ภาคเอกชนมอง open data ของรัฐเอาไปใช้งานต่อยาก
เอกชน มองว่ารัฐยังเข้าใจการเปิดข้อมูล Open Data เพียงให้เข้าดูได้ แต่เข้าถึงในระดับนำไปใช้ต่อไม่ได้ โดยเฉพาะไฟล์PDF ชี้แนวคิดหลัก สร้างความโปร่งใส ประชาชนต้องมีส่วนร่วม
เมื่อเร็วๆนี้ โครงการการสังเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย จัดเสวนา"Open data : ความฝัน vs. ความจริง" ณ Hangar Co-Working Space, dtac Accelerate ชั้น 2 จามจุรีสแควร์
นายไกลก้อง ไวทยการ ผู้อำนวยการ Social Technology Institute ส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำงานในประเด็น สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา ความโปร่งใส และ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ กล่าวถึงเรื่อง Open data ว่า แนวคิด(Concept) ของOpen Data หรือ Open Government Data (การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ) (1)คือ เรื่องการสร้างความโปร่งใส ( 2)ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในยุคที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ทั้งสองส่วนเป็นหัวใจสำคัญของ open data และในระบบสากลก็มีความร่วมมือในระบบรัฐบาล ที่ชื่อว่า Open Goverment Partnership เป็นภาคีที่ทำเรื่อง open data ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามเข้าร่วม
“แม้ว่ารัฐบาลนี้จะขึ้นมาด้วยวิธีพิเศษ แต่มีความพยายามทำเรื่องความโปร่งใส และไปเข้าร่วมกับเป็นภาคีกับคณะกรรมการดังกล่าวด้วย แต่ว่าทางโน้นบอกว่าให้เราเป็นรัฐบาลเลือกตั้งก่อน” นายไกลก้อง กล่าวและว่า Open Data ปัจจัยสำคัญคือการมีส่วนร่วมของที่ใช้ data(ข้อมูล) ซึ่งคือพวกเราทุกคน ดังนั้นเราจะมีส่วนร่วมในระดับไหน ระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน ระดับเมืองใหญ่ หรือเป็นระดับประเทศ ข้อมูลมีหลายเรื่อง เช่นเรื่องความโปร่งใส เราสามารถดูได้ไหมว่า รัฐบาลใช้จ่ายไปตรงไหนบ้าง นอกจากนั้นเป็นเรื่องของร่างกฎหมาย เราอยากรู้ว่าร่างกฎหมายในสภานิติบัญญัติมีอะไรบ้าง ตรงนี้มีการเปิดเผยข้อมูลมากน้อยแค่ไหน หรืออาจเป็นประเด็นสังคมอย่างเช่น อูเบอร์เข้ามา ดีหรือไม่ดี เรามีพื้นที่ที่เปิดให้คนได้สามารถแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่กระทบได้มากน้อยแค่ไหน จะเป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญของ Open Data คือการมีส่วนร่วม
(แผนที่แสดงประเทศที่เข้าร่วม Open Goverment Partnership)
นายไกลก้องกล่าวอีกว่า Open Data อย่างเดียวอาจจะยังไม่เวิร์ค หากเป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหว (Dynamic) ค่อนข้างสูง เช่นพื้นที่เมือง ที่ต้องการข้อมูลที่ปัจจุบัน เรียลไทม์มากขึ้น ทั้งข้อมูลที่เป็นCROWDSOURCING ( คราวด์ซอร์สซิ่ง) การรับข้อมูลจากคนใช้งาน และข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่มีอยู่ในเมืองเช่น เซนเซอร์การจราจร อากาศ กล้องวงจรปิด เป็นต้น การประกอบข้อมูลนี้ก็นำมารวมเข้ากับการบริการจัดการที่ดี และสิ่งที่สำคัญคือ คนที่มีมุมมองต่อข้อมูลเหล่านั้นที่จะดึงเอาข้อมูลมาใช้ ไม่ใช่มีแต่ข้อมูลแต่ไม่มีการนำมาใช้
นายไกลก้อง กล่าวว่า เรื่อง open data วันนี้เราโปรโมทสตาร์ทอัพในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาทำธุรกิจ ซึ่งนักพัฒนาใหม่ๆ ในเรื่องการทำโปรแกรมทำได้ไม่อยาก แต่พอจะทำมักไปติดที่ว่า จะเอาข้อมูลมาจากไหน ทางเลือกหนึ่งมี open data ไหม มีแต่มีไม่พอใช้ สอง ถ้าทำเองต้องเพิ่มแรงทุน แรงคนอีกเยอะ เพื่อสร้างข้อมูล หรือจะทำได้แบบคราวด์ซอร์สซิ่ง ที่จะให้หลายๆ คนช่วยทำข้อมูล
“เรื่องของ open data ผมเข้าใจว่ารัฐบาลยังเข้าใจว่า เปิดให้คนเข้าไปดูข้อมูลได้ แต่พอพูดถึงการพัฒนาต่อยอดวิเคราะห์เชิง manchine readable คือเครื่องมือคอมพิวเตอร์ โปรแกรมสามารถอ่านข้อมูลนั้นได้ อันนี้ยังไม่ได้อยู่ในแนวคิดของภาครัฐสักเท่าไร” นายไกลก้อง กล่าวและว่า อีกประการหนึ่งคือเรื่องวัฒนธรรม หลายครั้งที่เราเขาไปคุยว่าขอเปิดข้อมูลนี้ได้ไหม มีข้อมูลขอเชื่อมต่อได้ไหม เราทำเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการแก้ปัญหาสังคม หลายๆ หน่วยงาน เขาบอกยินดี แต่พอเข้าไปในระบบราชการจะพบว่าซับซ้อนและไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะเปิดหรือจะปิด มีระเบียบราชการ ถึงแม้เราจะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ แต่ตัวพ.ร.บ.ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องของ open data พูดเพียงแค่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่านั้นเอง ไม่ได้พูดถึงชุดข้อมูลหรือ Data Set
“ขณะเดียวกันภาครัฐนิยมทำแอปพลิเคชั่นขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 200 แอปฯไปแล้ว แต่ข้อมูลข้างในยังเป็นไฟล์ PDF เช่นของกรมชลประทาน เป็นต้น ซึ่งคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมไม่สามารถอ่านได้ ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงเทคนิคต่อยอดชุดข้อมูลได้ และอีกหลายๆ ข้อมูลยังคงติดลิขสิทธิ์ ข้อมูลที่เปิดเผยจริงๆ จะต้องเป็นข้อมูลที่ไม่มีลิขลิทธิ์ ไม่ต้องลงทะเบียนขอ นี่จึงเป็นความจริงของ Open Data ของไทย และด้วยสถานการณ์ที่ยังเป็นแบบนี้ ทำให้ความฝันที่ว่าจะเห็น Open Data ห่างไกลขึ้น”