“ดร.เสรี” แนะเคร่งกฎหมาย ปภ. ช่วยแก้น้ำท่วม-ชี้แก้มลิง 2 ล้านไร่ไม่พอ
เลขาฯ สภาพัฒน์ฯ ชี้ กยน.-กยอ.ต้องสร้างความเชื่อมั่นไม่เกิดภัยพิบัติรุนแรงอีก “ดร.เสรี” มองกฎหมาย ปภ.ดีแต่ไม่เคยถูกใช้-แนะทำฟลัดเวย์เพิ่ม รองเลขาฯ สภาอุตฯ มั่นใจเขื่อนกั้นนิคมไม่กระทบชุมชน
วันที่ 15 มี.ค. 55 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จัดสัมมนา “ฝ่าวิกฤตมหาอุทกภัย 2554 เตรียมพร้อมรับมือวิกฤตน้ำ 2555” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า น้ำท่วมหนักปี 54 สร้างความเสียหายต่อไทยมหาศาล ได้รับผลกระทบ 65 จังหวัด สียชีวิต 813 ราย เดือดร้อน 14 ล้านคน พื้นที่เกษตรเสียหาย 11.2 ล้านไร่ นิคมอุตสาหกรรมกระทบ 7 แห่ง จากการประเมินของธนาคารโลกเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลงเหลือเพียง 0.1% จากที่คาดการณ์ว่าจะเติบโต 3.8%
เลขาธิการ สศช. ยังกล่าวถึงกลไกสำคัญรับมือมหาอุทกภัย 3 ข้อ 1.การจัดทำแผนนโยบาย มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่งต้องให้ความมั่นใจได้ว่าแผนปฏิบัติจะลดความเสียหายไม่ให้เป็นเช่นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ 2.กลไกการทำงานภาครัฐ ต้องบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพและดึงท้องถิ่นมีส่วนร่วม กล้าทุ่มงบประมาณเพื่อซื้อความปลอดภัยของประชาชน โดยมีคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ดูแล และ 3.หน่วยปฏิบัติ โดย ปภ.เป็นผู้ขับเคลื่อน ส่วนแผนพัฒนาประเทศ 5 ด้าน 1.แผนบริหารจัดการน้ำ 2.แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3.แผนพัฒนาการแข่งขันอุตสาหกรรม 4.แผนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ และ 5.แผนจัดตั้งกองทุนประกันภัย
“แผนการบริหารจัดการน้ำ รัฐบาลได้เดินตามนโยบาย 6 แผน คือ 1.บริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลัก 2.ฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้าง เช่น คันกั้นน้ำ ลอกคูคลอง เครื่องสูบน้ำ 3.พัฒนาข้อมูลพยากรณ์และเตือนภัย 4.แผนเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ ต้องแก้ไขกฎหมาย ปภ.ให้สอดคล้องสถานการณ์ 5.กำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการเยียวยา เช่น แก้มลิง ทางด่วนระบายน้ำ (ฟลัดเวย์) 6.แผนงานปรับปรุงบริหารองค์กรเพื่อการบริหารจัดการน้ำ” เลขาธิการ สศช.กล่าว
นายอาคม กล่าวต่อว่า ในอนาคตประเทศไทยควรวางกรอบนโยบายที่ครอบคลุมทุกสถานการณ์ทั้งเหตุการณ์ร้ายแรงทางธรรมชาติและสถานการณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น จลาจลการเมือง โดยเจ้าหน้าที่รัฐเเละประชาชนต้องปฎิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด ฝึกซ้อมรับมือสม่ำเสมอ
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีองค์กรบริหารจัดการน้ำครบถ้วนแล้ว แต่ยังไม่เกิดการบูรณาการอย่างเพียงพอ ขณะที่ภัยพิบัติอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา โดยเฉพาะภัยแล้งหนักปี 55 นี้ เสนอว่าเพื่อเป็นการป้องกันควรบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังซึ่งมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 ที่ดีมาก แต่ไม่เคยบังคับใช้ เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติภาครัฐมักใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เพื่อสะดวกในการสั่งการและป้องกันเกมการเมือง ทั้งนี้ขอเสนอว่าการจัดสรรพื้นที่แก้มลิง 2 ล้านไร่นั้นไม่เพียงพอกับการระบายน้ำที่มีมหาศาล ควรเร่งทำฟลัดเวย์เพิ่มเติม ที่สำคัญภาครัฐไม่ควรปิดบังข้อเท็จจริงกับประชาชนเพื่อให้ตั้งรับสถานการณ์ได้
นายขจรศักดิ์ มหคุณวรรณ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมให้เขตนิคมอุตสาหกรรมสร้างเขื่อนคอนกรีต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยแก่นักลงทุน หากสร้างเขื่อนกั้นน้ำเสร็จตามกำหนด ส.ค.55 นักลงทุนจะไม่ย้ายฐานการผลิต โดยขณะนี้มีโรงงานกลับมาผลิตแล้ว 50% คาดว่าจะครบ 100% ในไตรมาส 2 ซึ่งมีเพียง 10% เท่านั้นที่ปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิต
“เขื่อนกั้นน้ำไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนโดยรอบ จากการคำนวณทางวิศวกรรมหากน้ำท่วมจริงปริมาณจะสูงจากเดิมเพียง 3 ซม.เท่านั้น แต่หากไม่สร้างนอกจากเกิดความเสียหายแก่โรงงาน ประชาชนจะตกงานด้วย ซึ่งได้ทำประชาพิจารณ์ผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้ว” นายขจรศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ สันธินาค ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน กล่าวว่ารัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลและบังคับใช้กฎหมาย ปภ.อย่างจริงจัง รวมถึงให้ความสำคัญกับแนวคิดคณะกรรมการ 25 ลุ่มน้ำ รวมถึงนักวิชาการชำนาญการมากกว่านักการเมืองที่มุ่งเน้นเเต่ผลประโยชน์ และต้องแก้ไขระบบการทำงานราชการให้รวดเร็วเด็ดขาด.