"การเมือง" และ "กลุ่มอิสลาม" ในประเทศอินโดนีเซีย
การรวมกลุ่มกันเป็น "ประชาคมอาเซียน" ของชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะเริ่มเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมก่อนใน "ขาเศรษฐกิจ" (เออีซี) แต่การเรียนรู้เพื่อนบ้านของเราในทุกมิติก็เป็นสิ่งจำเป็น
เพราะถึงที่สุดแล้วก็ต้องร่วมกันแทบทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคง
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "พี่ใหญ่" ของอาเซียน เพราะมีประชากรมากถึงกว่า 200 ล้านคน และการเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพ ขณะที่อีกด้านอินโดนีเซียก็เป็นประเทศมุสลิม และติดเชื้อก่อการร้ายจากกลุ่มไอเอส (รัฐอิสลาม) ที่แพร่ระบาดไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก
ผศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ ([email protected]) จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องอินโดนีเซียและประชาธิปไตย ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับทิศทางการเมืองใหม่ๆ ของอินโดนีเซียเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการเติบโตของการเมืองที่อิงกับศาสนา ท่ามกลางกระแสอิสลามไมเซชั่นที่กำลังมาแรง...
"ที่ผ่านมา ประเทศอินโดนีเซียได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านการพัฒนาประชาธิปไตยว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากประชาชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มที่ ทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น พรรคการเมืองสามารถแข่งขันในการเลือกตั้งได้อย่างอิสระ และมีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง
นอกจากนี้องค์กรตรวจสอบการเลือกตั้ง และการทุจริตคอร์รัปชั่นก็ยังมีบทบาทหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจสอบการเลือกตั้ง และการปฏิบัติงานของภาครัฐ แต่ในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อ พ.ศ.2014 ที่ผ่านมา การเมืองของประเทศอินโดนีเซียมีการเปลี่ยนแปลง อันทำให้หลายภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ วงวิชาการ และประชาชนทั่วไปเกรงว่ารูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศอาจเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เนื่องจากบทบาทของศาสนาอิสลามที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองของประเทศอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงต้นปีที่ผ่านมาในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ต้า
ความจริงแล้ว แนวคิดจากศาสนาอิสลามเองนั้นมีบทบาทในการเมือง และพรรคการเมืองของประเทศอินโดนีเซียอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังจากประเทศได้รับเอกราช แต่หลังจากประธานาธิบดีซูฮาร์โต้หมดอำนาจลง พรรคการเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของศาสนาอิสลามต่างอ่อนแรงลง และมีพรรคการเมืองใหม่ๆที่มีแนวคิดประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตกซึ่งไม่ได้อิงกับหลักคิดตามศาสนา ก่อตัวขึ้นเป็นจำนวนมาก พรรคการเมืองเหล่านี้ยังชนะการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องอีกด้วย อาทิเช่น พรรคการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแห่งอินโดนีเซีย (PDI-P) และ พรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) เป็นต้น
บทบาทของศาสนาอิสลามในการเมืองอินโดนีเซียกลับเข้ามามีอิทธิพลอีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ.2014 เมื่อ นายพล พลาโบโว สุรเบียงโต้ ได้พยายามผลักดันแนวคิดทางการเมืองที่อิงกับหลักคำสอนในศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะการนำกฎหมายชะรีอะฮ์ (Sharia หรือ Shari'ah) กลับมาใช้ในอินโดนีเซีย มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนั้น แนวคิดดังกล่าวได้เรียกคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนชาวอินโดนีเซียที่เป็นชาวมุสลิมได้อย่างดีแก่ นายพล พลาโบโว อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งครั้งนั้น นายพล พลาโบโว แพ้การเลือกตั้งให้กับ นายโจโก วิโดโด
แต่บทบาทของแนวคิดทางการเมืองโดยอิงหลักศาสนาอิสลามได้เข้ามามีอิทธิพลในการเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ต้า (Jakarta Governor) ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งสำคัญระหว่าง นายอานิส บาสวาดี (Anies Baswedan) และ นาย บาซูกิ ชาฮาจา ปูร์นามา (Basuki Tjahaja Purnama) หรือที่ชาวอินโดนีเซียรู้จักกันในนาม อาฮอก (Ahok) การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยผู้สนับสนุนนายอานิส ได้นำแนวคิดและบทบาทของศาสนาอิสลามในประเทศอินโดนีเซียมาเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อสู่ จนส่งผลให้อานิส ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ผ่านมา
กลุ่มคลั่งศาสนาที่มีบทบาทอย่างมากในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนั้น คือ กลุ่ม Islamic Defenders Front (FPI) โดยการนำของ นายริซิก ชิฮาบ (Rizieq Shihab) กลุ่ม FPI มีแนวคิดแบบมุสลิมหัวรุนแรง โดยนิยมความรุนแรง และยังต้องการให้ประเทศอินโดนีเซียบังคับใช้กฎหมายอิสลามทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดต่อต้านตะวันตก และระบบทุนนิยม ที่กลุ่มนี้มองว่าจะเข้ามาทำลายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวอินโดนีเซียที่นับถือศาสนาอิสลาม
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม FPI ได้ปฏิบัติการด้วยความรุนแรงหลายครั้งเพื่อต่อต้านตะวันตก อาทิเช่น คุกคาม และชุมนุมประท้วงบริษัทเพลย์บอย (playboy) ที่ตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ต้า โจมตีโรงแรม และสถานบันเทิงที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จนผู้นำของกลุ่มถูกจับและถูกจำคุก ทั้งยังชุมนุมต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หน้าสถานทูตสหรัฐประจำกรุงจาการ์ต้า ที่ส่งทหารเข้าไปทำสงครามกับกลุ่มตาลีบัน ในประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อ พ.ศ.2544 ด้วย
กลุ่ม FPI ได้รับการจับตามองอีกครั้ง เมื่อมีบทบาทสำคัญในการประท้วงต่อต้าน นายอาฮอก ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ต้าช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจาก นายอาฮอก ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการหาเสียงที่เมือง Kepulauan Seribu โดยมีเนื้อหาในทางลบต่อคำภีร์อัลกุรอาน จนกลุ่ม FPI ได้ยกขึ้นมาประเด็นเพื่อปลุกระดมประชาชนชาวมุสลิมให้ลุกฮือเพื่อประท้วงนายอาฮอก ประกอบกับนายอาฮอกเองเป็นชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน และนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวอินโดนีเซียบางส่วนที่นับถือศาสนาอิสลามด้วย จึงก่อให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวางทั่วกรุงจาการ์ต้าอยู่หลายครั้ง
กลุ่ม FPI ยังได้ประกาศตัวชัดเจนในการสนับสนุนนายอานิส คู่แข่งของนายอาฮอก และช่วยหาเสียงโดยเน้นย้ำถึงการรักษาแนวคิดอิสลามของประเทศ นอกจากนั้นยังใช้ความรุนแรง ขมขู่คุกคามผู้ที่ต่อต้านแนวคิดดังกล่าว แม้ว่า นายอานิส จะชนะการเลือกตั้งแล้ว กลุ่ม FPI ยังคงดำเนินแนวทางต่อต้านผู้เห็นต่างต่อไป ล่าสุด กลุ่ม FPI ได้บุกทำร้ายนักศึกษาอินโดนีเซียที่มีเชื้อสายจีน รวมทั้งนายแพทย์ในเมืองสุมาตรา เนื่องจากทั้งสองได้แสดงความคิดเห็นใน facebook อันเป็นการต่อต้านความรุนแรงของกลุ่ม FPI ว่าไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวกับหลักคำสอนในศาสนาอิสลาม
กลุ่ม FPI มีสมาชิกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดใช้ความรุนแรง จนเป็นที่กังวลของหลายฝ่าย ผู้นำทางการเมืองหลายท่านที่เคยให้การสนับสนุนกลุ่ม FPI อาทิเช่น นายพลพลาโบโว และนาย อานิส เอง ต้องออกมาบอกให้กลุ่ม FPI ตระหนักถึงความเป็นเอกภาพของประเทศเป็นสำคัญ และคงไว้ซึ่งการรักษาหลักปัจศีล ให้อยู่คู่กับการเมืองของประเทศต่อไป
แต่กลุ่ม FPI น่าจะยังคงมีบทบาทในการเมืองของประเทศอินโดนีเซียต่อไป เนื่องจากผู้นำทางการเมืองบางกลุ่มยังคงต้องการ FPI ให้ช่วยปลุกระดมฐานเสียงชาวอินโดนีเซียที่นับถือศาสนาอิสลามในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอยู่
-----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การชุมนุมประท้วงนายอาฮอก ของกลุ่ม FPI
ขอบคุณ : ภาพจาก Coconuts Jakarta https://coconuts.co/jakarta/news/thousands-fpi-members-protest-against-ahok-front-city-hall-today/