เตือนบทบาทไทยกรณี "โรฮิงญา" รับลูก "เมียนมา" เสี่ยงหลายมิติ
สถานการณ์ตึงเครียดในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ที่มีการสู้รบกันระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญา กับตำรวจ ทหาร แห่งรัฐบาลเมียนมานั้น มีความเกี่ยวข้องกับไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้านหนึ่งเป็นเพราะ หลังจากนี้จะมีผู้อพยพชาวโรฮิงญาทะลักเข้ามาในเขตไทยทั้งทางบกและทางทะเลอย่างแน่นอน
ขณะที่เมื่อ 2 วันก่อน (30 ส.ค.) พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และยังขอให้ไทยเรียกโรฮิงญาว่า "เบงกาลี" ซึ่งฝ่ายไทย โดย พล.อ.ประวิตร ก็แสดงท่าทีตอบรับ
ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องอ่อนไหว เพราะเมียนมากำลังเคลื่อนไหวล็อบบี้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้ขึ้นทะเบียนกลุ่มมุสลิมโรฮิงญาติดอาวุธ ที่ใช้ชื่อว่า Arakan Rohingya Salvation Army หรือ ARSA เป็นกลุ่มก่อการร้าย
ขณะที่เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว สภาท้องถิ่นรัฐฉานก็มีมติประกาศให้ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ 4 กลุ่มในรัฐฉาน ได้แก่ กองทัพคะฉิ่นอิสระ (KIA) กลุ่มตะอาง (TNLA) กลุ่มโกกั้งเมืองเลาไกง์ (MNDAA) และกองทัพอาระกัน (AA) เป็นองค์กรก่อการร้ายมาแล้ว
การเปลี่ยนชื่อเรียก "โรฮิงญา" ชนไร้รัฐในเมียนมาเป็น "เบงกาลี" สะท้อนนัยที่ซับซ้อนมากพอสมควร
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ จากศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า "เบงกาลี" หรือ "บังกาลี" เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกของอินเดีย ซึ่งก็คือประเทศบังคลาเทศในปัจจุบัน ที่ผ่านมาคนพม่ามองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในดินแดนที่โรฮิงญาอาศัยอยู่ คือ "รัฐอาระกัน" เดิม ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "รัฐยะไข่" นั้น ดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนของพม่า แต่คนเบงกาลีอพยพเข้ามาจำนวนมากในช่วงที่อังกฤษปกครองในยุคล่าอาณานิคม ในมุมมองของคนพม่ามองว่าคนเหล่านี้มากับกองทัพอังกฤษ เข้ามาอยุ่อาศัยโดยไม่ใช่เป็นคนพม่า และไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยของสหภาพเมียนมา เมื่อมีการรวมประเทศในเวลาต่อมา
แต่ในมุมมองของชาวโรฮิงญา มองว่าพวกเขามีความแตกต่างจากชาวบังกาลี ภาษาที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน และบรรพบุรุษของโรฮิงญาส่วนหนึ่งมาจากจิตตะกอง ส่วนหนึ่งก็อยู่ในดินแดนที่เรียกว่า "อาระกัน" อยู่มาหลายชั่วอายุคน และเป็นดินแดนของพวกเขาจริงๆ
สำหรับรัฐอาระกัน หรือรัฐยะไข่ อยู่ทางภาคตะวันตกของเมียนมา ด้านทิศเหนือมีพรมแดนติดกับบังคลาเทศ ส่วนทางตอนใต้ลงมาติดกับอ่าวเบงกอลที่เชื่อมต่อกับทะเลอันดามัน ฉะนั้นการอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาจึงเคลื่อนไปได้ทั้งทางพรมแดนบังคลาเทศ และทางทะเล
ดร.ศราวุฒิ สรุปในเบื้องต้นว่า เมื่อมุมมองของสองฝ่ายไม่เหมือนกัน พม่ามองว่าโรฮิงญาเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาในช่วงการปกครองของอังกฤษ แต่โรฮิงญาอ้างว่ามีรัฐอาระกันในอดีต แยกออกจากบังกาลี และเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมมานานแล้ว จึงถือเป็นมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่นำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลัง
แต่ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่น่าสนใจในมุมมองของ ดร.ศราวุฒิ ก็คือ การที่รัฐบาลเมียนมาเดินสายพบปะผู้นำประเทศต่างๆ และเรียกร้องให้ยูเอ็นขึ้นทะเบียนกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาเป็นองค์กรก่อการร้าย ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ถือว่ามีนัยสำคัญ
"ขณะนี้โลกกำลังเคลื่อนไหวเรื่องโรฮิงญาค่อนข้างมาก ไม่เหมือนในอดีต เพราะภาพที่เกิดขึ้นในยะไข่เป็นภาพที่น่าสลด ถือว่าโหดร้ายมาก ตอนนี้ประชาคมโลก รวมถึงประเทศต่างๆ ไม่สามารถละเลยหรือไม่ใส่ใจเหมือนในอดีตได้ ฉะนั้นเมียนมาจึงต้องทำอะไรสักอย่าง"
"ประเด็นโรฮิงญาเป็นประเด็นสำคัญมากของโลกมุสลิม ซึ่งขณะนี้อยู่ในยุคที่เรียกว่า อิสลามไมเซชั่น (islamization) คือกระแสเข้มข้นของอิสลามเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันทันด่วนในทุกพื้นที่ เพราะได้อานิสงส์จากโลกาภิวัตน์ ทำให้ประเด็นโรฮิงญากลายเป็นประเด็นสากล และโลกมุสลิมให้ความห่วงใยมากที่สุดในปัจจุบัน มากกว่าปัญหาปาเลสไตน์ แคชเมียร์ เสียอีก เพราะโรฮิงญาไม่มีโอกาสตั้งรัฐขึ้นใหม่ได้เลย ถือเป็นคนไร้รัฐ ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครองเลย อยู่ข้างใน (เมียนมา) ก็ถูกกดขี่ อยู่ข้างนอกก็ถูกเอาเปรียบจากขบวนการค้ามนุษย์"
นักวิชาการจากศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาฯ มองว่า บทบาทของไทยในปัญหาโรฮิงญา และสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ถือว่าอ่อนไหวอย่างยิ่ง
"ขณะนี้มาเลเซียมีจุดยืนชัดเจนมาก คือประณามรัฐบาลเมียนมา และเรียกร้องให้แก้ปัญหานี้โดยด่วน อินโดนีเซียกับบรูไนคงแสดงจุดยืนตามมา นั่นหมายความว่าประเทศไทยของเราต้องคำนึงถึงความเป็นจริง 2-3 ข้อ หนึ่ง คือเรื่องมนุษยธรรม เพราะข้อเท็จจริงอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ แม้พม่าจะบอกว่ามีผู้ก่อการร้าย หรือกลุ่มติดอาวุธที่บุกโจมตีตำรวจก่อน แต่การตอบโต้ของทางการพม่าก็ตรวจสอบได้ว่าเกินกว่าเหตุมาก ฉะนั้นไทยต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงเชิงมนุษยธรรม เราไม่สามารถโน้มเอียงเข้าหาพม่าได้"
"สอง ในภูมิภาคนี้ ต้องยอมรับว่ามีประเทศมุสลิมที่กำลังเรียกร้องปัญหาโรฮิงญาอย่างจริงจัง อย่างน้อยก็ 3 ประเทศ เราจะสร้างความสมดุลอย่างไรระหว่างการเอาใจพม่า กับอีก 3 ประเทศมุสลิมที่เหลือ เราจะตอบคำถามอย่างไรกับอีกกว่า 50 ประเทศมุสลิมทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับประเด็นโรฮิงญา ฉะนั้นประเทศไทยต้องคิดให้ดี เพราะเป็นเรื่องมนุษยธรรม และทั่วโลกก็เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน"
ดร.ศราวุฒิ ย้ำว่า ความเป็นภราดรภาพของโลกมุสลิม ให้ความสำคัญมากกับเรื่องนี้ โจทย์ของไทยคือจะสร้างสมดุลอย่างไร ระหว่างความสัมพันธ์ไทยกับเมียนมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโลกมุสลิมทั้งหมด และประเทศมุสลิมในภูมิภาคนี้ รวมถึงคำนึงถึงประชากรมุสลิมในไทยอีกหลายล้านคน และคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยว่าจะมีความรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลเมินเฉย หรือไปสนับสนุนประเด็นปัญหาในลักษณะละเมิดสิทธิ์อย่างรุนแรงในเมียนมา เหตุนี้เองหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงผู้เกี่ยวข้องต้องคิดให้หนัก
"ถ้าเราแสดงท่าทีไม่ดี จะสูญเสียพันธมิตรในโลกมุสลิม จะถูกวิจารณ์ ถูกตำหนิ ถูกยกระดับในเวทีโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรากของปัญหานี้เลย และต้องไม่ลืมว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีกลุ่มก่อความไม่สงบเคลื่อนไหวอยู่ เขาก็อาจใช้ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่อ้างความชอบธรรม หรือชี้ถึงความไม่มีความชอบธรรมของรัฐบาลไทย เพราะในสถานะของการเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ ต้องการเห็นจุดอ่อนของรัฐบาลในทุกเรื่องอยู่แล้ว เพื่อชี้นิ้วว่ารัฐบาลไทยสนับสนุนให้เกิดการฆ่าพี่น้องมุสลิมที่โรฮิงญา ฉะนั้นถ้าเราแสดงท่าทีไม่ดี เราจะเสียทุกอย่าง"
ดร.ศราวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า ย้อนกลับไปตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อรัฐอาระกันเป็นยะไข่ ถือเป็นความพยายามลบล้างประวัติศาสตร์ ถ้านำรายงานของยูเอ็น รวมถึงนักวิชาการตะวันตกมาพิจารณา จะพบว่าการกระทำลักษะนี้คือส่วนหนึ่งของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะขั้นตอนมีหลากหลาย แต่สิ่งสำคัญคือต้องลบล้างประวัติศาสร์ของคนกลุ่มนั้น การเรียกชื่อดินแดน เรียกชื่อชาติพันธุ์ คือความพยายามลบล้างประวัติศาสตร์ เป็นขั้นตอนหนึ่งของการล้างเผ่าพันธุ์
"ที่ผ่านมาตาลีบัน ไอเอส (กลุ่มรัฐอิสลาม) ก็พยายามหันมาเล่นประเด็นโรฮิงญา ถ้าเรากลับไปดูข่าว ย้อนไปดูข่าว กลุ่มตาลีบันเคยประกาศพร้อมต่อสู้กับโรฮิงญา ไอเอสตอนหลังก็พูดถึงปัญหาโรฮิงญาด้วย ฉะนั้นท่าทีของไทยที่โน้มเอียงเข้าข้างพม่า นอกจากไม่เป็นผลดีกับปัญหาภาคใต้ของเราแล้ว เรายังมีปัญหากับโลกมุสลิม ซึ่งไม่รู้จะมาในมิติอะไร และเสี่ยงกับประเด็นก่อการร้ายอีก"
ขณะที่แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง มองว่า การแสดงท่าที โดยเฉพาะการเรียกโรฮิงญาว่า "เบงกาลี" ถือว่าอ่อนไหว เพราะสิ่งที่เมียนมากำลังทำ คือการแสดงให้เห็นว่าคนโรฮิงญาไม่ใช่คนพม่า ไม่ใช่คนกลุ่มน้อย และไม่ใช่พลเมือง แต่มีนัยว่าคนพวกนี้เป็นคนที่อังกฤษนำมาจากบังกลาเทศ การแสดงท่าทีที่ไม่สมดุล ถือว่ามีความเสี่ยงและอาจส่งผลกระทบกับมิติความมั่นคงของชาติตามมา
-------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ขณะเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ขอบคุณ ภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย)
2 ดร.ศราวุฒิ อารีย์ (แฟ้มภาพอิศรา)
อ่านประกอบ : โรฮิงญา...จาก "อคติชาติพันธุ์" สู่ "เหยื่อค้ามนุษย์"