นักวิชาการชี้ “พาราควอต” มีอันตรายขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ยันไม่ซึมผ่านผิวหนัง ยกเว้นมีแผล
นักวิชาการยัน “พาราควอต” มีอันตรายกับร่างกาย ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ไม่เสี่ยงซึมผ่านผิวหนัง ยกเว้นมีแผล เหตุ ละลายในไขมันได้ไม่ดี ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญฯ ระบุมีเกษตรกรไม่ถึง 10% ศึกษาก่อนใช้สารเคมี ด้านไทยแพนโพสต์เฟซบุ๊กป้องกันไม่ให้สัมผัสผิวหนังไม่ตั้งใจเป็นไปได้ยาก จี้ก.เกษตรฯ แบนทันที
วันที่ 24 ส.ค. 2560 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย จัดเสวนาเรื่อง “บทบาทของสารกำจัดศัตรูพืชกับพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย” กรณีพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีข้อเสนอให้ยกเลิกสารเคมี 2 ชนิดนี้ โดยไม่ให้ยื่นขอขึ้นทะเบียนและห้ามนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2560 และเลิกใช้อย่างสิ้นเชิงภายในปี 2562
รศ.ดร.สรา อาภรณ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า คำว่าเป็น “พิษ” เป็นคำหนึ่ง “อันตราย” เป็นอีกคำหนึ่ง ซึ่งคนส่วนใหญมักคิดว่าเหมือนกัน แต่ความเป็นจริงตามหลักวิชาการแล้ว สองคำนี้จึงไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ สารทุกตัวมีความเป็นพิษ ซึ่งเป็นคุณสมบัติ แต่จะเป็นอันตรายกับร่างกายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ารับเข้าสู่ร่างกายและเกิดอันตรายจากการเป็นพิษหรือไม่
“พาราควอตเป็นพิษ เกลือแกงเป็นพิษ น้ำเปล่าเป็นพิษ หากรับเข้าไปในร่างกายปริมาณเยอะ ๆ จะทำให้เกิดอันตรายจากการเป็นพิษ ฉะนั้นจะเกิดอันตรายหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ว่าเราทำงานกับสารเคมีเหล่านี้ แล้วรับเข้าสู่ร่างกายหรือไม่”
ส่วนความเสี่ยงที่พาราควอตจะผ่านผิวหนังได้นั้น นักวิชาการ ม.มหิดล ระบุ พาราควอตมีความสามารถในการละลายน้ำสูง ดังนั้นจะมีข้อเท็จจริงด้านพิษวิทยาอยู่ว่า สารตัวใดก็ตามที่ละลายได้สูงในไขมันจะดูดซึมผ่านผิวหนังได้ดี เพราะมีองค์ประกอบของไขมันอยู่ แต่เนื่องด้วยพาราควอตละลายในไขมันไม่ได้ดี แต่ละลายได้ดีในน้ำ โอกาสผ่านผิวหนังจึงมีน้อยมาก ยกเว้นมีบาดแผล ฉะนั้นการใช้สารชนิดนี้จะเกิดอันตรายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานปฏิบัติตามฉลากข้างผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวดเพียงใด
ด้าน ศ.ดร.รังสิต สุวรรณมรรคา สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวยอมรับว่า พาราควอตมีปัญหาเป็นพิษที่รุนแรง ซึ่งศึกษาได้จากสัตว์ทดลอง แต่ยืนยันเมื่อลงสู่ผิวดินแล้ว ไส้เดือนไม่ตาย เมล็ดวัชพืชงอกได้ เพราะสารเคมีชนิดนี้ไม่มีผลทางดิน เนื่องจากถูกดินยึดไว้หมด
“ราว 20-30 ปีก่อน มีการกล่าวกันว่า พาราควอต ทำให้ปลาตาย เพราะมีการฉีดสารเคมีรอบบ่อปลา เมื่อฝนตกน้ำไหลลงไปโดยมีสารเคมีปนไปด้วย แต่ความจริงแล้ว พาราควอตไม่เจือปนในน้ำ เพราะจะถูกยึดลงในดิน” นักวิชาการ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุ
ขณะที่ นายธรรมนูญ ยั่งยืน เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้สารเคมี ระบุโดยเชื่อว่า มีเกษตรกรไม่ถึงร้อยละ 10 ที่ศึกษาความรู้ก่อนใช้พาราควอต หลายคนไม่เคยสนใจอ่านฉลากก่อนใช้ ดังนั้น เกษตรกรต้องเป็นนักสังเกตก่อนใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดงานเสวนาครั้งนี้เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของเกษตรกรและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งได้เปิดรับฟังมาแล้วในจ.กระบี่, สุราษฎร์ธานี, ชุมพร, เชียงใหม่, ขอนแก่น, นครปฐม และกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 20 ก.ค. -18 ส.ค. 2560
ขณะที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กว่า บริษัทที่ได้ประโยชน์จากการค้าขายพาราควอต หรือผู้จ้างให้เกษตรกรรายย่อยและแรงงานรับจ้างฉีดพ่นสารพิษนี้อ้างว่าปัญหาของพาราควอตไม่ใช่เพราะความเป็นอันตรายของสารมรณะนี้ แต่เกิดจากความบกพร่องของเกษตรกรรายย่อยและแรงงานรับจ้างเองที่ขาดการป้องกันที่ดี ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากอัตราการตายของผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารพิษนี้สูงถึงมากกว่า 10% ในกรณีที่ผู้ป่วยสัมผัสทางผิวหนัง และสูงถึง 14.5% ในกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือไม่ตั้งใจ
อัตราการตายที่สูงมากดังกล่าวแสดงถึงความเป็นพิษเฉียบพลันของสารพิษกำจัดวัชพืชนี้ซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายเกินกว่าจะนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัย
การป้องกันอันตรายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างใช้งาน และการสัมผัสผิวหนังโดยไม่ตั้งใจ เป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก ในขณะที่อุปกรณ์ป้องกันตัวในประเทศเขตร้อนนั้นทำให้อึดอัดและไม่สะดวกสบาย ในกรณีดังกล่าวข้อกำหนดทางจริยธรรมขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations :FAO) สำหรับผู้ค้าขาย ผู้กระจายสารเคมี และผู้ใช้สารเคมีคือต้องยุติการใช้สารดังกล่าวเสีย
ทุกฝ่ายต้องเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ รีบดำเนินการเพิกถอนทะเบียน ไม่ต่ออายุทะเบียน และประกาศแบนสารนี้ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงาน 4 กระทรวงหลักโดยทันที .