เปิดปูมที่มาการเรียกร้องค่าเสียหายจากเอกชนในคดีระบายข้าว จีทูจี
"กระทรวงพาณิชย์ได้ออกคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2542 ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำละเมิดได้แก่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นายภูมิ สาระผล และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 6 คน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วม 2 หมื่นล้านบาท จากการจงใจกระทำละเมิดให้ราชการเสียหายในโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไปแล้ว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง"
การเรียกร้องให้จำเลยที่ 7 ถึง 28 ที่เป็นเอกชนร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยจำนวน 28 คน ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีที่มาจากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้มีมติชี้มูลความผิด นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก และแจ้งให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการให้เอกชนซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 73/1 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสียหายชดใช้ค่าเสียหาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีอาญาผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในทางทรัพย์สินหรือเป็นการละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ
แต่เนื่องจากไม่เคยมีหน่วยงานของรัฐยื่นคำร้องขอให้เอกชนที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐชดใช้ค่าเสียหายต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่อัยการเป็นโจทก์มาก่อนเลย และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่เคยมีคำพิพากษาให้เอกชนที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐชดใช้ค่าเสียหายให้แก่หน่วยงานของรัฐมาก่อนด้วย
ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ผ่านมาเป็นการตัดสินลงโทษจำคุก ปรับ ให้ชดใช้เงินคืน ริบทรัพย์สิน ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตัดสิทธิทางการเมือง แต่ไม่เคยมีคำพิพากษาให้เอกชนที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย
กระทรวงพาณิชย์จึงได้หารือเรื่องนี้มายังสำนักงานอัยการสูงสุดว่า การเรียกค่าเสียหายจากเอกชนที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ เพื่อขอให้บังคับจำเลยที่เป็นเอกชนชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ได้หรือไม่ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอให้เอกชนที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ซึ่งทำให้ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน 2559 หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ราย เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 7 ถึง 28 ที่เป็นเอกชนร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
มีข้อกฎหมายที่น่าสนใจว่า หน่วยงานของรัฐดังกล่าวยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 7 ถึง 28 ที่เป็นเอกชนร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ได้ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 18 กำหนดว่า หากไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อใช้แก่การปฏิบัติงานของศาล ให้นำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับสำหรับคดีอาญาโดยอนุโลม จึงสามารถนำเอาบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ดังกล่าวมาใช้บังคับในคดีนี้ได้
นอกจากนี้ การที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและทำให้หน่วยงานของรัฐอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคสอง และทำให้คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐนี้กลายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “รูปคดีจึงกลายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีส่วนแพ่งตามกฎหมาย”
คดีนี้ศาลตัดสินให้จำเลยที่เป็นเอกชนบางรายชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง และเป็นคดีประวัติศาสตร์คดีแรกที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวางบรรทัดฐานให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนแพ่งจากเอกชนที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ได้ และพิพากษาให้จำเลยที่เป็นเอกชนชดใช้ค่าเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผลดีต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ไม่ต้องไปยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งต่างหาก และคำร้องขอให้เอกชนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 บัญญัติไว้ด้วย
มีข้อสังเกตว่า การเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีนี้ เป็นการเรียกเฉพาะค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดของเอกชนเท่านั้น ส่วนค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นไม่ได้มีการยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีด้วย เนื่องจากเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2542 และกระทรวงพาณิชย์ได้ออกคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2542 ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำละเมิดได้แก่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นายภูมิ สาระผล และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 6 คน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วม 2 หมื่นล้านบาท จากการจงใจกระทำละเมิดให้ราชการเสียหายในโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไปแล้ว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง