ข้อเท็จจริงคดีสลายแดงปี’53 ศาลยกคำร้อง-ป.ป.ช.ตีตก ตายเฉียดร้อยศพเอาผิดใครไม่ได้?
“…ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากมวลชนหลายฝ่าย รวมถึงกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าว ที่บางรายสูญเสียสามี ภรรยา บุตร หรือเครือญาติ แม้จะได้รับการจ่ายเงินเยียวยาเป็นหลักแสนหรือหลักล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถทดแทนหนึ่งชีวิตที่สูญเสียไปได้อยู่ดี ขณะที่ ‘ใครบางคน’ ที่สั่งดำเนินการ และอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์คนตายเฉียดร้อยรายดังกล่าว ยังไม่สามารถนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้…”
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ศาลฎีกา ยกคำร้องฝ่ายพนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 ที่เป็นโจทก์ มีประชาชน 2 รายยื่นเป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กรณีถูกกล่าวหาว่า สั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553
โดยศาลฎีกา พิจารณาแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การสลายการชุมนุมปี 2553 มีบุคคลถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บจากการการสลายการชุมนุมดังกล่าว และนายอภิสิทธิ์ (จำเลยที่ 1) ได้ให้ ศอฉ. ควบคุมกำหนดแนวห้ามผ่าน และให้ใช้อาวุธปืนเท่าที่จำเป็น ส่วนนายสุเทพ (จำเลยที่ 2) ได้รับการแต่งตั้งจากนายอภิสิทธิ์ ให้เป็น ผอ.ศอฉ. มีการให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริง และพลแม่นปืน การออกคำสั่งขอให้สลายการชุมนุมดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิต และได้รับอันตราย
ตามคำฟ้องโจทก์ได้อ้างการออกคำสั่งดังกล่าวในขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ฟ้องส่วนตัว ทั้งนี้ตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย การกล่าวหาผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 250 (2) และ 275 ที่ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริง และสรุปผลพร้อมความเห็นการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 19 (2) มาตรา 66 วรรคหนึ่ง และมาตรา 70 เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (1) 10 11 และ 24 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557
ดังนั้นการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนแล้วสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องต่อศาลอาญานั้น ไม่เป็นไปตามกระบวนการและช่องทางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น ที่ชี้ขาดในประเด็นนี้ว่า การยื่นฟ้องดังกล่าวของพนักงานอัยการไม่สามารถทำได้ (อ้างอิงจากผู้จัดการออนไลน์)
สรุปให้เข้าใจง่ายคือ ข้อเท็จจริงปรากฏจากการคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้วว่า การสลายการชุมนุมดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บจริง
เพียงแต่ศาลฎีกาชี้ให้เห็นว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุชัดว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. เพียงองค์กรเดียว และต้องสรุปผลให้อัยการ หรือว่าส่งฟ้องเองไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น
ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่า ใครเป็นผู้สั่งสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตใจกลางเมืองหลวงของประเทศเฉียดร้อยศพ จึงยังไม่ปรากฏชัด
เผือกร้อนจึงถูกโยนกลับไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดก่อน ที่ ‘ตีตก’ ข้อกล่าวหาดังกล่าว ก่อนพ้นจากตำแหน่งเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ?
เพราะศาลฎีกา ชี้ให้เห็นแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. คือองค์กรเดียวที่สามารถไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้ได้
(รายชื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่ตีตกคดีดังกล่าว ได้แก่ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ นายภักดี โพธิศิริ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายวิชัย วิวิตเสวี นายปรีชา เลิศกมลมาศ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง นายณรงค์ รัฐอมฤต และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ปัจจุบันนายปานเทพ นายวิชา นายภักดี นายประสาท และนายวิชัย พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว)
สำหรับข้อกล่าวหาการสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มีการกล่าวหา 3 ราย ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ข้อกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ กรณีละเว้นไม่สั่งระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 แล้ว ศอฉ. ได้ทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัดปิดล้อมวงนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง โดยการปฏิบัติในวันที่ 14 พ.ค. 2553 เป็นการตั้งด่านอยู่กับที่ทุกแห่ง
แต่ในวันที่ 19 พ.ค. 2553 เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปควบคุมพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี โดยไม่ได้มีการผลักดันต่อผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์โดยตรง แต่เป็นการกดดันต่อกองกำลังติดอาวุธที่ยึดสวนลุมพินีอยู่ ซึ่งการปฏิบัติในการกระชับพื้นที่สวนลุมพินี เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยประกาศให้ผู้ชุมนุมออกไปจากพื้นที่ก่อน หลังจากประกาศแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเข้าไป
ดังนั้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าคนอื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปเช่นกัน
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้ให้เห็นว่า การชุมนุมของ นปช. ไม่ได้ชุมนุมตามสงบตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างคำพิพากษาของศาล จึงมีเหตุจำเป็นให้ ศอฉ. ใช้มาตรการขอคืนพื้นที่ โดยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ สถานการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ แต่เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ที่ต้องระมัดระวังในการใช้อาวุธ หากภายหลังพิสูจน์ว่า มีการใช้อาวุธโดยไม่สุจริต และเกินกว่าเหตุ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จะถือเป็นความผิดเฉพาะตัว เช่นเดียวกับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ที่ต้องรับผิดด้วย หากพิสูจน์ได้ว่า ไม่ระงับยับยั้งลูกน้องที่ใช้อาวุธดังกล่าวเกินกว่าเหตุ จึงส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินการสอบสวนกับบุคคลดังกล่าวที่ไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ต่อไป
สรุปให้เข้าใจง่ายคือ ป.ป.ช. พิจารณา 2 ประเด็น
หนึ่ง นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ สั่งสลายการชุมนุมโดยชอบหรือไม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้ว่า ทำโดยชอบแล้ว เพราะไม่ได้ผลักดันผู้ชุมนุมในการขอคืนพื้นที่ แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัด กดดันกองกำลังติดอาวุธ และประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่แล้ว จึงมีมมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
สอง แต่เห็นว่า การสลายการชุมนุมดังกล่าว แม้จะสามารถให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธได้ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง หากพบว่า มีการใช้เกินกว่าเหตุ จนทำให้มีคนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ถือเป็นความผิดเฉพาะตัว และหากพิสูจน์ได้ว่าผู้บังคับบัญชาในพื้นที่รู้เห็น ไม่ยับยั้ง ก็ผิดไปด้วย จึงมีมติส่งเรื่องให้ดีเอสไอสอบสวนประเด็นนี้ ยกเว้นผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย (อ่านประกอบ : 'มาร์ค-สุเทพ-บิ๊กป๊อก'รอด! คดีสลายแดง ป.ป.ช.ยันทำตามหลักสากล)
ประเด็นเหล่านี้ถูกเน้นย้ำขึ้นอีก ในช่วงที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. จำเลยคดีสลายพันธมิตรฯปี 2551 (ขณะนั้น) ทำเรื่องขอให้ ป.ป.ช. เปรียบเทียบคดีสลายพันธมิตรฯปี 2551 กับคดีสลายคนเสื้อแดงปี 2553 ในช่วงที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช.
โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์คดีของ ป.ป.ช. ยืนยันว่า คดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอน มีกฏหมายรองรับทั้งหมด ต่างจากการสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ ที่ไม่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ? (อ่านประกอบ : เบื้องหลัง! ค้าน ปธ.ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีสลายพธม.-ระวังซ้ำรอยชุดขึ้นเงินเดือน?)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เป็นหนึ่งในสื่อที่สนใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ใช้เหตุผลอะไรกันแน่ในการตีตกคดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ทั้งที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันเป็นเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนทั่วโลกรายงานด้วย จึงทำหนังสือเพื่อขอให้เปิดเผยสำนวนการไต่สวนดังกล่าว โดยใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 ประกอบระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการจัดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าตรวจดูเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่มีมติวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป พ.ศ.2558
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตอบกลับมาว่า ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 53 วรรคสอง และระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ข้อ 4 ได้กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไปได้ ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวขึ้นใช้บังคับจึงยังไม่สามารถให้เอกสารตามที่ร้องขอได้ ประกอบกับในเรื่องนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงข่าวถึงเหตุผลที่มีมติวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้สาธารณชนทราบแล้ว อีกทั้งได้เผยแพร่ข่าวดังกล่าวทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ด้วย (อ่านประกอบ : ยังไร้หลักเกณฑ์เปิดเผย! ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูลปมตีตกคดีสลายแดงปี’53)
ปัจจุบันสำนักข่าวอิศราอยู่ระหว่างอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอยู่ ต้องรอลุ้นกันว่าคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร จะยอมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยสำนวนการไต่สวนเรื่องนี้หรือไม่
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากมวลชนหลายฝ่าย รวมถึงกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าว ที่บางรายสูญเสียสามี ภรรยา บุตร หรือเครือญาติ แม้จะได้รับการจ่ายเงินเยียวยาเป็นหลักแสนหรือหลักล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถทดแทนหนึ่งชีวิตที่สูญเสียไปได้อยู่ดี ขณะที่ ‘ใครบางคน’ ที่สั่งดำเนินการ และอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์คนตายเฉียดร้อยรายดังกล่าว ยังไม่สามารถนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้
ความคืบหน้าล่าสุดกรณีนี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่ม นปช. เตรียมล่ารายชื่อประชาชนร่วมหลักล้านคน เพื่อขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รื้อข้อเท็จจริงกรณีนี้ขึ้นมาไต่สวนอีกครั้ง และหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังเล่นแง่ หรือยื้อเวลาออกไปอีก จะล่ารายชื่อ 2 หมื่นชื่อ ยื่นเรื่องให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ด้วย
ส่วน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีนี้ว่า เรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ หลังแกนนำ นปช. มีการยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนคดีนี้ใหม่ โดยเจ้าหน้าที่กำลังวิเคราะห์พยานหลักฐานที่มีการยื่นเข้ามาว่าเข้าเกณฑ์กฎหมายที่จะดำเนินการหรือไม่ ถ้าเป็นพยานหลักฐานใหม่ก็สามารถนำสำนวนดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้งได้
ท้ายสุด คนตายไม่ว่าจะเป็นฝั่งประชาชนบริสุทธิ์ มวลชนคนเสื้อแดง หรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม จะได้รับความยุติธรรมจากกรณีนี้หรือไม่
คงต้องติดตามผลกันต่อไป !
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก mthai