เอดีบี ชี้ไทยต้องการเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม แนะปรับระบบจัดซื้อจัดจ้าง
ธนาคารพัฒนาเอเชีย ชี้ไทยต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม 14 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แนะปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดประมูลโครงการ PPP ให้สอดคล้อง ดึงดูดเอกชนร่วมมากขึ้น มองลงทุนด้านขนส่งมวลชนสำคัญอันดับแรก
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ เอดีบี (Asian Development Bank:ADB ) แถลงข่าวรายงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย : เงินทุนที่ต้องการและการจัดหาแหล่งเงินทุน (Meeting Asia's Infrastructure Needs) ที่สำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย ประจำประเทศไทย ชั้น 23 อาคารสำนักงานเซ็นทรัลเวิร์ล
ดร. รานา ฉันซัน ผู้อำนวยการแผนกการพัฒนาเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจ สำนักวิจัยเศรษฐกิจและความร่วมมือในภูมิภาคของเอดีบี กล่าวว่า ถ้าหากประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกต้องการรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขจัดปัญหาความยากจน และการรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นที่ฐานกว่า 26 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2016-2030 หรือคิดเป็น 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมถึงต้นทุนที่เกิดจากการรับมือและการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.รานา กล่าวว่า หากไม่นับรวมต้นทุนที่เกิดจากการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิภาคต้อการเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 22.6 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 2016-2030 หรือ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเป็นอนุภูมิภาคที่ต้องการเงินลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานสูงถึงร้อยละ 61 ของเงินลงทุนรวมที่ประมาณไว้ภายในปีคศ. 2030
อย่างไรก็ตาม หากดูสัดส่วนการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP จะพบว่า อนุภูมิภาคนี้จะสูงกว่าอนุภูมิภาคอื่นๆ ทั้งหมด โดยความต้องการเงินลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานถึงร้อยละ 9.1 ของ GDP ตามด้วยเอเชียใต้ที่ร้อยละ 8.8 เอเชียกลางร้อยละ 7.8 เอเชียตะวันออกที่ร้อยละ 5.2 และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร้อยละ 5.7
สำหรับประเทศไทย คาดว่า ความต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย (ซึ่งรวมค่าต้นทุนเรื่องสภาพภูมิอากาศ) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.2 ของ GDP หรือประมาณ 268 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปีค.ศ.2016-2030
ดร.รานา ยังกล่าวด้วยว่า ช่องว่าง หรือความต่างระหว่างระดับการลงทุนที่ต้องการและระดับการลงทุนที่มีอยู่ ซึ่งคำนวนจากข้อมูลของตลาดเศรษฐกิจ 25 ประเทศ ที่ประกอบไปด้วยประชากรร้อยละ 96 ของจำนวนประชากรรวมในภูมิภาคปี 2015 ที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอยู่ 881 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าต้องลงทุนเพิ่มเฉลี่ยต่อปี 1,340 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้เกิดช่องว่างอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ของประมาณการ GDP สำหรับในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2016-2020 แต่หากไม่นับรวมจีน จะทำให้เกิดช่องว่างเพิ่มถึง ร้อยละ 5 ของประมาณการ GDP
ดร.รานา กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย คาดว่ามีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คำนวน ณ ปี2015 ) ในขณะที่มีความต้องการเม็ดเงินลงทุนเฉลี่ย 14 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยมีช่องว่างในการลงทุนประมาณ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของประมาณการ GDP ต่อปี สำหรับช่วงปี 2016-2020 และหากไทยมีการลงทุนตามเป้าที่คาดการณ์ไว้ GDP ของไทยจะเพิ่มได้ถึง ร้อยละ 4.2 แต่หากไม่มีการลงทุนตามที่คาดการณ์ โอกาสในการแข่งขันของไทยก็จะลดน้อยลงเช่นกัน ทั้งนี้การศึกษาพบว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีมากขึ้นจะช่วยลดความยากจนในประเทศนั้นได้ ซึ่งไทยยังจำเป็นต้องลงทุนในด้านระบบขนส่งมวลชน(Transpotation) ด้านพลังงาน (Power) ด้านการสื่อสาร (Telecom Sector) และ ด้านน้ำ ( Water Supply) ตามลำดับ
ดร.รานา กล่าวถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะสามารถมาจากการปฏิรูปกฎหมายและโครงสร้างเชิงสถาบันจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และทำให้เกิดโครงการที่มีศักยภาพ สำหรับการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP ขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคควรเริ่มดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูป PPP เช่น การประกาศใช้กฎหมาย PPP การปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างและการจัดประมูลโครงการ PPP ให้สอดคล้องกัน การนำเสนอกลไกการระงับข้อพิพาท และการก่อตั้งองค์กรอิสระ PPP ภายใต้หน่วยงานรัฐ นอกจากนี้ การสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดทุนยังจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เงินออมมหาศาลของภูมิภาคนี้ได้ถูกนำมาใช้กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิผล
รายงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย Meeting Asia's Infrastructure Needs