คนไข้โวย3รพ.ไม่รับรักษาเอ็นขาด รพ.บัตรทองปัดเครื่องมือไม่พร้อม
ญาติคนเจ็บถูกทำร้ายเอ็นขาดโวย ตระเวน 3 รพ.รัฐปฏิเสธรักษา รพ.บัตรทองปัดต่ออ้างเครื่องมือไม่พร้อม ต้องหิ้วไปรักษาเอกชนจ่าย 6 หมื่น ขณะที่มติ 3 กองทุนสุขภาพห้ามทุก รพ.ปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉิน เริ่ม 1 เม.ย.
จากการประชุมเชิงนโยบายลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพ(กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีข้อตกลงร่วมกันถึงสิทธิผู้ป่วยในการได้รับบริการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ในระบบกองทุนใด โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ทันท่วงทีจากทุกโรงพยาบาล โดยไม่มีการถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า และสามารถได้รับการดูแลจนกว่าอาการทุเลาและกลับบ้านได้ หรือส่งต่อผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่โรงพยาบาลที่อยู่ในระบบ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงพยาบาลภาครัฐทั้งในและนอกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศแล้ว โดยจะเริ่มใ้ช้ในวันที่ 1 เม.ย.55 นี้
นายนนทพรรธน์ ตั้งศิริกุลธร อายุ 35 ปี ชาวอำเภอไทรน้อย จ.นนทบุรี ผู้ปกครองนายพงษ์ดนัย ทองคล้าย อายุ 15 ปี นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านบางบัวทอง ได้เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้สิทธิบัตรทอง โดยระบุว่าเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. วันที่ 13 มี.ค.55 หลังเลิกเรียนนายพงษ์ดนัยถูกทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้ายพร้อมกับเพื่อนอีกหลายคน เบื้องต้นทางโรงเรียนได้นำตัวส่งโรงพยาบาลบางบัวทองแต่ทางโรงพยาบาลบอกว่าเป็นเคสใหญ่ ต้องผ่าตัดเพราะเส้นเอ็นขาด ให้นำตัวส่งต่อไปโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ญาติจึงขับรถนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าด้วยกัน 2 ราย รวมถึงนายพงษ์ดนัยด้วย
“เมื่อไปถึงต้องตกใจ เมื่อทางโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าบอกว่าสิทธิบัตรทองของผู้ป่วยขึ้นอยู่ที่โรงพยาบาลชลประทานเจ้าหน้าที่บอกให้ไปหาที่นั่น แต่ตนได้ชี้แจงและขอร้องว่าจะไม่ใช้สิทธิแต่จะขอออกค่ารักษาพยาบาลเอง แต่กลับถูกทางโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าปฏิเสธว่าเตียงเต็ม ขณะที่คนเจ็บอีกรายกลับได้รับการรักษาที่นั่น”
นายนนทพรรธน์ กล่าวต่อว่า จากนั้นตนจึงขับรถนำตัวคนเจ็บส่งโรงพยาบาลชลประทานในเวลาประมาณ 20.00 น.ซึ่งทางโรงพยาบาลชลประทานบอกว่าสิทธิของผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลปากเกร็ดต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลปากเกร็ดตนขอไม่ใช้สิทธิบัตรทองจะออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ทางโรงพยาบาลกลับบอกว่าถึงได้นอนแต่ไม่รู้ว่าจะได้รักษาหรือเปล่าจากนั้นตนจึงขับรถพาคนเจ็บไปที่โรงพยาบาลปากเกร็ดในเวลาประมาณ 22.00 น.
“ทางโรงพยาบาลปากเกร็ดรับตัวคนเจ็บไว้ กระทั่งเวลาประมาณ 10.00 น.ของวันที่ 14 มี.ค. จึงแจ้งว่าไม่สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากไม่พร้อม และแจ้งว่าคนเจ็บมีโรคประจำตัวคือโรคหอบเกรงจะเกิดอันตรายแทรกซ้อน จึงจะประสานงานติดต่อโรงพยาบาลที่ 5 ที่มีเครื่องมือพร้อมกว่า แต่ผมรอไม่ได้แล้วจึงนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลเกษมราษฎร์จนได้รับการผ่าตัดเวลาประมาณ 18.00 น. รวมแล้วเป็นเวลากว่า 25 ชั่วโมงที่ไม่ได้รับการรักษา ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลที่เกษมราษฎร์ประมาณ 60,000 กว่าบาทจากประเมินเบื้องต้น 90,000 บาท ซึ่งตลอดเวลาที่ตระเวนพาคนเจ็บรักษา โรงพยาบาลไม่มีสายคล้องแขนให้เราต้องประคองแขนคนเจ็บหอบหิ้วกันไปเองตามยถากรรมอย่างน่าเวทนา”
นอกจากนี้ นายนนทพรรธน์ กล่าวอีกว่า ขอร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนผ่านไปยังผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้มีอำนาจให้ความเป็นธรรม สั่งการให้สถานพยาบาลทั้งที่เป็นของรัฐจะอยู่ในโครงการบัตรทองหรือไม่ให้ความใส่ใจกับผู้ป่วยให้มากขึ้น เพราะเข้าใจว่ามีหลายคนที่เจอกรณีแบบนี้แต่ไม่ออกมาร้องเรียน ทางญาติไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหาย แต่อยากให้เป็นตัวอย่าง เป็นอุทาหรณ์ที่ประชาชนผู้เสียภาษีอากรให้รัฐกลับถูกปฏิบัติเหมือนไม่ใช่คนไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดต่อขอทราบข้อเท็จจริงจากสถานพยาบาลที่ถูกอ้างถึง ประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า อาการคนไข้ที่ถูกทำร้ายเข้ามาให้รักษา แพทย์มีความเห็นว่าเป็นอาการถือว่าไม่หนักมากนัก จึงแนะนำให้ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลชลประทานซึ่งระยะทางอยู่ไม่ไกลกัน และเป็นโรงพยาบาลต้นสังกัดสิทธิบัตรทอง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ส่วนญาติแจ้งความประสงค์จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยเงินสด ทางโรงพยาบาลปฏิเสธเพราะเตียงเต็ม
ขณะที่เจ้าหน้าที่แผนกโอพีดีโรงพยาบาลปากเกร็ดรายหนึ่ง กล่าวว่า การรักษาข้ามเขตสามารถทำได้ แต่ตนไม่ขอให้รายละเอียดเพราะเกรงจะกระทบกับตำแหน่งหน้าที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลชลประทาน กล่าวยอมรับว่า คนไข้ได้เข้ามาขอรับการรักษาที่โรงพยาบาลจริงแต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดใดๆ
ด้านพยาบาลหัวหน้าเวรโรงพยาบาลบางบัวทอง(ไม่เปิดเผยชื่อ) กล่าวว่า อาการคนเจ็บถูกฟันที่แขนแผลเปิดกว้างและกระดูกหัก เกินความสามารถที่จะให้การรักษาได้ ปกติโรงพยาบาลจะเปิดห้องผ่าตัดทั้งคืนประมาณ 3 วันอีก 4 วันจะไม่มีเวรผ่าตัดนอกเวลา ช่วงที่คนเจ็บเข้ามาขอรับการรักษา ทางโรงพยาบาลไม่มีเวรเปิดห้องผ่าตัด ไม่มีแพทย์พยาบาลจึงส่งต่อไปโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
ทั้งนี้นายแพทย์รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ทางการแพทย์แล้ว “กรณีฉุกเฉิน” หมายถึง “หากไม่ทำการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งทันทีคนไข้จะเสียชีวิต หรือมีผลเสียร้ายแรง” แต่กรณีเอ็นขาดไม่ถือว่าฉุกเฉิน ซึ่งตรงกับการสอบถามเจ้าหน้าที่ รพ.พระนั่งเกล้า ที่ระบุว่าเป็นอาการที่ไม่หนักมาก จึงแนะนำให้ไปรักษาที่ รพ.ตามสิทธิบัตรทอง แต่เจ้าหน้าที่ 2 รพ.ก่อนหน้านี้ไม่สามารถบอก รพ.ต้นสังกัดบัตรทองที่ถูกต้องให้คนไข้ได้ .