กันรพ.เอกชน แห่ออก ดร.ยงยุทธ แนะสปส.ดูเหมาจ่ายรายหัว-จุดคุ้มทุน
นักวิชาการด้านแรงงาน ชี้รพ.เอกชนถอนตัวจากประกันสังคม - บัตรทอง เหตุมองไม่คุ้มทุน ขณะที่ธุรกิจมีการแข่งขันกันสูง แนะสปส.ไปศึกษาสถานพยาบาลเอกชนขนาดกลาง ขนาดใหญ่ จุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน หรืออาจเพิ่มเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้ได้หรือไม่
จากกรณี สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออกมาเปิดเผยว่า ในปี 2561 มีสถานพยาบาลออกจากโครงการประกันสังคม จำนวน 3 แห่ง คือ รพ.ยันฮี ,รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์,รพ.ศรีระยอง จังหวัดระยอง โดยขณะนี้ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 รวมจำนวนกว่า 3 แสนคนเพื่อเลือกสถานพยาบาล ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นี้นั้น
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงประเด็นดังกล่าวเกิดจากปัญหาจำนวนผู้ประกันตน และรายจ่ายต่อหัวที่ได้จากสำนักงานประกันสังคม ไม่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับการปรับเปลี่ยนจับกลุ่มผู้มาใช้บริการระดับบน ( High-end)
"สถานพยาบาลเอกชน มองผลกำไร ไม่ได้มีเรื่องของการบริการสาธารณะ หรือบริการเพื่อสังคม ยิ่งหากไปดูตัวเลขเหมาจ่ายรายหัวของสำนักงานประกันสังคม เทียบกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ก็ถือว่า น้อยกว่า"
ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า สถานพยาบาลเอกชน รัฐไม่สามารถควบคุมได้ หากเขามองแล้วอยู่ในระบบประกันสังคมแล้วไม่คุ้ม เพราะต้องไม่ลืมว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีการแข่งขันกันสูง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ก็มีการได้เปรียบเสียเปรียบกัน ส่วนการจะให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวให้สถานพยาบาล ก็มีหลักคณิตศาสตร์ประกันในการคำนวนกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอยู่ จ่ายมากเกินไปกลายเป็นภาระระยะยาว
"ในอดีตเราเคยเข้าไปดูเรื่องการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชน เช่น ให้มีแผนกพิเศษสำหรับผู้ประกันตน ก็มีการจัดบริการให้แล้ว ส่วนการคิดคำนวนค่าใช้จ่ายรายหัวต้องไปศึกษา โรงพยาบาลขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ของภาคเอกชน จุดคุ้มค่าของเขาอยู่ตรงไหน สำนักงานประกันสังคมต้องเข้าไปดูด้วย ไม่ใช่คิดแต่เรื่องของความสมัครใจอย่างเดียว รวมถึงไปดูเงินในกองทุนประกันสังคมเกือบ 2 ล้านล้านบาทนั้น จะเพิ่มเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้ได้หรือไม่ เป็นต้น"
ทั้งนี้ในปี 2560 ตัวเลขล่าสุด มีโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมทั้งของรัฐและเอกชนจำนวนทั้งสิ้น 237 แห่ง ส่วนในปี 2561 จะมีโรงพยาบาลเอกชนออกจากระบบจำนวน 3 แห่ง และเข้ามาเพิ่มอีก 2 แห่ง รวมแล้วทั้งหมด 236 แห่ง ซึ่งสามารถให้บริการผู้ประกันตนจำนวนกว่า 12 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนของบัตรทอง มีโรงพยาบาลเอกชนถอนตัวจากการเป็นหน่วยบริการบัตรทอง ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมเหสักข์ ซึ่งขอลาออกจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และโรงพยาบาลอีก 4 แห่ง ที่แม้ไม่ได้ลาออกแต่ไม่รับเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อของคลินิคชุมชนอบอุ่นบางแห่ง เพื่อลดความแออัดการใช้บริการผู้ป่วยใน ได้แก่ โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา โรงพยาบาลวิภารามปากเกร็ด โรงพยาบาลบางนา 1 และโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป