เครือข่าย รพ.ฯ ย้ำคลังคลอดระเบียบกลางจัดซื้อยา ต่างคนต่างทำไม่ได้ กระทบระบบส่งต่อผู้ป่วย
เครือข่ายแพทย์ 19 รพ. ชี้ออกระเบียบจัดซื้อยาเอง ต่างคนต่างทำ ส่งผลเสียต่อระบบส่งต่อผู้ป่วยต้นทาง-ปลายทาง ระบุจำเป็นต้องสร้างแนวทางกลางของชาติ เหตุยาเป็นสินค้าทางการแพทย์ ไม่ใช่เรื่องของแต่ละสถานพยาบาล
ตามที่เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ 19 แห่ง ได้ยื่นหนังสือเสนอแนะและข้อห่วงกังวลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอธิบดีกรมบัญชีกลาง กรณีการจัดซื้อยา อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค. 2560 และปรากฎเป็นข่าวในสื่อสารมวลชนบางฉบับนั้น
(อ่านประกอบ:13 รพ.รัฐจี้รมว.คลัง กำหนดเกณฑ์ซื้อยา-อวัยวะเทียม หลังพ.ร.บ.จัดจ้างใหม่มีผล หวั่นโทษอาญา)
ล่าสุด วันที่ 22 ส.ค. 2560 เครือข่ายโรงพยาบาลฯ ออกแถลงการณ์ขอชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจตรงกันในฐานะที่เป็นสถานพยาบาลที่เป็นฝ่ายปฏิบัติในการจัดหายา อวัยวะเทียม ฯลฯ สำหรับผู้ป่วยภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
1.ทางเครือข่ายฯ เห็นด้วยกับหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความคุ้มค่าของสินค้า บริการ และงานก่อสร้าง โดยการจัดหาให้ได้สินค้า บริการ และงานก่อสร้าง ที่ต้องมีคุณภาพดี และตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ไม่ใช่ราคาต่ำสุดเสมอไป
2.ทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันศึกษาและพิจารณา พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว มีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสินค้าทางการแพทย์เหล่านี้มีความซับซ้อนหรือมีความจำเพาะสูงต่างจากสินค้าทั่ว ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ยากลุ่มช่วยชีวิต อาทิ ยาหัวใจบางชนิด ฯลฯ หรือกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคหรือภาวะเป็นอันตรายร้ายแรง อาทิเช่น ยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด ยากดภูมิสำหรับปลูกถ่ายอวัยวะ ฯลฯ เป็นต้น
ถึงแม้โรคส่วนใหญ่สามารถรักษาด้วยยาสามัญที่มีคุณภาพแทนการใช้ยาต้นแบบที่มีสามัญเดียวกันได้อย่างได้ผลดี แต่ในบางกรณียังมีความจำเป็นต้องใช้ยาต้นแบบแทนการใช้ยาสามัญที่มีชื่อเดียว พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่เปิดช่องให้สถานพยาบาลสามารถดำเนินการจัดหายาที่จำเป็นเหล่านี้ให้แก่ผู้ป่วยได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียที่ร้ายแรงกับผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมความเจ็บป่วยของผู้ป่วยให้ทวีรุนแรงขึ้นได้ แต่หากสถานพยาบาลฝืนดำเนินการจัดหาเพื่อให้มียาแก่ผู้ป่วยก็เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายลูกที่จะเป็นแนวทางที่ชัดเจนของจัดหายาและอวัยวะเทียม ฯลฯ ให้แก่ผู้ป่วยได้
3.แนวทางที่ทางเครือข่ายฯ นำเสนอนั้นได้ยึดมั่นในประโยชน์ที่จะมีต่อผู้ป่วยและประเทศชาติเป็นที่พื้นฐานสำคัญ เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางออกที่จะช่วยให้สถานพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศไม่เฉพาะสถานพยาบาลในเครือข่ายฯ สามารถดำเนินการจัดหายา อวัยวะเทียม ฯลฯ สำหรับผู้ป่วยต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะส่งผลเสียไปยังผู้ป่วย
4.เนื่องจากยาเป็นสินค้าทางการแพทย์ที่ไม่ใช่เรื่องของแต่ละสถานพยาบาล ผู้ป่วยในระบบสุขภาพต้องมีการส่งต่อระหว่างสถานพยาบาลต้นทางและปลายทาง หากปล่อยให้แต่ละสถานพยาบาลต่างคนต่างทำ โดยไม่มีแนวทางกลางของประเทศในการจัดหายาที่ใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ อาจจะมีผลต่อระบบการส่งต่อผู้ป่วยของประเทศและการเข้าถึงยาจำเป็นของผู้ป่วย อาจยิ่งสร้างความสิ้นเปลืองของประเทศชาติ อันเนื่องมาจากผลการรักษาไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะแต่ละสถานพยาบาลมียาคุณภาพไม่เท่ากัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่วันนี้ (22 ส.ค. 2560) กรมบัญชีกลางได้ร่างกฎกระทรวง 7 ฉบับ คาดว่าจะแล้วเสร็จ เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะได้มีผลบังคับใช้ทันวันที่บังคับใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ
อ่านประกอบ:อ้างออกระเบียบใช้เองได้! กรมบัญชีกลางแจงปม13รพ.รัฐกังวลเสี่ยงคุกกม.จัดซื้อใหม่
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
สุรพล นิติไกรพจน์: พ.ร.บ.จัดซื้อจ้างฉบับใหม่ รวมศูนย์อำนาจ อาจส่งผลกระทบศก.
ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวม 7 ฉบับ