วงจรปิด...ด้านมืดชายแดนใต้และระบบราชการไทย
นโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ปรับปรุงยกเครื่องกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ ซีซีทีวี ทั่วประเทศ นับเป็นหมุดหมายที่สำคัญของการพัฒนางานด้านความมั่นคงของประเทศ
เป้าหมายของนายกฯ สรุปง่ายๆ คือ 1.ให้ไปสำรวจกล้องทั่วประเทศว่ามีกี่กล้อง และเป็นของใครบ้าง เป็นของหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ที่สำคัญคือใช้การได้หรือเสียหายชำรุด เรื่องนี้ได้คำตอบแล้วว่ามีราวๆ 300,000 กล้อง ชำรุดหลักหมื่น
2.ซ่อมแซมส่วนที่เสีย ถ้าเป็นของเอกชนให้กระทรวงการคลังหาแนวทางช่วยเหลือ ส่วนของหน่วยงานรัฐ ถ้าต้องซ่อมหรือติดตั้งเพิ่ม ให้เสนอแผนขอใช้งบประมาณมายังรัฐบาล สุดท้ายคือต้องใช้ได้ทุกกล้องเท่าที่มีอยู่ อ้างว่าเสียหรือชำรุดอีกไม่ได้
3.ปรับปรุงคุณภาพกล้องให้เท่าเทียมกัน และมีกระบวนการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากพบเสียหรือชำรุดต้องซ่อมแซมให้เสร็จใช้การได้ในวันที่พบทันที ส่วนเรื่องความเชื่อมโยงของกล้องแต่ละตัว แต่ละพื้นที่ ต้องใช้งบประมาณมาก จะดำเนินการในระยะต่อไป
นี่คือสาระสำคัญของนโยบายนายกฯ
ดร.จรัสโรจน์ บถดำริห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโยลีกล้องวงจรปิด ยอมรับว่า นโยบายของนายกฯเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่ตอบโจทย์ใหญ่ของประเทศ เพราะยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
"เรื่องเทคนิค ผู้มีอำนาจไม่ค่อยรู้ จึงต้องฟังผู้ประกอบการ เสนออะไรมาก็ทำตามนั้น แต่สิบปีมานี้เทคโนโลยีด้านนี้เปลี่ยนเร็วมาก ฉะนั้นสิ่งที่ทำมาตลอดจนถึงปัจจุบันจึงไม่ตอบโจทย์ใหญ่ของประเทศ เป็นการใช้กล้องเพื่อหน่วยงานของตัวเอง และดูกันแค่ในห้องคอนโทรลรูม วันนี้เทคโนโลยีกล้องวงจรปิดดูได้บนมือถือหลายๆ จอ วางตำแหน่งบนแผนที่ได้เลย ไม่ต้องดูเป็นตาหมากรุกแบบเมื่อก่อน"
ดร.จรัสโรจน์ อธิบายว่า เทคโนโลยีกล้องวงจรปิดในปัจจุบันมี 3 เรื่องที่ต้องพิจารณา คือ
1.ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ CCTV ทั่วไป เป็นชนิด Broad band ที่ใช้อัตราการส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต หรือ "แบนด์วิตช์" สูงมาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง
2.เรื่อง Map Multi Display โดยกล้องวงจรปิดไม่สามารถแสดงภาพพร้อมกันหลายกล้อง และวางบนแผนที่ได้ตามพิกัดตำแหน่งกล้อง แต่แสดงผลได้เพียงเป็นตารางหมากรุกในห้องควบคุม หรือคอนโทรลรูม คนทั่วไปจะไม่รู้ว่ากล้องแต่ละตัวอยู่ตรงไหน ต้องใช้ผู้ชำนาญการเท่านั้น จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญค่อยนั่งดู หากเจ้าหน้าที่คนนี้ไม่อยู่ เกิดเหตุอะไรขึ้น คนอื่นมาดูแทนก็จะไม่รู้เลยว่าภาพนั้นมาจากกล้องไหน กลายเป็นข้อจำกัดในการทำงาน
3.เรื่อง Internet displaying คือกล้องวงจรปิดยังไม่สามารถแสดงภาพได้พร้อมกันจำนวนมากๆ อาจแสดงภาพจากกล้องได้เพียง 10 จอขึ้นไปต่อการดู 1 หน้าจอบนอุปกรณ์พกพา เช่น โทรศัพท์มือถือ
สำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีใช้ในปัจจุบัน คือเทคโนโลยีการจัดการวีดีโอข้อมูลจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นการบีบอัดสัญญาณจากกล้องวงจรปิดหลายๆ กล้องให้สามารถแสดงผลได้มากถึง 100 กล้องบนจอเดียว และยังสามารถเปิดได้บนจอโทรศัพท์มือถือด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเทคโนโลยีนี้ยังสามารถนำภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดมาวางบนแผนที่ได้ ทำให้ตรวจสอบได้ว่าภาพที่แสดงเป็นกล้องจากบริเวณไหน ซึ่ง ดร.จรัสโรจน์ เรียกว่า "กล้องวงจรปิดระบบเปิด"
"ต้องเข้าใจก่อนว่า กล้องวงจรปิดไม่ได้มีแค่ตัวกล้อง แต่หมายถึงเครื่องบันทึก เครื่องอัด และระบบเน็ตเวิร์คที่จะกระจายออกไปแก่ผู้ใช้ด้วย แนวคิดเดิมคือ closed-circuit television ดูได้เฉพาะกลุ่มตัวเอง แต่วันนี้เป็นกล้องวงจรปิดระบบเปิด ถ้าจะมานั่งดูกันอยู่ในห้องคอนโทรลรูม ผมเห็นหลายหน่วยงาน กล้องเป็นร้อยๆ คนนั่งดู ดูแป๊บเดียวก็มึน เพราะขึ้นภาพเป็นตารางหมากรุก จำไม่ได้ว่าอันไหนเป็นอันไหน"
"หัวใจของการพัฒนาคือชิพของกล้อง แบบเดิมหากต้องการให้ได้ภาพคุณภาพดี ต้องใช้แบนด์วิตช์สูง คือกินสัญญาณอินเทอร์เน็ตมากกว่า 1 เมกะบิต เฉลี่ย1 กล้อง 1 เมกะบิต ถ้าร้อยกล้องก็ร้อยเมกะบิต ฉะนั้นถ้าใช้เทคโนโลยีปกติ ก็จะประสบปัญหาคอขวดของสายสัญญาณที่จะวิ่งมารวมกัน มันมาไม่ได้ แต่ขณะนี้มันมีเทคโนโลยีที่สามารถบีบอัดข้อมูลได้แล้ว และทำมานานแล้วด้วย สามารถส่งกล้องเป็นร้อยๆ พันๆ กล้องมาดูพร้อมๆ กันได้บนจอๆ เดียว กินสัญญาณน้อยกว่าเมื่อก่อน"
"ฉะนั้นถ้าใช้เทคโนโลยีใหม่ การยกระดับกล้องทั่วประเทศจึงไม่ต้องใช้งบมหาศาล เพราะกล้องมีหมดแล้ว แค่อัพเกรด เปลี่ยนชิพ เปลี่ยนซอฟท์แวร์ เปลี่ยนอุปกรณ์ให้จัดการได้ดีขึ้น ยุคนี้ใช้ย่านความถี่ต่ำ คือ narrow band พวก 3จี 4จี 5 จี เป็นบรอดแบนด์ ยิ่งความถี่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้น แต่ narrow band ไปได้ไกลกว่า ใช้ความถี่น้อยมาก และความถี่นี้ประเทศไทยไม่สนใจใช้กัน รัฐบาลจึงควรเข้ามาจัดการ narrow band และใช้โครงข่ายนี้ส่งสัญญาณ"
ดร.จรัสโรจน์ ชี้ว่า การจะตอบโจทย์นายกฯ ให้กล้องวงจรปิดทั้งประเทศสามารถบริการประชาชน หรือช่วยให้ประชาชนเข้ามาเป็นหูเป็นตาให้รัฐบาลได้ จึงสามารถทำได้จริง โดยการทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ และให้บทบาทชุมชนท้องถิ่นร่วมกันบริหารจัดการ
"ต้องสร้างความร่วมมือ ไม่ใช่แค่รัฐบาลกับเอกชน แต่เป็นเรื่องของท้องถิ่น เพราะองค์กรท้องถิ่นเป็นเจ้าของพื้นที่ ดูแลพื้นที่ การจัดการกล้องในแต่ละพื้นที่จึงควรให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าของเรื่อง ปรับปรุงชิพให้ดี เปลี่ยนซอฟท์เวร์ เซิร์ฟเวอร์ ให้จัดการสัญญาณได้ดี สร้างโครงขายเชื่อมโยงสัญญาณแบบใยแมงมุม อย่าเชื่อมแบบจุดต่อจุด เพราะเส้นไหนถูกตัดก็จะล่มไปเลย แต่ถ้าเป็นโครงข่ายใยแมงมุมจะตัดไม่ได้ ให้ท้องถิ่นดูแล ยกระดับเป็นจังหวัด จากจังหวัดขึ้นมาเป็นภาค แล้วนำระบบคลาวด์มาใช้ เพื่อช่วยให้โครงขายของราชการและเอกชนจัดการได้บนคลาวด์"
การใช้หลักการ "กล้องวงจรปิดระบบเปิด" เป็นการฉีกข้อจำกัดการใช้งานกล้องวงจรปิดแบบเดิมๆ โดยให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันมอนิเตอร์ภาพจากกล้องต่างๆ ผ่านอุปกรณ์แบบพกพาได้ แต่คำถามก็คือ หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง จะรักษาความลับได้อย่างไร คำตอบของเรื่องนี้ ดร.จรัสโรจน์ อธิบายว่า ต้องกำหนดเลเยอร์ หรือชั้นความลับของข้อมูล
"เราควรมีเลเยอร์ หรือชั้นของการใช้หลายระดับ ระดับแรกเปิดสาธารณะให้ประชาชนดูกล้องสาธาารณะทั่วไป ระดับที่สอง ผู้บริหารที่มีหน้าที่ตามพื้นที่ มีสิทธิ์เข้าไปดูได้ลึกซึ้ง ดูย้อนหลังได้มากกว่าประชาชนทั่วไป ระดับที่สาม ระดับผู้บริหารสูงสุด คือจะต้องสามารถเห็นกล้องที่มีอะไรผิดปกติในหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ต้องมีกลไกจัดส่งข้อมูลถึงผู้บริหารสูงสุดโดยทันที ไม่ต้องให้ไปถาม แต่ตั้งระบบให้ทำงานอัตโนมัติ และระดับที่สี่ ต้องมีกลไกจัดการผู้ที่บุกรุกเข้ามา"
หากกล่าวเฉพาะการใช้ระบบกล้องเพื่องานด้านความมั่นคง ยังมีเทคนิคที่ซับซ้อนกว่านี้ คือการติด "กล้องซ่อน" ที่เรียกว่า Spy camera ซ้อนเข้าไปในตำแหน่งที่ไม่มีใครเห็น เพื่อจับความเคลื่อนไหวของอาชญากร หรือผู้ก่อเหตุรุนแรงต่างๆ เช่น ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้หลักการทางสถิติกำหนดจุดติดตั้งกล้องที่เรียกว่า hot spot ซึ่งหมายถึงพื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดเหตุอาชญากรรมหรือความรุนแรงบ่อยครั้ง ที่สำคัญยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เก็บเบอร์โทรศัพท์เพื่อตามเกาะติดคนร้ายที่เข้ามาในรัศมีกล้องด้วย
"แนวคิดเดิมคือติดกล้องในที่สาธารณะ เห็นกันหมดว่ามีกล้องที่ไหนบ้าง ซึ่งก็ถูกต้อง เป็นหลักพื้นฐาน แต่ถ้าคิดแบบมืออาชีพจะติดกล้องแบบไม่เห็นตัว เพื่อล่อให้ผู้ก่อการร้าย หรือผู้ก่อเหตุรุนแรง ออกมาในจุดที่เราต้องการเห็น เป็นกล้องซ่อน spy camera เราต้องใช้เกลือจิ้มเกลือ มีกล้องพิเศษอีกชุดหนึ่งซ้อนเข้าไปตรงจุดที่เราต้องการเฝ้าระวังจับคนร้าย โครงข่ายการส่งสัญญาณต้องพิเศษด้วย เพราะคนร้ายเขาก็เก่ง ถ้าเขารู้ว่าเราใช้โครงข่ายไหน เขาก็ดักโครงข่ายนั้น ถ้าจะทำงานอย่างนี้ ต้องทำงานแบบเอาจริงเอาจัง และรู้เท่าทันอีกฝ่ายว่าจะมารูปแบบไหน อย่าให้เขาตามเราทัน"
"วิธีต่อสู้อาชญากรรม แต่ละพื้นที่จะมี hot spot หรือจุดอันตราย คนที่รับผิดชอบพื้นที่จะรู้ดี ก็ติดกล้องเฉพาะบริเวณนั้น ไม่ใช่ติดปูพรมไปทั้งประเทศ ตรงไหนไม่เคยมีสถิติเหตุอาชญากรรม ก็ติดพอสมควร แต่ตรงไหนเกิดบ่อย เกิดซ้ำซาก ต้องติดให้ละเอียด ติดกล้องอย่างเดียวไม่พอ ต้องเชื่อมโยงไปใช้การเก็บพิกัดของผู้ที่เคลื่อนที่เข้ามาบริเวณกล้องวงจรปิดด้วย โดยเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เก็บเบอร์โทรศัพท์คนที่อยู่ในรัศมีกล้อง แล้วเอาสัญญาณสองตัวนี้มาจับคู่กัน แล้วติดตามคนคนนี้ที่เป็นผู้ต้องสงสัย ต้องเกลือจิ้มเกลือ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้เทคโนโลยีพื้นฐานไม่มีทางสำเร็จ"
"ทุกวันนี้ที่เราขับรถ แล้วใช้กูเกิลแมพ เห็นหมดเลยว่าตรงไหนรถติดหรือไม่ติด วิธีการของกูเกิลเขาก็เอาค่าพิกัดการเคลื่อนที่ของเบอร์โทรศัพท์บนถนนของพวกเรา นำไปประมวลผล แล้วส่งกลับมาให้พวกเราใช้ ถามว่าทำไมรัฐบาลไม่ออกกฎหมายเพื่อนำค่าสัญญาณโทรศัพท์ของประชาชนมาใช้ประโยชน์ มาช่วยกันเฝ้าระวัง แล้วก็ช่วยกันแยกแยะคนดีกับคนร้ายออกจากกัน ใช้ระบบเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดมายืนยัน แล้วจับกุมเสีย เรื่องแบบนี้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ"
ดร.จรัสโรจน์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเป็นอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 2 รัฐบาล บอกด้วยว่า สมัยที่ยังรับราชการอยู่ เคยเสนอไปยังรัฐบาลหลายรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปใช้ รวมทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ติดปัญหาเรื่อง "ความไม่รู้" การทุจริตคอร์รัปชั่น ล็อคสเปค กินหัวคิว ทั้งๆ ที่กล้องวงจรปิดที่ถูกวางระบบอย่างดี จะสามารถสอดส่องความผิดปกติทุกอย่างได้ โดยเฉพาะปัญหาคอร์รัปชั่น เรียกรับส่วย สินบน เงินนอกระบบ
"สมัยหนึ่ง เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมเคยวางระบบกล้องให้หน่วยงานหนึ่งในกรุงเทพฯ มีแค่ 68 กล้อง นำมาออนไลน์บนเว็บให้ดู ปรากฏว่าประชาชนพอใจมาก เพราะสามารถดูภาพจากกล้องวงจรปิดได้บนเว็บไซต์ที่ตัวเองเข้าถึง แต่หน่วยงานที่เป็นเจ้าของกล้องกลับบอกว่าให้เอาออก ให้ประชาชนดูทำไม เพราะเขาอยู่เฉยๆ เขาก็สบายอยู่แล้ว ตอนนี้เขาต้องรับโทรศัพท์ทั้งวันเลย บอกว่ากล้องไม่ชัด กล้องไม่ติด เขารู้สึกว่าเหนื่อย ปิดเถอะอย่าให้ประชาชนดูเลย ถ้าอยากดูก็ทำหนังสือขอมา เขาจะค้นหา บันทึกแล้วส่งไปให้ ผมฟังแล้วสงสารคนไทยที่เสียภาษี ร้อยบาทได้ใช้ไม่ถึงสลึง"
"สมัยที่ผมทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล ผมถูกนายกฯท่านหนึ่งสั่งให้เอากล้องจากชายแดนภาคใต้ขึ้นมาให้ดู ช่วงนั้นสิบกว่าปีมาแล้วเหมือนกัน ขณะนั้นไม่มีระบบใดเลยที่จะนำภาพจากกล้องแม้แต่กล้องเดียวขึ้นมาดูที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลได้ เมื่อผมได้รับคำสั่ง ผมก็บินไปกับเลขาธิการนายกฯ ไปติดกล้องที่ด่านชายแดน ติดกล้องที่ตลาด แล้ววางระบบดึงสัญญาณมาที่ส่วนกลาง แต่ติดได้แค่ 3 เดือน ต้องบินไปถอดเก็บหมด เพราะมันเห็นความลับของประเทศไทยว่าเกิดอะไรขึ้นที่ชายแดนเต็มไปหมดเลย"
"จากประสบการณ์ของผม บอกได้เลยว่าระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทยล้ำลึกมาก น่าเห็นใจนายกรัฐมนตรีแต่ละท่าน นโยบายท่านดี แต่สั่งมาแล้ว ผู้ตอบสนองก็จะเลือกตอบสนองอย่างที่ตัวเองอยากทำ ผมอยากท้าว่าจะทำใหม่หรือไม่ ประเทศไทยจะได้ใสสะอาด ที่ผ่านมาเคยทำได้แล้วแต่ถูกเก็บ ฉะนั้นเทคโนโลยีวันนี้ตอบโจทย์ท่านนายกรัฐมนตรีได้แน่นอน"
แต่ ดร.จรัสโรจน์ ก็บอกทิ้งท้ายเหมือนสิ้นหวัง..."ผมไม่แน่ใจว่าจะทำกันจริง เพราะผลประโยชน์มันมีทุกแห่ง เต็มไปหมด"
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : ชลธิชา รอดกันภัย ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี. ปกรณ์ พึ่งเนตร