โทษปรับไม่เป็นผล! นักวิจัยพบเกินครึ่งลักลอบทิ้งกากอุตฯ อันตราย
กรมโรงงานฯ ประเมินไทยมีกากอุตฯ อันตราย 3.35 ล้านตัน/ปี เกินครึ่งลักลอบทิ้ง ไม่เข้าสู่ระบบรายงานข้อมูล นักวิจัยเสนอเพิ่มโทษจำคุก เผยปรับหลักหมื่นแก้ไม่ได้ เหตุผู้ประกอบการฝ่าฝืนคุ้มค่ากว่า แลกผลตอบแทนศก.
วันที่ 29 ส.ค. 2560 มูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงผลการศึกษาปัญหาการจัดการของเสียอุตสาหกรรม โดยระบุว่า ประเทศไทยมีโรงงานทั้งสิ้น 1.38 แสนแห่ง (ข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม สิ้นปี 2559) เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ที่ได้รับพิจารณาเป็นโรงงานก่อมลพิษ 7.77 หมื่นแห่ง ซึ่งรวมถึงโรงงานรับบำบัดและกำจัดของเสีย 1,962 แห่ง
ทั้งนี้ มีบริษัทรับบำบัดเพิ่มขึ้นเกือบ 2,000 แห่งทั่วประเทศ จากเดิมมีเพียง 1 แห่ง เมื่อ 20 ปีก่อน
ขณะที่การประเมินกากโรงงานอุตสาหกรรม หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมประเมินไว้ประเทศไทยมีกากอุตสาหกรรมอันตราย 3.35 ล้านตัน/ปี และกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย 50.3 ล้านตัน/ปี โดยมีการขออนุญาตนำออกจากโรงงานและแจ้งการขนส่ง (ข้อมูล ปี 2557)ในส่วนของกากอุตสาหกรรมอันตรายมีเพียงร้อยละ 31 หรือ 1.03 ล้านตันเท่านั้น และกากอุตสาหกรรมไม่อันตรายร้อยละ 24 หรือ 12.24 ล้านตัน ฉะนั้นจึงยังมีอีกจำนวนมากไม่เข้าสู่ระบบการรายงานข้อมูล
รศ.ดร.กอบกุล กล่าวถึงปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ยังมีอยู่เกิดขึ้นเพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยผู้ก่อกำเนิดไม่สนใจว่ากากปนเปื้อนของเสียเหล่านั้นมีอัตรายหรือไม่ และไม่สนใจที่จะรับไปกำจัดอย่างถูกต้อง รวมถึงมักเลือกผู้รับกำจัดที่เสนอราคาต่ำ ทำให้ก่อให้เกิดปัญหาตามมากับผู้รับกำจัดรายอื่นที่บริหารจัดการดี แต่ราคาสูง
ส่วนผู้รับบำบัดและกำจัดกากอุตสาหกรรม บางครั้งรับกากอุตสาหกรรมมาแล้วนำไปทิ้งในบ่อขยะชุมชนหรือโรงงานรีไซเคิลของเสีย ส่วนผู้ขนส่งมีรถไม่ปลอดภัย ไม่ได้รับใบอนุญาตก็จะขน โดยระบุเหตุผลที่ยังเกิดปัญหาเหล่านี้อยู่ เพราะกฎหมายบัญญัติบทลงโทษต่ำ ปัจจุบันกำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท ที่สำคัญยังเป็นความผิดที่เปรียบเทียบปรับได้ ทำให้มักกำหนดค่าปรับน้อยกว่าอัตราสูงสุด
“ค่าชำระค่าเปรียบเทียบปรับมักเป็นหลักหมื่น ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าคุ้มค่าที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะผลตอบแทนทางเศรษฐกิจด้านอื่นมีมากกว่า ดังนั้น การเปรียบเทียบปรับที่ต่ำมาก จึงไม่เหมาะสมกับสัดส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น”
หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ควรเพิ่มโทษจำคุกไปด้วย เพื่อให้อายุความยาวขึ้น และบัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจนเกี่ยวกับโทษต่ำสุด นอกเหนือจากเขียนโทษสูงสุดไว้แล้ว เพื่อไม่ให้มีการเปรียบเทียบปรับเพียงหลักหมื่น มิฉะนั้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ผู้ประกอบการจะยังคงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเมื่อฝ่าฝืนแล้วไม่ต้องขึ้นศาล ถูกเปรียบเทียบปรับเท่านั้น .