มพบ.ค้านขึ้นราคา ‘บีทีเอส’ เหตุสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการล่าช้า
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคค้านขึ้นราคาตั๋ว ‘รถไฟฟ้าบีทีเอส’ หลังพบผลกำไรผู้ให้บริการดีขึ้นต่อเนื่อง จี้ กทม.ทบทวน หวั่นซ้ำเติมค่าครองชีพสูง แนะสร้างลิฟต์ให้ครบทุกสถานีก่อนค่อยปรับขึ้น
วันที่ 31 ส.ค. 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดงานแถลงข่าวเรื่อง “ร่วมกันคัดค้านขึ้นราคาบีทีเอส” ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากรถไฟฟ้าบีทีเอสจะมีการประกาศปรับขึ้นราคาในส่วนเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร คือ สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต – สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร โดยเพิ่มจากเดิม 15 -42 บาท เป็น 16 - 44 บาท หลังจากไม่ได้ขึ้นค่าโดยสารมา 4 ปีแล้ว ส่งผลให้ตั๋วแบบรายเที่ยวต้องเพิ่มเงิน1-3บาท และตั๋วรายเดือน สำหรับบุคคลธรรมดาเพิ่มเงินเที่ยวละ 1 บาท ส่วนบัตรประเภทแรบบิทยังคงอัตราค่าโดยสารเท่าเดิม ทั้งนี้ จะเริ่มใช้อัตราค่าโดยสารใหม่นี้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป .
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยถึงเหตุผลในการออกมาคัดค้านครั้งนี้ โดยพิจารณาจากผลกำไรของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสกรุ๊ป ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ได้ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ล่าสุด พบว่า มีผลกำไรจากการดำเนินกิจการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2560/61 ปรับตัวดีขึ้น 100.2% จากปีก่อน เป็น 3110.3 ล้านบาท และมีรายได้จากระบบขนส่งมวลชนที่สูงมากถึง 196.9% ฉะนั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารแต่อย่างใด
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล พิจารณาทบทวนเหตุผลในการอนุมัติขึ้นราคาในครั้งนี้ เนื่องจากทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น โดยมีเอกสารอ้างอิงจากรายงานวิจัย เรื่องโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมของรถไฟฟ้า โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)เสนอต่อองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ภาคประชาชน)
ทั้งนี้ จากรายงานวิจัยพบว่า ราคารถไฟฟ้าในประเทศไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเทียบเป็นหน่วยต่อดอลล่าร์สหรัฐ พบว่าแพงกว่าราคารถไฟฟ้าในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสิงคโปร์ และส่วนใหญ่ประเทศเหล่านั้นคิดราคาตามระยะทางกิโลเมตร แต่ไทยคิดราคาตามสถานี
“ การคัดค้านในเรื่องนี้จึงต้องการเห็นการคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังเป็นระบบ เพราะในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าออกมาอีกหลายสาย และต้องการให้คิดราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เพราะจากงานวิจัยพบว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท แทบไม่มีโอกาสขึ้นรถไฟฟ้าเลย แม้จะอยู่หน้าบ้านตนเอง เพราะมีราคาแพง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ตามคำพิพากษาคดีแดงที่ อ.659/ 2557 เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2557 ที่ให้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการครบครัน หนึ่งในนั้น คือ ลิฟต์โดยสาร โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการพิพากษา ดังนั้นในการขึ้นราคา ขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ครบถ้วน เห็นว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะขึ้น ขอเรียกร้องให้พิจารณาให้ครบถ้วน .