เตือนผู้มีอำนาจข่มเหง!ส.ศิวรักษ์ เขียนถึง‘เนติวิทย์’หลังถูกปลดพ้น ปธ.สภานิสิตจุฬาฯ
“…ผมอยากจะเตือนว่าผู้มีอำนาจที่ปราศจากการุณยธรรม และไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มักสยบยอมกับผู้ที่มีอำนาจเหนือตน ดังผู้บริหารมหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งล้วนสยบยอมต่อ คสช. กันตามๆ แต่แล้วก็ใช้อำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงคนเล็กคนน้อย นิสิตนักศึกษาซึ่งควรจะได้รับความเอื้ออาทร…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักเขียน นักวิชาการอาวุโส โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sulak Sivaraksa ถึงกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปลดนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ออกจากการเป็นประธานสภานิสิตสามัญ จุฬาฯ
----
[ กรณีลงโทษเนติวิทย์ ]
ผมได้ข่าวการตัดสินเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เช้าวันนี้ที่ 1 กันยายน 2560 ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ ทั้งๆ ที่วันที่เนติวิทย์ไปให้การกับคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยตั้งมาสอบสวนเขานั้น เขาพูดจาฉะฉาน แสดงจุดยืนว่าเขาจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และดำเนินตามกรอบของประเพณีทุกประการ และการที่เขาก้มศีรษะคารวะพระบรมรูปนั้น ก็เป็นไปตามพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 5 ความข้อนี้ คณะกรรมการที่สอบสวนเขาไม่สงสัยอะไรเลย แม้จะเสียเวลาซักไซ้รายละเอียดอยู่มาก แต่ก็ไม่มีใครประณามว่าเขาทำผิด ยังอีกคดีหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันกับที่เขาสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของที่ กรรมการก็ไม่ได้ซักไซ้ไล่เรียงอะไร ที่จริง ผมเข้าไปในฐานะของผู้ปกครองของเนติวิทย์ ก็ได้พูดออกไปให้ปรากฏว่านี่เป็นเรื่องขี่ช้างจับตั๊กแตน ครูบาอาจารย์จำนวนมากมาเสียเวลากับเรื่องขี้ปะติ๋ว และผมเป็นคนเดียวที่เข้าไปร่วมฟังการสอบสวนเนติวิทย์ กับอาจารย์ที่เป็นตัวแทนของคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเนติวิทย์ จะขอให้ทนายเข้าไป เขาก็ไม่ยอม
เขาไม่ได้สอบสวนเลยว่าที่เนติวิทย์พูดกับชาวบ้านนั้นผิดถูกประการใด ที่จริง ผมควรจะบอกให้กรรมการเหล่านั้นทราบว่าการที่นิสิตเห็นอกเห็นใจชาวบ้านนั้นเป็นของดี นิสิตจะได้เรียนรู้ว่าชาวบ้านถูกรังแกหรือหาไม่ ที่ว่านี้ย่อมจะช่วยให้นิสิตแสวงหาความจริง โดยที่มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นสถาบันที่อุดหนุนเยาวชนให้แสวงหาความจริง ความงาม และความดี ควรจะเปิดโอกาสให้นิสิตคิด ทำ พูด ต่างๆ กันออกไป เพื่อความงอกงามทางสติปัญญา แต่การที่มหาวิทยาลัยลงโทษเนติวิทย์เช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นชัดว่า ผู้ที่มีอำนาจในมหาวิทยาลัยปราศจากคุณธรรม ถึงแม้จะเปิดโอกาสให้อุทธรณ์ ผมก็เชื่อว่าเนติวิทย์และเพื่อนๆ ของเขาที่ถูกลงโทษ ก็จะไม่ได้รับความยุติธรรมอยู่ดี
ผมอยากจะเตือนว่าผู้มีอำนาจที่ปราศจากการุณยธรรม และไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มักสยบยอมกับผู้ที่มีอำนาจเหนือตน ดังผู้บริหารมหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งล้วนสยบยอมต่อ คสช. กันตามๆ แต่แล้วก็ใช้อำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงคนเล็กคนน้อย นิสิตนักศึกษาซึ่งควรจะได้รับความเอื้ออาทร
ผมอยากจะเรียนให้ทราบว่า เมื่อ 50 ปีก่อน อาจารย์มหาวิทยาลัยในเยอรมนี ล้วนถือว่าตนเองเป็นคนสูงส่งยิ่งกว่าใครๆ และอาจารย์พวกนี้ไม่ก้มหัวให้กับนักการเมืองด้วย พร้อมกันนั้นพวกเขาก็ดูถูกนิสิตนักศึกษา จนนักศึกษารวมตัวกันประท้วง แต่แล้วพวกอาจารย์เหล่านี้ก็ยอมหันมาฟังคำของนิสิตนักศึกษา เหตุการณ์ดังที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นที่เมืองไทยไม่ได้หรือ อย่าลืมนะครับ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นได้ เพราะนิสิตนักศึกษาเป็นแกนนำจนทรราชย์ต้องหนีออกจากบ้านเมืองไป หรือใครๆ พากันเห็นว่า นิสิตนักศึกษาเวลานี้อ่อนแอ จนไม่กล้าหืออีกละหรือ
ผมขอเตือนนิสิตนักศึกษาว่าควรใช้ขันติธรรม ใช้อหิงสธรรม แต่ต้องไม่ยอมสยบให้ทรราชย์ในหรือนอกมหาวิทยาลัย
ส. ศิวรักษ์
1-9-60
อ่านประกอบ :
จุฬาฯ นัด 'เนติวิทย์' 4 ก.ย. สอบข้อมูลหลังปั่นป่วนพิธีถวายสัตย์
ปิดทางนั่งปธ.สภานิสิตใหม่!โชว์คำสั่งจุฬาฯปลด'เนติวิทย์'-หักความประพฤติ25คะแนน