตง. พิจารณา
หนังสือจาก สตง. ระบุอีกว่า กรณี กสทช. กำหนดรูปแบบการดำเนินโครงการใน TOR ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องดำเนินการจัดทำโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตั้งแต่ NBTC Node ถึงจุดที่จัดให้มีบริการศูนย์ USC Net และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ผู้ให้บริการกรายใดต้องเข้ามาดำเนินการจะต้องมีการลงทุนสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงของตนเองหรือของผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งมายัง NBTC Node ด้วยเงินลงทุนของผู้ให้บริการเองนั้น กสทช. พิจารณาว่า กรณีดังกล่าวอาจส่งผลให้โครงข่ายแกนหลักของภาคเอกชนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายแกนหลักของชาติหรือไม่ เนื่องจากเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ 5 ปี กสทช. จะต้องส่งมอบทรัพย์สินโครงข่ายท้องถิ่นให้กับกระทรวงดีอี ในขณะที่โครงข่ายท้องถิ่นที่ส่งมอบต้องถูกให้บริการผ่านโครงข่ายของภาคเอกชน สตง. จึงขอทราบว่า สำนักงาน กสทช. มีการชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงดังกล่าวให้หน่วยงานกำกับดูแล เช่น กระทรวงดีอี รวมทั้งคณะรัฐมนตรีทราบเงื่อนไขดังกล่าวแล้วหรือไม่ และมีผลการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร
ส่วนเหตุที่ กสทช. อนุมัติดำเนินโครงการ USO ต่อไปได้จากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาและดำเนินการของ สตง. เพื่อให้ทราบเจตนารมณ์และข้อมูลต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ดี สตง. มีความตระหนักถึงความจำเป็นที่รัฐต้องเร่งการดำเนินงานในเรื่องการรสร้างโอกาสทางการสื่อสารและการส่งผ่านข้อมูลในระบบโครงข่ายใยแก้วนำแสงและระบบใด ๆ ให้กับทุกหมู่บ้านในประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตของชาติ รวมทั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่การดำเนินโครงการต้องมีความถูกต้อง มีข้อมูลประกอบการพิจารณาให้กับผู้เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อรัฐบาลในอนาคต หรือเกิดภาระงบประมาณที่ไม่สมควรเกิดขึ้นหากมีการจัดการด้วยความรอบคอบแต่ต้น
“จึงเรียนมาเพื่อให้สำนักงาน กสทช. ทราบถึงการติดตามตรวจสอบโครงการนี้เบื้องต้น เพื่อประกอบการพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อไป และการส่งข้อมูลประกอบการตรวจสอบเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้น ขอให้ กสทช. ส่งข้อมูลดังกล่าวที่เคยมีการพิจารณาแล้วให้ สตง. ภายในวันที่ 4 ก.ย. 2560 และข้อมูลอื่น ๆ ไม่เกินวันที่ 11 ก.ย. 2560” หนังสือ สตง. ระบุ (ดูเอกสารประกอบ)