คสช.เตรียมออก กม.แปรรูปรัฐวิสาหกิจอำพรางยกเข่ง กินรวบหนักกว่ายุคทักษิณ?
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2560 สนช.รับหลักการร่างกฎหมายตั้งซูเปอร์บอร์ดและบรรษัทรัฐวิสาหกิจ โดยจะมีการนำรัฐวิสาหกิจจำนวน 11 แห่งที่มีสภาพเป็นบริษัททั้งที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วเช่น ปตท., การบินไทย, อสมท.เป็นต้น และรัฐวิสาหกิจที่ก.คลังยังถือหุ้น 100% (ยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์) เช่น TOT, CAT, ไปรษณีย์ไทย เป็นต้น
เมื่อจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแล้ว กระทรวงการคลังจะโอนหุ้นทั้งหมดในรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ให้กับบรรษัทรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ครอบครองแทน และบรรษัทฯจะออกใบหุ้นให้กระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีฐานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบรรษัทฯ
ในอนาคตเมื่อบรรษัทฯ ต้องการเพิ่มทุนในรัฐวิสาหกิจใด หากรัฐไม่สามารถเพิ่มทุนหรือไม่ต้องการเพิ่มทุนก็ต้องเปิดให้เอกชนมาถือหุ้นแทน ซึ่งคือกระบวนการแปรรูปอำพรางโดยที่คราวนี้ประชาชนจะคัดค้านเหมือนสมัยแปรรูปรัฐวิสาหกิจผ่านกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจไม่ได้อีกแล้ว เพราะเป็นการแปรรูปผ่านกระบวนการเพิ่มลดทุนในตลาดหลักทรัพย์ ใช่หรือไม่
หุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจก็ลดถูกลดสัดส่วนลงไปเรื่อยๆ จนรัฐวิสาหกิจอาจหมดสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจไปเลยโดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้
กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วกับธนาคารกรุงไทยที่บัดนี้หมดสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว เพราะปัจจุบันกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นในธนาคารกรุงไทยเกิน 50% ไปแล้ว
การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ของอดีตนายกฯ ทักษิณโดยไม่แบ่งแยกสาธารณสมบัติ ไม่แบ่งแยกอำนาจและสิทธิมหาชน ก็สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาลแล้ว จนศาลปกครองสูงสุดต้องมีคำสั่งให้แบ่งแยกสาธารณสมบัติคืนกระทรวงการคลัง และไม่ให้บมจ.ปตท.ใช้สิทธิและอำนาจมหาชนของรัฐอีก
มาคราวนี้รัฐบาลคสช.น่าจะหนักข้อกว่ารัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณใช่หรือไม่ ที่ถึงกับจะเอาบริษัทรัฐวิสาหกิจ 11 แห่งที่มีทรัพย์สินรวมกันมูลค่ามหาศาลประมาณ 6 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติ รวมทั้งอำนาจและสิทธิมหาชน เตรียมเปิดขายเหมาเข่ง เป็นกระบวนการผ่องถ่ายทรัพย์สินของรัฐให้เอกชนใช่หรือไม่
การจัดตั้งบรรษัทฯ และการรวบเอากรรมสิทธิ์ในหุ้นรัฐวิสาหกิจไปรวมศูนย์ไว้ในมือของบรรษัทฯ นั้น นอกจากมิได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศไทย และไม่สามารถพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้นแต่อย่างใดแล้ว บรรษัทฯยังสามารถจะใช้ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนกับนักธุรกิจในประเทศและในต่างประเทศได้ ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นจะต้องมีการถกเถียงในทางการเมืองเสียก่อน และจำเป็นจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบครบถ้วนโดยรัฐสภาเสียก่อน มิใช่ปล่อยให้สนช.ซึ่งเป็นสภาเสียงข้างเดียวที่แต่งตั้งมาโดยรัฐบาลคสช.มาตัดสินใจแทนคนไทยทั้งประเทศผู้เป็นเจ้าของสมบัติชาติที่แท้จริง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก posttoday.com