หน้าตาการลงทุนในอนาคตจะเป็นแบบใด
หากพูดถึงการลงทุนไทยแล้ว ความท้าทายที่สำคัญคงไม่ใช่แค่เพียงประเด็นว่าที่ผ่านมาทำไมการลงทุนไทยต่ำ เพราะถึงแม้จะแก้ปัญหาการลงทุนต่ำได้ แต่ในอนาคตอาจไม่เห็นหน้าตาการลงทุนเป็นแบบในอดีต เพราะการลงทุนที่เริ่มเกิดขึ้นใหม่โดยเน้นเทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยนโฉมการทำธุรกิจหลายอย่าง มองไปข้างหน้า ลักษณะการลงทุนแบบใหม่นี้น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Business model และ Landscape ของการลงทุนในหลายประเทศเปลี่ยนไป
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Facebook ซึ่งเป็นตัวแทนของธุรกิจรูปแบบใหม่ มูลค่าหลักทรัพย์ของ Facebook เท่ากับของ GE กับ Walmart รวมกัน แต่ Facebook จ้างพนักงานน้อยกว่าถึง 150 เท่า นี่คือความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างโลกอุตสาหกรรมแบบเก่า และโลกเทคโนโลยีแบบใหม่ที่เรากำลังก้าวเข้าไป
ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้น ทำให้การลงทุนมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปจากที่เราเคยรู้จักเช่นกัน หากลองจินตนาการ หน้าตาการลงทุนในอนาคตจะเปลี่ยนไป 3 ด้าน
1.มูลค่าการลงทุนอาจไม่เท่าเดิม
ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป อาจทำให้ความต้องการในการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed asset) โดยรวมลดลง เพราะ 1) MNEs ภาคบริการที่มาพร้อมกับ เทคโนโลยีใหม่ๆ อาจมีการลงทุนต่างประเทศน้อยกว่า MNEs ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถให้บริการในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องลงทุนในประเทศปลายทาง เช่น Google มีการสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลกลาง (Data center) 15 แห่งเพื่อให้บริการทั่วโลก แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 2 แห่งที่อยู่ในเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์และไต้หวัน ส่วนอีก 13 แห่งอยู่ในอเมริกาและยุโรป และ 2) ธุรกิจในประเทศมีความจำเป็นในการลงทุนเองลดลง เนื่องจากธุรกิจไม่ต้องลงทุนสินทรัพย์ถาวรด้วยตนเอง แต่สามารถซื้อบริการจาก Service provider ได้ เป็นการใช้ Resource sharing มากขึ้น เช่น ธุรกิจ A ที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพในการประมวลผลสูง โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง เพราะสามารถใช้บริการ Cloud computing ของ Amazon Web services (AWS) โดยที่ธุรกิจ A ไม่ต้องลงทุนสร้างและดูแลระบบเอง ซึ่งรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับการสำรวจของ UNCTAD ที่เปรียบเทียบ Tech MNEs และ MNEs ทั่วไป พบว่าทั้งสองประเภทมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศใกล้เคียงกัน แต่ Tech MNEs มีการลงทุนในต่างประเทศที่น้อยกว่า (รูปที่ 1) สะท้อนว่าไทยไม่อาจคาดหวังให้เม็ดเงินลงทุนจาก Tech MNEs ได้มากเหมือนกับ MNEs ทั่วไปอย่างในอดีต
(รูปที่ 1)
2.การลงทุนแบบใหม่กระทบต่อการจ้างงาน
เมื่อการลงทุนใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้น ก็ยิ่งต้องการแรงงานที่ทักษะสูงในการทำงานร่วมกับเครื่องจักรมากขึ้น และยังมีโอกาสที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนแรงงานด้วย โดยเมื่อหุ่นยนต์และ A.I. เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตมากขึ้น บทบาทของแรงงานแบบเดิมลดลง เกิด “Job Polarization” กลุ่มแรงงานทักษะสูงและทักษะพื้นฐานจะได้รับผลกระทบจำกัด แต่แรงงานทักษะระดับกลางจะค่อยๆ หายไป เพราะกลุ่มแรงงานทักษะสูงที่ทำงานร่วมกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีได้ดี รวมถึงเป็นผู้คิดค้นผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ถูกแทนที่ได้ยาก อีกทั้งแรงงานกลุ่มนี้ยังมีความสามารถในการสร้างงานประเภทใหม่ๆ สูงขึ้น ส่วนกลุ่มแรงงานทักษะพื้นฐานที่ค่าแรงถูกก็ไม่จูงใจต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงาน หรือแรงงานที่ทำงานด้านบริการก็ยังจำเป็นเพราะมนุษย์ยังต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับคนมากกว่าเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี
เราเริ่มเห็นตัวอย่างแรงงานทักษะระดับกลางที่ถูกทดแทนด้วย IT และ Automation แล้วในต่างประเทศ เช่น ในจีน บริษัท Foxconn ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับ Apple ลดพนักงานลงเกือบครึ่งหนึ่งในโรงงานแห่งหนึ่งที่มณฑลเจียงซู ประเทศจีน จากที่เคยมีพนักงานในสายการผลิตถึง 110,000 คน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 50,000 คน จากการใช้หุ่นยนต์ทดแทนในสายการผลิต หรือในญี่ปุ่น บริษัท Fukoku ที่เป็นประกันภัย ใช้ A.I. มาคำนวณเบี้ยประกันภัยแทนพนักงานเดิมที่เคยมีอยู่ถึง 30 คน
ตัวอย่างข้างต้น ทำให้เกิดประเด็นที่ชวนคิดว่า ขนาดบริษัท Foxconn ยังมีการปรับลดพนักงาน แล้วอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่มีแรงงานสูงถึงประมาณ 300,000 คน จะได้รับผลกระทบนี้เท่าไร
หรือแม้แต่กลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะสูงก็ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจได้ในทุกอาชีพ เพราะอาชีพที่เราเคยคิดว่าถูกทดแทนได้ยากอย่างบุคลากรทางการแพทย์ยังอาจมีคู่แข่งเป็นเทคโนโลยีได้ เช่น ล่าสุดมีการพัฒนา A.I. มาใช้ช่วยในการอ่านฟิล์ม X-rays เพื่อวินิจฉัยโรค หรือแม้แต่บทความนี้เองในอนาคตอาจถูกเขียนด้วย A.I หากเรามองดูจากปัจจุบันที่ A.I. เริ่มถูกนำมาใช้ในการเขียนรายงานข่าว
3.มีแนวโน้มเป็นโลกที่มีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น โดยผลประโยชน์จากการลงทุนจะกระจุกตัวในรายใหญ่หรือผู้นำตลาด และกระจุกตัวในบางประเทศ
เมื่อการลงทุนสามารถใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้น ทำให้มีโอกาสสูงที่ผลประโยชน์จากการลงทุนจะกระจุกตัวในรายใหญ่หรือผู้นำตลาด (Winner-take-all) เพราะธุรกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยีสูง บริษัทที่เป็นผู้นำจะมีผลิตภาพการผลิตที่ดีกว่าบริษัทขนาดเล็กมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้นำตลาดจะมีความสามารถในการประยุกต์ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีได้ดีกว่าบริษัทขนาดเล็ก และทำให้ยิ่งสร้างรายได้ทิ้งห่างจากบริษัทขนาดเล็ก ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ ธุรกิจ ICT ที่ศักยภาพการผลิต (Productivity) ระหว่างกลุ่มผู้นำและกลุ่มรั้งท้าย (Frontier firm and laggards) มีความแตกต่างสูง แถมในกลุ่มผู้นำด้วยกันเอง บริษัท Top 2% (Elite) ก็ยังทำได้ดีกว่าบริษัทที่อยู่ใน Top 10% มาก (รูปที่ 11) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ได้รับประโยชน์มีน้อยรายและสามารถสร้างผลประโยชน์จากการลงทุนและผลิตได้เรื่อยๆ จึงเกิดประเด็นที่ชวนคิดต่อว่า หากหน้าตาโลกใหม่เป็นแบบนี้ จะยิ่งทำให้รายใหม่หรือรายเล็กมีโอกาสเกิดและอยู่รอดได้ยากมากขึ้นหรือไม่ โดยหากดูโครงสร้างธุรกิจของไทย เรามีสัดส่วนธุรกิจขนาดเล็กค่อนข้างสูง มีการจ้างงานมาก
แต่ศักยภาพการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ จึงอาจทำให้ธุรกิจขนาดเล็กของไทยเผชิญกับความยากในการปรับตัวต่อ Trend ใหม่
(รูปที่ 2)
นอกจากนี้ ผลประโยชน์จากการลงทุนยังมีแนวโน้มกระจุกตัวในประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพิงการใช้ข้อมูลอย่างเข้มข้นอย่าง Facebook, Google, Alibaba จึงยากที่ประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถแข่งขันในธุรกิจลักษณะนี้ได้ ทำให้ผลประโยชน์จากการลงทุนด้านเทคโนโลยี ไม่กระจายไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และการเพิ่มขึ้นของบริษัทผู้นำนี้ ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของการจ้างงานในบางบริษัท และการจ้างงานโดยรวมลดลง ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นทั้งในระดับธุรกิจ (Sector) และระดับประเทศ
ในตอนนี้เราเห็นแล้วว่า เทคโนโลยีโดยเฉพาะ Automation และ A.I. จะกระทบใน 3 ด้าน คือ 1) ไทยอาจคาดหวังเม็ดเงินลงทุนไม่ได้มากเท่าเดิม เนื่องจาก Tech MNEs ลงทุนไม่ได้มากเหมือนกับ MNEs ทั่วไปอย่างในอดีต และเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจในประเทศมีความจำเป็นในการลงทุนเองลดลง 2) การจ้างในทุกกลุ่มทักษะจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เฉพาะแรงงานทักษะพื้นฐาน (Blue collar) เท่านั้น 3) โลกมีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ผลประโยชน์กระจุกตัวในผู้นำตลาดและในบางประเทศ
ตัวอย่างที่เห็นชัดในไทย คือ เรื่องการจ้างงาน แนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่นี้จะส่งผลต่อไทยอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพ ลองนึกดูว่า หากความฝันของการมีชีวิตที่ดีขึ้น คือการออกจากบ้านเกิดเพื่อเข้ามาหางานในเมืองใหญ่ ทำงานในโรงงานหรือห้างสรรพสินค้า หรือหากความฝันสู่การเป็นชนชั้นกลางคือการเรียนจบมหาวิทยาลัย ทำงานในบริษัทที่มั่นคง ทั้งสองความฝันต่างคาดหวังต่อการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่จะเป็นอย่างไรหากพบว่า ต้องใช้เวลาหรือลงทุนหาความรู้ใส่ตัว มากถึง 1 ใน 4 ของชีวิตเพียงเพื่อจะรู้ว่า ฝันนั้นเริ่มเลือนราง โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ความรู้ ความสามารถ แบบเดิมไม่เพียงพอต่อการปรับตัวอยู่รอดได้ในโลกใหม่ เพราะสิ่งที่โลกคาดหวังกลับกลายเป็นระบบที่ชาญฉลาดและทรงประสิทธิภาพ (A.I. & Automation) ท้ายที่สุดอาจพบว่า ตำแหน่งงานที่คาดหวังมีโอกาสถูกแทนที่ด้วย Automation โดยจากงานของ McKinsey (2017) พบว่า 3 ภาคเศรษฐกิจหลักของไทย (ภาคการผลิต, โรงแรมและภัตตาคาร, ค้าส่งค้าปลีก) มีโอกาสมากกว่า 50% ที่จะถูกทดแทนด้วย Automation ซึ่ง 3 ภาคเศรษฐกิจดังกล่าวมีจำนวนแรงงานกว่า 40% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด
เมื่อเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เส้นทางสู่การมีความเป็นอยู่ที่ดีมีทางเลือกน้อยลง พร้อมกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น การวางแผนเพื่อรับเรื่องดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถึงที่สุดแล้วไม่ใช่การลงทุนหรือเศรษฐกิจที่ดีที่เราใส่ใจ หากแต่เป็นการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่างหาก อื่นๆ ล้วนเป็นทางผ่านไปสู่เป้าหมาย
จากการพยายามวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลงทุนไทย หาสาเหตุของการลงทุนต่ำ รวมถึงพยายามวาดภาพหน้าตาการลงทุนในอนาคต ให้สอดรับกับช่วงเวลาของการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 จึงเป็นความท้าทายที่ต้องคิดร่วมกันว่าจะทำอย่างไรจึงสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้เราต้องคิดใหม่เกี่ยวกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโจทย์ของไทยในการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ดังนั้น …
1) แม้การลงทุนของไทยที่ผ่านมาจะต่ำไม่ว่ามองจากมุมไหน แต่การหมกมุ่นกับเม็ดเงินลงทุนเพียงอย่างเดียวไม่อาจตอบโจทย์ของประเทศได้ เนื่องจากเมื่อมองไปข้างหน้าเทคโนโลยีอาจทำให้เม็ดเงินลงทุนไม่ได้มากเท่าเดิม ดังนั้น การลงทุนต้องเพิ่มศักยภาพการผลิต โดยเน้นการพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้
2) ไม่ใช่แค่พยายามยกระดับห่วงโซ่การผลิต (Value chain) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องปรับตัวสู่ Digital value chain ที่ต้องการศักยภาพและทักษะแบบใหม่ใน
การเกาะเกี่ยวกระแสเทคโนโลยีเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูง
3) ปรับบทบาทภาครัฐจากการเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยตัวเอง สู่การเป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกต่อภาคประชาชน และเอื้อต่อกลไกการดำเนินธุรกิจและการลงทุนของภาคเอกชน (Ease of doing business) ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีคนอื่นทำ แต่มีความจำเป็นต่อประเทศ เช่น การลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น (Regulatory guillotine) สร้างระบบแรงจูงใจให้ธุรกิจลองผิดลองถูก ให้คนที่ล้มเหลวสามารถลุกขึ้นได้ไม่ยาก และพัฒนาระบบการศึกษาให้คนมีทักษะตรงกับที่ธุรกิจต้องการ
4) ไม่ส่งเสริมการลงทุนตามประเภทอุตสาหกรรม แต่ควรส่งเสริมตามสิ่งที่ผลิตแล้วมีมูลค่าเพิ่ม เพราะมีตัวอย่างให้เห็นถึงการเลือกสนับสนุนบางภาคเศรษฐกิจ แต่ไม่ยั่งยืน ดังกรณีอินเดียที่เรามักคิดว่าเป็นประเทศที่มีจุดแข็งด้าน IT business แต่ตอนนี้บางตำแหน่งงานถูกทดแทนจากการมาของ A.I.
ทั้งหมดนี้เพื่อให้การลงทุนตอบโจทย์แท้จริงของประเทศ ที่ไม่เพียงแต่ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตดีหรือพัฒนาศักยภาพการผลิตโดยรวม แต่เป้าหมายสูงสุดคือการยกระดับคุณภาพชีวิตโดยเสมอหน้า ขยายโอกาสให้กับธุรกิจรายย่อย และกระจายความเท่าเทียมแรงงานในช่วงเวลาต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง โดยใช้โอกาสนี้ในการแก้ข้อผิดพลาด ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งผ่านความมั่งคั่งจากการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง (เสียที)
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ / กฤษฏิ์ ศรีปราชญ์ / จารีย์ ปิ่นทอง / ศิริกัญญา ตันสกุล/
รุจา อดิศรกาญจน์ / แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ / พิมพ์อร วัชรประภาพงศ์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก kumataroooooooo.blogspot.com