กาฬสินธุ์โมเดล บริหารจัดการน้ำท่วม - น้ำแล้ง “สร้างคน" ไปสร้างฝาย
กาฬสินธุ์โมเดล "เราไม่สร้างฝาย แต่สร้างคน เพื่อไปสร้างฝาย พอสร้างคนสำเร็จ เขาจะเป็นเจ้าของฝาย หมดภาระเรื่องการดูแล
“กาฬสินธุ์” ไม่ต่างจากสกลนคร ที่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จังหวัดนี้ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุเซินกา จนอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำเกินความจุ ลำน้ำหลายแห่งเอ่อล้นเข้าท่วมไร่นา และบ้านเรือนประชาชน
“ท่วมหมดเลยดิ ข้าวที่ปลูกไว้ 2 ไร่ ปลาที่ปล่อยในนาข้าวนี่ก็หมดเลย หาย หายไปกับน้ำ บ่อกุ้งลงไว้ 200 ตัวก็หายไปกับน้ำหมดเลย”
บุญล้น สุวรรณพฤกษ์ ครูฝายรุ่นที่ 4 แห่งบ้านแซงบาดาล หมู่ 1 ตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ชี้ไปยังที่ดินเกือบ 4 ไร่ ให้คณะสื่อมวลชนซึ่งลงพื้นที่เยี่ยมชมและศึกษาดูงานพัฒนาแหล่งน้ำ “ฝายมีชีวิต” กับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ดู เพื่อให้เห็นระดับน้ำที่ไหลหลากลงมาจากเทือกเขาภูพาน เข้าท่วมสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างขนาดไหน
บ้านแซงบาดาล พื้นที่ติดเทือกเขาภูพาน เป็นตำบลที่แห้งแล้งมาก ในช่วงฤดูแล้งแทบไม่มีน้ำทำการเกษตร ทั้งในห้วย หนอง คลอง บึง คนแถวนี้ทำการเกษตรไม่ได้ แต่พอถึงฤดูฝน ฝนตกน้ำจะไหลแรงมาก
น้ำมาเร็วไปเร็ว และไม่มีที่กักเก็บ “บุญล้น” บอกต่อ ก่อนเล่าถึงประสบการณ์การสร้างฝายมีชีวิต หลังผ่านการอบรม ครูฝาย จากพระมหาสุภาพ พุทธวิริโย เจ้าอาวาสวัดป่านาคำ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อปี 2555
“อบรมกลับมาผมก็ทำเลย ทำหลุมพอเพียง ทำเกษตรผสมผสาน มีบ่อปลา บ่ออนุบาลปลา ซึ่งก่อนจะมีการทำฝาย น้ำมาเยอะก็จริง แต่ไม่มีการกักเก็บ พอขาดฝนน้ำก็หมดไป ทำได้แค่นาปีเท่านั้น และปลูกพืชแค่พอได้กิน”
ฝายตัวที่ 6 บ้านแซงบาดาล กำลังจะสร้างเสร็จ เพื่อรวมเป็นหนึ่งในโครงการฝายมีชีวิต 90 ฝายเพื่อถวายในหลวงปี2560 เขาชี้ว่า คนในชุมชนบ้านแซงบาดาลเริ่มสร้างฝายตัวแรก ตัวเล็กๆ ที่เห็นนี้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ถึง 5 เมษายน 2560 ใช้เวลาช่วยกันทำอยู่ 5 วัน ก็แล้วเสร็จ
“หมดฝนผมจะเอากระสอบทรายใส่เติมเข้าไปอีก เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ตอนน้ำมาแรงๆ ฝายตัวนี้ไม่พังเลย ฝายมีชีวิตมีประโยชน์มหาศาลมาก ต้นไม้ก็งอกงามอย่างที่ท่านเห็น คืนชีวิตป่า คืนชีวิตให้สัตว์น้ำ”
ขณะที่ “อิสระ ขันปรึกษา” นายช่างโยธาชำนาญงาน เทศบาลตำบลแซงบาดาล ศิษย์ครูฝายรุ่นที่ 4 มองถึงการทำงานแบบร่วมด้วยช่วยกันสร้างฝายมีชีวิต ทำกันเอง ประยุกต์ใช้วัสดุในชุมชน ทำให้ใช้งบประมาณในการสร้างไม่สูงนัก ซึ่งหากทุกหมู่บ้านทำฝายชะลอน้ำ โดยทำทุก 2 กิโลเมตร เชื่อว่า ประเทศเราจะไม่ขาดน้ำใช้ทำการเกษตรเลย
“ประเทศไทยปล่อยน้ำทิ้งลงทะเล เราจึงประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งเสมอๆ
จากนั้น มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ พาคณะสื่อมวลชนเดินทางต่อไปยัง บ้านหนองแห้ว หมู่ 5 ตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ อีกหนึ่งหมู่บ้านที่ชุมชนร่วมกันสร้างฝายมีชีวิต ฝายแห่งนี้มีขนาดใหญ่กว่าที่บ้านแซงบาดาล ภาพแรกที่เห็นบริเวณบันไดหน้าฝาย เด็กๆ กำลังลงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ขณะที่เมื่อกวาดสายตาไปไกลอีกนิด บริเวณสันฝายมีชาวบ้าน 4-5 คน จับกลุ่มนั่งหลบแดดอยู่ใต้กอไผ่ เฝ้าดูสายน้ำที่ไหลแรงกระแทกกระทบตัวฝาย ไหลต่อไปยังหมู่บ้านท้ายน้ำ พวกเขาหวังว่า ปริมาณน้ำจะมีเพียงพอเหลือใช้ทำการเกษตรเมื่อถึงฤดูแล้งปีหน้า
“นี่คือตอนที่เราทำไม่มีน้ำเลย เดือนพฤษภาคมที่ทำใหม่ๆ พื้นดินแห้งขนาดนี้เลย" ชญาณิศา แจ่มจันทร์ นักพัฒนาชุมชน เทศบาลตำบลแซงบาดาล ครูฝายรุ่นที่ 9 เปิดภาพที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือให้เราดูช่วงเริ่มสร้างฝาย เพื่อให้เห็นว่า พื้นที่แห่งนี้ตอกหลักลงไปแทบตอกไม่ลงเลย ดินในหน้าแล้งแข็งเอามากๆ
เธอจดสถิติฝายบ้านหนองแห้ว ใช้กระสอบทรายไปกว่า 7,800 ใบ ใช้ไม้ไผ่ที่ปลูกในชุมชน เมื่อน้ำมาแรงพัดจนสะพานขาดจนดินท้ายเขื่อนบางส่วนพังทลาย แต่ตัวฝายกลับไม่ได้รับความเสียหายเลย
นอกจากนี้ ครูฝาย ยังเล่าถึงที่ไปที่มา และเหตุผลที่ทำให้เธอต้องลงมาสร้างฝายร่วมกับชาวบ้านอย่างจริงจังว่า
“ก่อนที่จะมาสร้างฝายตัวเองป่วยหนักกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเดินไม่ได้อยู่ 5 วัน ในช่วงเวลาที่ไม่สบาย ก็คิดหนักไปสารพัด ทั้งถามตัวเอง เราจะเดินไม่ได้จริงเหรอ จะเดินไม่ได้ยังไง ในเมื่อเรายังไม่ได้ทำอะไรเพื่อพ่อหลวงเป็นชิ้นเป็นอันเลยนะ จึงตั้งจิตอธิฐานขอให้เดินได้อีกครั้งจะได้สานต่อสิ่งที่พ่อทำ
หลังจากกลับมาเดินได้อีกครั้ง ก็มีโครงการอบรมครูฝายมีชีวิตเข้ามา ก็รีบสมัครทันที แต่วันอบรมหน่วยงานต้นสังกัดไม่ให้ลา เพราะเป็นช่วงสิ้นเดือน พออบรมจริงๆ ได้อบรมแค่เสาร์-อาทิตย์ และเมื่อเป็นความตั้งใจที่จะทำถวายพ่อหลวงจึงเดินหน้าลุยกับชาวบ้านเรื่อยมา
การได้มาสร้างฝายทำให้เรามีความสุขมาก รับราชการมาสิบกว่าปีไม่มีความสุขเท่าการได้สร้างฝายในไม่กี่เดือน เพราะเราทำเพื่อพ่อ การสร้างฝายทำให้เราได้รู้จักคนรู้จักพื้นที่ ได้แก้ปัญหาร่วมกัน มิตรภาพดีๆได้เกิดขึ้น ซึ่งเราจะไม่ได้รับมันเลยหากเราแค่นั่งทำงานในสำนักงานสบายๆ” ชญาณิศา เล่าอย่างเปิดใจ
ปัจจุบัน 69 ฝายในจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังอยู่รอดปลอดภัยจากอุทกภัยของพายุเซินก้า แม้การดำเนินโครงการผสานรวมพลังประชารัฐขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ สู่ความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน กิจกรรมเปลี่ยนภาระเป็นพลัง 90 ฝายถวายในหลวง จะล่าช้าออกไปจากที่ตั้งเป้าเอาไว้ แต่คาดว่า ไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้ จะดำเนินการครบ90 ฝาย เพื่อน้อมถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้อย่างแน่นอน
หนึ่งในอำเภอที่ร่วมขับเคลื่อนทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำตั้งแต่ช่วงแรกๆ “ประพันธ์ พบูประภาพ” นายอำเภอคำม่วง อำเภอที่ส่งบุคลากรมาฝึกอบรมครูฝายมากที่สุดถึง 143 คน บอกว่า อำเภอคำม่วงส่งคนมาทุกหมู่บ้านเลย หมู่บ้านละ 2 คน หลังครูฝายผ่านการอบรม วันนี้เราทำฝายเสร็จแล้วในพื้นที่ 7 แห่ง จากเป้าหมาย 11 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากเอกชนในพื้นที่ ทั้งกระสอบใส่ทราย และทำผ้าป่า ภาคอีสานเรียกว่า แผ่เงินกัน ทั้งอาหารการกิน ซื้อดิน ซื้อต้นไม้ เชือก เพื่อสร้างฝายกันเองในชุมชน
เหลืออีก 4 แห่ง เขาเชื่อว่า สร้างเสร็จทันเดือนสิงหาคม เพราะช่วงนี้น้ำเริ่มลดลงแล้ว
“ที่ผ่านมาพื้นที่อำเภอคำม่วงไม่ใช่ไม่มีฝาย เรามีฝาย แต่แบบที่ทางราชการสร้างให้ เป็นฝายคอนกรีต แต่นานๆ ไปจากฝายน้ำล้น กลายเป็นฝายน้ำลอด กักเก็บน้ำไม่อยู่”
สำหรับวัดป่านาคำ ศูนย์ฝึกอบรมครูฝาย ปัจจุบันมีครูฝายผ่านการอบรมจนได้เกียรติบัตรปราชญ์ด้านน้ำแล้ว 521 คน พระมหาสุภาพ ผู้บุกเบิกการสร้างฝายมีชีวิต ใน จ.กาฬสินธุ์ และขับเคลื่อนการสอนธรรมะผ่านสายน้ำด้วยศาสตร์พระราชา บอกว่า เตรียมขยับตั้งเป็น “สถาบันฝึกอบรมครูฝาย” โดยมีมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ สนับสนุน
พร้อมกันนี้ ได้ขยับตัวเลขการสร้างฝายมีชีวิตที่กาฬสินธุ์จากหลักสิบ เป็นหลักร้อย
“เดิมทีตั้งใจสร้าง 90 ฝายถวายในหลวง แต่คาดว่า ปิดยอดปลายปี 2560 น่าจะได้ถึง 150 แห่ง อาตมาว่า เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เพราะการสร้างฝายที่กาฬสินธุ์โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐเลย รัฐเป็นแค่พี่เลี้ยง เอาคนดีมาเจอคนดี พลังการสร้างฝายเกิดจากประชาชนจริงๆ ทำให้เห็นว่า กระบวนการสร้างฝายด้วยพลังชุมชนนั้นมีอยู่จริง” พระมหาสุภาพ ระบุ และให้แนวคิดทิ้งท้ายถึงกระบวนการสร้างฝายที่กาฬสินธุ์ด้วยว่า เราไม่สร้างฝาย แต่สร้างคน เพื่อไปสร้างฝาย พอสร้างคนสำเร็จ เขาจะเป็นเจ้าของฝาย หมดภาระเรื่องการดูแล"
และนี่คือ “กาฬสินธุ์โมเดล” กับการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง แก้ปัญหาน้ำทั้งจังหวัด ด้วยพลังความรู้ พลังความร่วมมือ และพลังของการจัดการ...
|
|
พระมหาสุภาพ ผู้บุกเบิกการสร้างฝายมีชีวิต ใน จ.กาฬสินธุ์
ก่อนสร้าง ฝายบ้านหนองแห้ว
ทนทาน
ฝายบ้านแซงบาดาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: