อปท. มีแต่เรื่องโกง...จริงหรือ?
ทุกวันนี้นักการเมืองและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวนมากถูกร้องเรียน ถูกสอบสวนหรือตั้งข้อทักท้วง โดย ป.ป.ช. และ สตง. จนหลายรายถูกตัดสินว่ามีความผิดต้องชดใช้หรือถูกเรียกเงินคืน รวมทั้งตกเป็นจำเลยขึ้นโรงขึ้นศาล
แต่มีคำถามว่ากรณีเหล่านั้นทั้งหมดเป็นการคอร์รัปชันใช่หรือไม่?
ด้วยบทบาทหน้าที่ทำให้ อปท. มีงบประมาณเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมากและยังมีอำนาจตามกฎหมายในการอนุญาตอนุมัติที่ให้คุณให้โทษกับประชาชนและพ่อค้านักธุรกิจในพื้นที่มากมาย
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินเรื่องร้องเรียนว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบเกิดขึ้น แต่หากพิจารณาจะพบว่าเรื่องเหล่านั้นมีพฤติกรรมและปัจจัยที่แตกต่างกัน โดยแบ่งได้ดังนี้
1. พฤติกรรมที่เป็นการคอร์รัปชันจริง
2. พฤติกรรมที่เป็นการทำผิดฐานประพฤติมิชอบหรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ จากการไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ หรือทำในสิ่งที่ไม่มีระเบียบรองรับ (ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก)
3. พฤติกรรมที่ถูกสอบสวนหรือตั้งข้อทักท้วง เหตุเพราะมีข้อขัดแย้งหรือ "มุมมองที่ต่างกัน" ในการตีความตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่ ระหว่าง อปท. กับ สตง. เช่น การใช้จ่ายเกินความจำเป็น ไม่ประหยัด ไม่คุ้มค่า ไม่เหมาะสม ไม่มีอำนาจ ผิดวัตถุประสงค์ เป็นต้น
4. พฤติกรรมที่ "ผิดกฎหมายในทางเทคนิคหรือความไม่สมบูรณ์ของกระบวนการทางกฎหมาย" เช่น กรณีการถ่ายโอนภารกิจ/อำนาจหน้าที่/ทรัพยากรระหว่างหน่วยงานยังไม่สมบูรณ์ และ การทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นของรัฐหรือ อปท. ในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นต้น
5. บางกรณีเป็นเพราะมาตรฐานการตีความที่ต่างกันของเจ้าหน้าที่ สตง. ในแต่ละพื้นที่
6. พฤติกรรมที่อาจมีหรือไม่มีเจตนาหาผลประโยชน์ส่วนตัวก็ได้ เช่น กรณีผู้บริหาร อปท. ต้องวิ่งเต้น เพื่อของบสนับสนุนจากกระทรวง หรือกรณีที่ต้องพึ่งพาหรือทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ที่มักมีการติดสินบนหรือมีค่าใช้จ่ายพิเศษจำนวนมาก
จากที่กล่าวมา จึงเห็นได้ว่า "ไม่ใช่ทุกกรณีที่เป็นการคอร์รัปชัน" เพราะมีหลายเรื่องเป็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย การตีความและความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก อปท.
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของ อปท. ให้สำเร็จจึงต้องทำความเข้าใจ และลงมือทำหลายอย่างไปพร้อมๆ กันครับ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ topicza