ครม.เห็นชอบมาตรการ ป.ป.ช.ป้องเอกชนให้สินบน จนท.รัฐ-ไม่เปิดข้อมูลบัญชีการเงินผิดด้วย
ครม. เห็นชอบมาตรการต่อต้านเอกชนให้สินบน จนท.รัฐ จาก ป.ป.ช. แล้ว เผยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการ กำหนดฐานความผิดให้ชัดรายใดไม่เปิดเผยบัญชี-ข้อมูลการเงิน-การบันทึกค่าใช้จ่ายทีไม่มีอยู่จริง ลดโทษคนสารภาพ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดทำมาตรการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยภาคเอกชน ให้แก่คณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ และเห็นชอบตามแนวทางดังกล่าว
สำหรับสาระสำคัญของมาตรการดังกล่าว สืบเนื่องจากที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 มีการเพิ่มเติมมาตรา 123/5 กำหนดฐานความผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคล ในกรณีที่ผู้เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลได้ให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการให้สินบนนั้น
เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 123/5 ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงาน ป.ป.ช. มีแนวทางเบื้องต้น ให้รัฐบาลมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย หรือมาตรการ เพื่อส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การกำหนดห้ามมิให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือเป็นรายจ่ายที่สามารถนำมาคำนวณกำไรสุทธิ (Tax Non-Deductibility)
การกำหนดฐานความผิดที่ชัดเจนสำหรับบริษัทที่ไม่มีมาตรการกำกับดูแลด้านการบัญชี และการบันทึกข้อมูล การเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน และมาตรฐานทางบัญชี และการตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้มีรายการไม่ลงบัญชี การบันทึกรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่มีอยู่จริง การใช้เอกสารปลอมเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเพื่อปกปิดการให้สินบนดังกล่าว และให้ลดโทษกับผู้ให้สินบนที่รับสารภาพว่ากระทำความผิด เป็นต้น
ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าวของ ป.ป.ช. แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับที่ 3 พ.ศ.2558 มาตรา 123/5 ระบุว่า ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทําไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทําการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีอํานาจหน้าที่ในการนั้นหรือไม่ก็ตาม (อ่านฉบับเต็ม ที่นี่)