The Journey Journal: หมู่บ้านกลางน้ำ รากเหง้าบรูไน ความท้าทายบนวิถีโลกใบใหม่
The Journey Journal ตอนสุดท้ายกับส่องบรูไน สัปดาห์นี้ตั้งใจพาไปสำรวจ เวนิซตะวันออกที่ไม่ได้มีแค่สยามเท่านั้น จะชวนทุกคนได้ดู ชุมชนกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเรียกว่าใหญ่สุดในโลกเลยทีเดียว กับที่นี่ กัมปงอัยเยร Kampong Ayer หรือ ชุมชนน้ำ Water Village
ไปบรูไนทำไม ไม่เห็นมีอะไร นี่คือประโยคแรกที่เพื่อนทัก เมื่อผมพูดถึงแผนการเดินทางครั้งใหม่ ตอนนั้นผมเองก็ตอบไปว่า เพราะความไม่มีอะไรนี่แหละ ที่อยากลองไปให้เห็นกับตา
ผมกดจองตั๋วเครื่องบินไปบรูไนในคืนหนึ่งกลางเดือนเมษา ท่ามกลางความไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับประเทศนี้ นอกเหนือจาก มีน้ำมัน และมีเพื่อนสมัยไปแลกเปลี่ยนโครงการเรือเยาวชนฯ ผมใช้เวลา 6 วันในประเทศเล็กๆ แห่งนี้
แน่นอนเพื่อนๆ ก็ยังท้วงเหมือนเดิมว่า เที่ยวบรูไนวันเดียวก็หมดเเล้ว ไปอยู่ทำไมยาวๆ ก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆ กลับไป
เอาล่ะ เครื่องแลนดิ้งที่แผ่นดินสีทองนี้เรียบร้อยแล้ว หน้าที่ของผมไม่มีอะไรมากไปกว่า การล่องเหินไปตามที่เพื่อนชาวบรูไนวางแผนให้ จนกระทั่งมาสะดุดกับ สถานที่หนึ่งที่คิดในใจว่า นี่ไง เจอแหละความมีอะไรของบรูไน
กัมปงอัยเยร Kampong Ayer หรือ หมู่บ้านน้ำ Water Village หากจะแปลแบบตรงตัว
ถ้าผมเริ่มบันทึกด้วยประโยคหล่อๆ แบบ “วิถีชีวิตของคนในภูมิภาคอาเซียน ล้วนต่างคุ้นเคยกับการอยู่กับน้ำ” “น้ำคือสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษยชาติ” แบบนี้จะให้ความขลังมากขึ้นใช่ไหมครับ
แต่ผมอยากเริ่มง่ายๆ กว่านั้นเอาแค่ว่า หมู่บ้านน้ำ เรียกว่าแทบจะไม่มีในหัวเหมือนที่เคยบอกเพื่อนคนไทยไว้ก่อนมา
เชื่อว่าเราทุกคน คงเคยได้ยิน ประโยคคลาสสิคที่นิยามเมืองสยาม ว่าเป็นเวนิสตะวันออก ใช่เเล้วครับ ผมหลงคิดอย่างนั้นมาตั้งนานว่ามีแค่เมืองไทยเท่านั้นที่ถูกนิยามความงาม และลักษณะวิถีชีวิตแบบพึ่งพาสายน้ำโดยชาวยุโรป จนคล้ายเมือเวนิซ ที่อิตาลี
แต่ที่นี่ ที่กัมปงอัยเยร ก็ได้รับการนิยามแบบนี้เช่นกัน และที่น่าตลกคือเป็นชาวยุโรปอีกเช่นเดียวกันที่มอบนิยามนี้ให้
กัมปงอัยเยร ตั้งอยู่ในเขตเมืองหลวงบันดาร์ เสรีเบกาวัน บนแม่น้ำบรูไน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ผ่านทั้งพระราชวังของราชวงค์บรูไน ไหลออกไปสู่ทะเลแปซิฟิก มีประชากรอาศัยในหมู่บ้านกลางแม่น้ำแห่งนี้ราว 39,000 คน หรือ 10% ของประชากรบรูไนทั้งหมด จนได้รับขนานนามว่า เป็นหมู่บ้านกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
จากข้อมูลของ ศ.อับดุล อาซิส อาจารย์ด้านภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไน ระบุว่า หมู่บ้านน้ำแห่งนี้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าสำคัญแห่งหนึ่งของเกาะบอเนียวในยุคนั้น
หมู่บ้านน้ำมีมาราว 1300 ปีเเล้ว เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศบรูไนเลยก็ว่าได้ แล้วคนที่ให้นิยามสุดแสนจะโรแมนติก ที่ว่านี่คือ เวนิซแห่งตะวันออก คือ แอนโตนีโอ ปีกาเฟตต้า (Antonio Pigafetta ) ในช่วงปี 1521 เขาอธิบายในบันทึกครั้งที่มาเยือนที่แห่งนี้ว่า นี่คือเมืองที่สร้างอยู่บนน้ำเค็ม ยกเว้นบ้านของขุนนางและเหล่าราชวงค์
เมื่อก่อนบ้านทั้งหมดทำจากไม้ ซึ่งมีลักษณะแบบเดียวกับบ้านริมน้ำในบ้านเรา ที่มีเสาสูงเพียงแต่ว่าที่นี่ตัวบ้านและชุมชนทั้งหมดตัดขาดจากแผ่นดิน
เราอาจสงสัยกันว่า ผ่านเวลามากว่าพันปี แต่ทำไมที่นี่ยังคงอยู่ให้เห็น ว่ากันว่าตลอดหนึ่งพันปีที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้ที่หมู่บ้านแห่งนี้จะขยับย้ายอยู่ตลอดเวลา
มองไกลๆ หมู่บ้านนี้ดูไม่ต่างจากสลัม แต่หากได้ลองเข้าไปใกล้จะเห็นได้ถึงความงามทางสถาปัตยกรรมโบราณ ในบันทึกของ โอลิเวอร์ ฟาน น็อตต์ (Olivier van Noort ) ซึ่งเขาเขียนไว้ช่วงมาเยือนยังที่แห่งนี้ในเดือนธันวาคม ปี1600 ถึง มกราคม 1601 เขาบอกว่า บ้านเรือนในหมู่บ้านนี้ ถึงแม้จะมีความสวยงามแต่ด้วยกับการสร้างด้วยไม้เนื้อเบา หากมีพายุสักลูกหรือสิ่งที่แรงพอก็สามารถขยับหมู่บ้านนี้ให้ย้ายจะฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งได้เลย สะท้อนความเคลื่อนไหวผ่านเวลาของชุมชนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
(ภาพถ่ายทางอากาศ หมู่บ้านน้ำ: ขอบคุณภาพจาก Trip Advisor)
หมู่บ้านน้ำนี้ประกอบไปด้วยชุมชนย่อยๆ มากถึง 42 ชุมชน แบ่งเป็นฝั่ง A และ B แต่ละบ้าน แต่ละชุมชนเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินขนาดคนเดินสวนกันได้ความยาวรวม 36 กิโลเมตร ซึ่งทุกชุมชนจะมีตั้งแต่ มัสยิด ร้านอาหาร ร้านค้า โรงเรียน สถานพยาบาล รวมไปถึงสถานีตำรวจและสถานีดับเพลิง และตัวบ้านแต่ละหลัง ก็ไม่ต่างอะไรจากบ้านบนบก มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และครบครันเสียยิ่งกว่าที่คิดไว้คือ บางหลังมีเลี้ยงสัตว์อย่างไก่ หรือแม้กระทั่งปลูกต้นไม้ไว้ด้วย
(สถานีดับเพลิง)
(โรงเรียนประจำแต่ละหมู่บ้านในพื้นที่หมู่บ้านน้ำ)
การสัญจรไปมาของคนที่นี่ แน่นอนว่าที่นี่ไม่มีถนนสักเส้นเดียว (แน่ละเพราะตั้งอยู่กลางแม่น้ำ) ดังนั้นพาหนะหลักคือเรือ โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีท่าน้ำที่คนจะออกมารอเรือแท็กซี่ คล้ายๆ ป้ายรถเมล์ เพื่อโดยสารไปยังฝั่งตรงข้ามที่เป็นศูนย์ราชการ และตัวเมืองหลวง
(Jeti เป็นท่าน้ำสำหรับรอเรือแท็กซี่ ในแต่ชุมชนจะมีท่าเรือเป็นของตัวเอง)
แต่มาวันนี้ในวันที่บรูไนกลายเป็นประเทศร่ำรวยไปด้วยน้ำมัน และฐานเงินของประชากรก็จัดอยู่ในระดับสูง การพัฒนาพื้นที่ชุมชนน้ำ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งรัฐบาลบรูไนมีความพยายามมาโดยตลอด
ย้อนกลับไปในยุคสร้างชาติ ช่วงปี 1906 ที่อังกฤษยังมีอิทธิพลในแถบนี้ มีความพยายามในการชักชวนชุมชนในน้ำ ให้ขึ้นมาบนฝั่งตรงข้าม ที่ปัจจุบันคือที่ตั้งของเมืองหลวง นโยบายที่ดึงดูดคนออกจากพื้นที่กลับไม่ได้มีผลมากเท่าที่ควร
กระทั่งในปัจจุบัน รัฐบาลบรูไนโดยการนำของ สุลต่านฮาซานัน โบเกีย ได้นำร่องพัฒนาที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านน้ำในปี 2013-2014 ด้วยการสร้างบ้านรูปแบบใหม่ คล้ายบ้านจัดสรร คือเป็นบ้านคอนกรีต สองชั้น แต่ยังคงอยู่ในพื้นที่เดิม กลางน้ำ มีเสาสูง พร้อมกันนั้นได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้ปลอดภัย สะอาดมากขึ้น
โดยในตอนแรกที่เริ่มสร้าง ด้วยราคาจากเอกชน บ้านหนึ่งหลังตกอยู่ที่ 300,000 ดอลล่าร์บรูไนหรือราว 7 ล้านบาท กลายเป็นว่า คนดั้งเดิมไม่สามารถเอื้อมถึง ร้อนถึงท่านผู้นำที่ต้องมาช่วยอุ้มราคา ส่งผลให้ราคาลดลงเหลือที่ 90,000 ดอลล่าร์บรูไนหรือราว 2.5 ล้านบาทเท่านั้น แถมยังอนุญาตให้ผู้อาศัยผ่อนเป็นงวดๆ ได้ด้วย เพื่อนชาวบรูไนบอกว่า ราคาที่กล่าวมาถือว่าแพงกว่าราคาบ้านบนบกอยู่หลายเท่า แต่เมื่อรากเหง้าและวิถีชีวิตที่ผูกพันมากับสายน้ำ การพัฒนาดังกล่าวเรียกว่า วินวินกันทั้งสองฝ่าย คือทั้งรัฐที่ต้องการปรับปรุงพื้นที่ให้สะอาดและโมเดิร์นมากขึ้น กับฝั่งชาวบ้านที่ต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ยังสามารถใช้ชีวิตบนวิถีแบบเดิมได้ด้วยเช่นกัน
ระหว่างที่กำลังนั่งเรือชมหมู่บ้านโดยรอบ ผมหวนมาคิดถึงนิยามคลาสสิคที่ว่า “สยามเป็นเวนิซตะวันออก” พลางลองมองย้อนดูในนโยบายจัดการชุมชน พื้นที่ริมน้ำของไทยเราในวันนี้แล้ว ไม่แน่ใจว่าเรากำลังรักษารากเดิมของเราไว้ได้มากน้อยเพียงใด
และนี่ละมั้งที่อาจเป็นคำตอบว่า บรูไนมีอะไรอย่างน้อยก็สำหรับตัวผมเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
ส่องบรูไน ดูกิจกรรม'บันดาร์ กูเชอเรีย 'เปลี่ยนเมือง-ถนนให้เป็นของทุกคน
The Journey Journal: ส่องบรูไน ดูวิสัยทัศน์ในวันที่น้ำมันใกล้หมด