สุกรี เจริญสุข ยื่นรมว.ศธ.ตรวจสอบตั้ง'นพ.บรรจง'เป็นอธิการบดีมหิดล
4 ประเด็นเรียกร้อง “สุกรี เจริญสุข” ยื่นนายกสภา-สกอ. ทบทวน ตรวจสอบการแต่งตั้ง ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ เป็นอธิการบดี ล่าสุดเดินทางไปศธ. เพื่อให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า วันที่ 30 สิงหาคม นายสุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา เพื่อให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยมหิดล ที่รับรองให้ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ เป็นอธิการบดี เพราะว่าเคยลาออกจากรองอธิการบดี 13 คน เมื่อเมษายนเพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์หลีกเลี่ยงการแสดงบัญชีทรัพย์สิน เมื่อกลับมาเป็นอธิการบดีใหม่ มีกระบวนการสรรหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเสนอให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยมหิดล
นายสุกรี กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ก่อนหน้าที่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ให้ทบทวนการแต่งตั้งศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ เป็นอธิการบดี ที่อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยมหิดลโดยมีเลขานุการของนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้รับเรื่อง และวันที่ 29 สิงหาคม ได้ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อให้ตรวจสอบการแต่งตั้งศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ เป็นอธิการบดี ที่อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาโดยมีเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้รับเรื่อง
ส่วนวันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2560 เวลา 08:00 น. ถึง 09:00 น. ประชาคมวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกร้องและวิงวอน เพื่อให้คณะกรรมการเปิดเผยรายชื่อของผู้สมัคร และผู้ที่ได้รับการเสนอ ชื่อเพื่อดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล หน้าหอแสดงดนตรีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับประเด็นร้องเรียน มีดังนี้
ประเด็นที่ 1
เจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่สุจริต
ในสมัยที่ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร เป็นอธิการบดี (27 กุมภาพันธ์ 2558 ถึง 31กรกฎาคม 2560) มีศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ เป็นรองอธิการบดี ในช่วงเวลาดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกประกาศเรื่อง กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 40 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการปราบปรามทุจริต (ฉบับที่2) พ.ศ.2554 (ฉบับที่5) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 เป็นต้นไป
ปรากฏว่า รองอธิการบดีทั้ง 13 คนในสมัยนั้น รวมถึงศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ซึ่งเป็นรองอธิการบดีอยู่ด้วย ได้ยื่นใบลาออกทั้ง 13 คน โดยให้เหตุผลว่า ไม่ประสงค์จะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ในการนี้ ทำให้เห็นว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ มีเจตนาที่จะม่ปฏิบัตตามกฎหมาย
ต่อมาศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีในสมัยนั้น ได้มีคำสั่งแต่งตั้งศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กลับมาเป็นรักษาการแทนรองอธิการบดีที่ดูแลรับผิดชอบงานในตำแหน่งเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงการยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายหาได้ยกเว้นผู้ใดแต่ประการใด แสดงให้เห็นถึงเจตนาไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยังทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียงและการยอมรับจากสังคมเป็นอย่างมาก
ประเด็นที่ 2
การได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดี
เมื่อศาสตราจารย์นายแพทย์บรรรจง มไหสวริยะ ได้รับการอนุมัติให้ลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี ต่อมาศาสตรจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร ในฐานะอธิการบดี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรรจง มไหสวริยะ ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนรองอธิการบดี ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการแทนมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2550 ทำให้เห็นได้ว่าเจตนาต่อต้านการใช้กฎหมายและนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน
โดยคิดว่าตำแหน่งรักษาการแทนไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย การกระทำดังกล่าวของศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ จึงไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ว่าขณะที่ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ( 27 กุมภาพันธ์ 2558 ถึง 31 มีนาคม 2560 ) และรักษาการแทนรองอธิบดี ( 1 เมษายน 2560 ถึง 31 กรกฎาคม 2560 ) อยู่นั้น มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติหรือไม่อย่างไร จึงหลีกเลี่ยงการยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ประเด็นที่ 3
การได้มาซึ่งตำแหน่งอธิการบดีของศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ เป็นไปโดยผิดกฎหมาย
ในระหว่างที่ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ในสมัยที่ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร เป็นอธิการบดี ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ได้ครบเกษียณอายุงาน (60 ปี) ในวันที่ 30 กันยายน 2559 และได้รับอนุมัติการต่อเวลาการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งประเภทผู้บริหาร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 26 กุมภาพันธ์ 2562 (หากครบวาระบริหาร)
เมื่อศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ได้รับการอนุมัติให้ลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 จึงผลทำให้พ้นจากการเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย แต่หากศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ประสงค์ของกลับไปปฏิบัติงานด้านวิชาการของส่วนงาน ก็ต้องดำเนินการตามข้อบังคับและประกาศของมหาวิทยาลัย แต่ไม่ปรากฎว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดในข้อบังคับและประกาศของมหาวิทยาลัย
มีเพียงรายงานการประชุมคณะกรรมการประจำส่วนงานคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในการประชุมครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ที่ระบุว่า คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแจ้งต่อที่ประชุมว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 และประสงค์ขอกลับปฏิบัติงานด้านวิชาการที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงขอให้รับรองการบรรจุศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ให้กลับมาปฏิบัติงานด้านวิชาการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีในขณะนั้นได้มีคำสั่งแต่งตั้งศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนรองอธิการบดี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ก่อนที่ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ จะยื่นความประสงค์ขอกลับไปปฏิบัติงานด้านวิชาการที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขั้นตอนการปฏิบัติ และขัดกับมติที่ประชุมคณะกรรมการประจำส่วนงานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
จากการที่มีคำสั่งแต่งตั้ง ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ข้างต้น โดยที่ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ มีเจตนาจงใจปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรบอกให้ผู้มีสิทธิเสนอชื่อว่า ตนเองมิได้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยประเภทผู้บริหารดังกล่าวที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับมีการแสดงให้ผู้มีสิทธิเสนอชื่อ เข้าใจได้ว่า ตนเองยังเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งผู้บริหารของมหาวิทยาลัยโดยถูกต้อง อันถือได้ว่า เรียกเอาประโยชน์ให้แก่ตนเองเพื่อให้ได้มาซึ่งการถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี ในฐานะพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งรักษารองอธิการบดี จึงเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่ 4 ความสง่างาม ด้านคุณธรรมสามัญสำนักและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและภูมิภาคอาเซียน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อันเชิญพระนามแห่งสมเด็นพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก "มหิดล" ให้เป็นนามของมหาวิทยาลัยมหิดล ดังนั้นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ควรจะต้องมีความสง่างามในการเข้ารับตำแหน่ง พร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนกระบวนการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งข้างต้นควรจะมีความโปร่งใส ไม่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นแบบอย่างและบรรทัดฐานที่ดีต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา โทรศัพท์ของสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง เพื่อชี้แจงรายละเอียด ซึ่งฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับเรื่องไว้ และจะติดต่อกลับภายหลัง