ทำตามมติครม.แล้ว! 'ฐากร' แจงปมโครงการเน็ตความเร็วสูงพื้นที่ชายขอบ2หมื่นล.
"...ตามที่สตง. ขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ที่ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ.ทีโอที) หารือกับสำนักงาน กสทช. ในประเด็นการมอบหมายงานจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน (USO) ให้แก่ NBN Co. ขอยืนยันว่า สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าวแล้ว..."
จากกรณีในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์) และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้คำนึงถึงผลกระทบโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนของ Zone C+ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ซึ่งจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ ที่ใช้เงินจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการ ตามแผนการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม พ.ศ.2555-2559 วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อาจก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินงานในอนาคต (อ่านประกอบ : อาจมีปัญหาในอนาคต! สตง.ชง รมว.ดีอี-กสทช. ทำโครงการเน็ตความเร็วสูง2หมื่นล.รอบคอบ)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ล่าสุดนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ สตง. เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงการดำเนินโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ดังกล่าว
ระบุว่า ตามที่สตง. ขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ที่ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ.ทีโอที) หารือกับสำนักงาน กสทช. ในประเด็นการมอบหมายงานจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน (USO) ให้แก่ NBN Co. ขอยืนยันว่า สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าวแล้ว โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ได้จัดประชุมระหว่างสามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติ ครม. ดังกล่าว ได้แก่ ดศ. บมจ.ทีโอที และสำนักงาน กสทช. ซึ่งได้ข้อยุติร่วมกันว่า กสทช. ไม่สามารถมอบหมายภารกิจการจัดให้มีบริการ USO ให้แก่ NBN Co. ไปดำเนินการโดยตรงได้ เนื่องจากขัดต่อบทบัญญัติตามกฎหมายของ กสทช. ที่บัญญัติ ให้ กสทช. จะต้องมอบหมายภารกิจ USO ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายดำเนินการในส่วนของตนเองเท่านั้น ทั้งนี้ กสทช. ไม่มีอำนาจมอบหมายงานภารกิจ USO ผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่งไปยังผู้รับใบอนุญาตอีกรายหนึ่ง ให้ดำเนินการแทนโดยตรงได้ หรือหาก กสทช. ไม่ดำเนินการภารกิจ USO เองก็ให้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการแทนก็ได้
โดยมีรายละเอียดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1.1 โดยที่มาตรา 17 และ 18 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ได้บัญญัติให้การจัดให้มีบริการ USO เป็นอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. โดยสามารถกระทำได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) มอบหมายให้แก่ผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่ กสทช. กำหนด ดังนั้น การดำเนินงานในส่วนนี้ กสทช. จึงไม่มีอำนาจมอบหมายภาระงานของผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่งไปยังผู้รับใบอนุญาตอีกรายหนึ่งให้ดำเนินการแทนโดยการโอนเงินไปยังผู้รับใบอนุญาตรายนั้นโดยตรงได้ หรือ (2) ให้ผู้รับใบอนุญาตนำส่งค่าธรรมเนียม USO แก่กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อให้ กสทช. นำไปจัดให้มีบริการ USO ตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม
ต่อมาเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ขึ้นใช้บังคับ มาตรา 50 ได้บัญญัติให้ กสทช. จะต้องกำหนดแผนการจัดให้มีบริการ USO พร้อมทั้งประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน โดยจะจัดเก็บค่าธรมเนียม USO จากผู้รับใบอนุญาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวและเพื่อให้การดำเนินงานของ กสทช. มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
ดังนั้น กสทช. จึงได้จัดทำแผนการจัดให้มีบริการ USO และนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 กำหนดให้การคัดเลือกผู้ให้บริการ USO ต้องใช้วิธีการประกวดราคาแข่งขันเป็นหลักซึ่งเป็นวิธีการที่โปร่งใส สามารถสะท้อนต้นทุนการจัดให้มีบริการ USO ได้อย่างแท้จริง และเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ผู้รับใบอนุญาตทุกรายจึงได้ชำระค่าธรรมเนียม USO ตามหลักการและเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามแผนการจัดให้มีบริการ USO ตามที่ได้มีการลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
1.2 จนกระทั่งปัจจุบันได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตาม มาตรา 30 โดยให้เพิ่มข้อความในวรรคห้าของมาตรา 50 ว่า “ในการดำเนินการตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเพื่อสังคมตามวรรคหนึ่ง ให้ กสทช. มีอำนาจมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการทั้งหมดหรือบางส่วนแทนได้ ในกรณีเช่นนั้นให้ กสทช. โอนเงินที่เรียกเก็บได้ตามวรรคสามและที่กำหนดไว้ตามวรรคสี่ให้แก่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อดำเนินการต่อไป”
จากข้อกฎหมายทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า การมอบหมายภารกิจการจัดให้มีบริการ USO ของ กสทช. ให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทน ตามกฎหมายได้กำหนดให้ กสทช. สามารถมอบให้แก่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เท่านั้น ดังนั้น กสทช. จึงไม่สามารถมอบหมายให้แก่ NBN Co. ได้ ทั้งนี้ หาก กสทช. ดำเนินการมอบหมายภารกิจ USO ให้แก่ NBN Co. โดยตรง ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย อย่างไรก็ดี หาก ครม. จะมีมติให้ กสทช. ดำเนินการอื่นนอกเหนือจากการดำเนินการภารกิจ USO ดังกล่าวนี้ โดยเป็นการดำเนินการที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว กสทช. ยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนบริษัท NBN Co. ต่อไป
2. ตามหนังสือที่อ้างถึง สตง.กล่าวหาว่าการพิจารณาเลือกผู้ให้บริการที่จะเป็นผู้ดำเนินโครงการของสำนักงาน กสทช. อาจก่อให้เกิดการลงทุนในโครงขายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่ซ้ำซ้อน ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาในการสนับสนุนงบประมาณ และไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง นั้น
สำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่า ความเห็นของ สตง. ข้างต้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง จึงขอนำเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้
2.1 สืบเนื่องจากข้อทักท้วงของ สตง. ในเรื่องความซ้ำซ้อนในการลงทุนยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นความซ้ำซ้อนในเรื่องใดประเด็นใด สำนักงาน กสทช. จึงขอชี้แจงว่าหาก สตง. หมายถึงความซ้ำซ้อนในมิติของพื้นที่เป้าหมายในระดับหมู่บ้านที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ดศ. กับสำนักงาน กสทช. นั้น ขอเรียนว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสองหน่วยงาน โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ และกรรมการ กสทช. (พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร) เป็นประธานร่วมกัน เพื่อพิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านให้ปราศจากความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ของทั้งสองหน่วยงาน ทั้งนี้ การพิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายของคณะทำงานฯ นั้น ได้มีการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นต้น ด้วยกระบวนการทั้งหมด ที่ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลต่างๆ ดังกล่าว จึงทำให้การกำหนดพื้นที่เป้าหมายระหว่างสองหน่วยงานไม่ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด
แต่หาก สตง. หมายถึงความซ้ำซ้อนในมิติของการขยายโครงข่ายที่อยู่ในการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. นั้น ขอเรียนชี้แจงว่าโครงข่ายอินเตอร์เน็ตรอดแบนด์โดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลักๆ 2 ส่วน ได้แก่ โครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) และโครงข่ายท้องถิ่น (Last mile) ซึ่งจากผลการสำรวจของสำนักงาน กสทช. ในส่วนของพื้นที่ชายขอบที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าบริเวณหน้าพื้นที่โครงการนั้นมีโครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) ของผู้ให้บริการหลายรายพาดผ่านตามแนวถนนอย่างพอเพียงแล้ว ซึ่งปัญหาความขาดแคลนโครงข่ายที่เป็นอยู่จะเป็นความขาดแคลนโครงข่ายท้องถิ่น (Last mile) ที่เชื่อมต่อจากแนวถนนเข้าไปยังหมู่บ้านเป้าหมาย ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงไม่เห็นถึงความจำเป็นประการใดที่จะต้องลงทุนในส่วนของโครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) เพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันอันจะก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน ในทางกลับกัน
การที่ สตง. ทักท้วงให้สำนักงาน กสทช. มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที ดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งหมดซึ่งรวมถึงในส่วนของโครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) นั้น ยิ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนในส่วนของโครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่อย่างใด ในการตรงกันข้ามยิ่งจะเป็นการลงทุนที่เปล่าประโยชน์โดยที่รัฐไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงไม่ได้ดำเนินโครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วและเพียงพอต่อการให้บริการ แต่มุ่งเน้นดำเนินการในส่วนที่เป็นโครงข่ายท้องถิ่น (Last mile) ที่ยังขาดแคลน โดยสำนักงาน กสทช. กำหนดในขอบเขตของงาน หรือ TOR ว่า ผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเชื่อมต่อโครงข่ายมายัง NBTC Node ด้วยงบประมาณของตนเอง อันจะส่งผลให้เกิดการประหยัดงบประมาณโครงการจากการไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อนในส่วนของโครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) นอกจากนี้รูปแบบดังกล่าวยังมีความเป็นกลาง ไม่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งอันจะนำมาสู่ความได้เปรียบของต้นทุนการดำเนินการ และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในที่สุด การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. ในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย และได้คำนึงถึงผลกระทบนโยบายรัฐบาลและมติ ครม. ที่ต้องการให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ
2.2 สำหรับกรณีที่ สตง. มีข้อห่วงใยถึงผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กสทช. เพราะผู้ให้บริการอาจยกเลิกการให้บริการ รวมถึง ดศ. ไม่สามารถบริหารโครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาจต้องลงทุนขยายโครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) เพิ่มเติม นั้น สำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่า การดำเนินโครงการของสำนักงาน กสทช. ที่ได้กำหนดในขอบเขตของงาน (TOR) ให้ผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเชื่อมต่อ NBTC Node กับโครงข่ายแกนหลักที่มีอยู่ (Existing Backbone Network) ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายร่วมกันอย่างคุ้มค่า (Network Utilization) และเป็นการลดต้นทุนโครงการได้ต่ำกว่ากรณีที่รัฐดำเนินการเอง อันจะส่งผลให้อัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่เป้าหมายของสำนักงาน กสทช. ถูกกว่าอัตราค่าบริการโดยทั่วไป และเมื่อครบกำหนดอายุโครงการ หากเกิดกรณีที่ผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการและรัฐต้องการดำเนินการเองก็ได้มีนโยบาย Open Access ของรัฐบาลที่กำหนดเจ้าของโครงข่ายต้องเปิดให้เชื่อมต่อและเช่าใช้โครงข่ายระหว่างกัน ประกอบกับกฎหมายของ กสทช. เพื่อกำกับดูแลให้เกิดการใช้งานโครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมร่วมกันผ่านประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และประกาศ กสทช. เรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 รองรับไว้อยู่แล้ว ดังนั้นจะทำให้รัฐสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายที่ได้รับมอบมา กับผู้ให้บริการที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้โดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ
2.3 สำหรับข้อห่วงใยของ สตง. เกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กสทช. ว่าจะมีหน่วยงานใดดูแลและรับผิดชอบเพื่อให้การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบริการอื่นใดเกิดความยั่งยืนและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในที่สุด นั้นสำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่าโดยแท้จริงแล้วแนวทางการจัดให้มีบริการ USO นั้นเมื่อครบกำหนดระยะเวลาโครงการแล้ว โครงข่ายและทรัพย์สิน รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของโครงการที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะเป็นของ ผู้ให้บริการ โดยมีสำนักงาน กสทช. กำกับดูแลการให้บริการ อันจะส่งผลให้ราคากลางของโครงการต่ำกว่า
ที่จะต้องโอนทรัพย์สินกลับมาให้รัฐ อย่างไรก็ตามด้วยมติคณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมครั้งที่ 2/2559 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่กำหนดให้ กสทช. ดำเนินการตามมาตรา 56 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐรัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้” จึงทำให้สำนักงาน กสทช. จำเป็นต้องกำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (TOR) ให้ผู้ให้บริการมีข้อผูกพันในการส่งมอบทรัพย์สินของโครงการทั้งหมดที่อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพให้แก่รัฐ (ได้แก่ ดศ.) ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับโครงการเน็ตประชารัฐ โดยที่ในท้ายที่สุด ดศ. จะเป็นผู้รับผิดชอบและบริหารโครงข่ายทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งในกรณีที่ ดศ. จะดำเนินการดังกล่าวจะต้องประสานเชิงนโยบายกับ กสทช. เพื่อกำหนดนโยบาย ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน
ทั้งนี้ต่อข้อกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้น กสทช. ภายใต้มาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ได้บัญญัติให้การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายที่ ครม. แถลงไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการมอบหมายให้ กสทช. ดำเนินการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว กสทช. ก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลต่อไป
3. ตามหนังสือที่อ้างถึง 3. ได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้นำเรียนไปแล้ว ดังนั้นจึงขอชี้แจงเฉพาะประเด็นที่ยังมิได้มีการชี้แจง ดังนี้
3.1 ต่อกรณีที่ สตง. กล่าวหาว่าการตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (คณะทำงานฯ) เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ที่มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารเทศและการสื่อสาร (ทก.) บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าวโดยได้สนับสนุนข้อมูลการดำเนินโครงการ USO ให้แก่ ทก. แล้วทั้งสิ้น ผ่านคณะทำงานพิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (คณะทำงานฯ) ซึ่งมีองค์ประกอบร่วมกันระหว่างผู้แทนของ ทก. และสำนักงาน กสทช. ซึ่งสำหรับประเด็นการบูรณาการข้อมูลนั้นได้มีการเชิญผู้แทนจาก บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคมเข้าร่วมชี้แจงและสนับสนุนข้อมูลให้แก่คณะทำงานฯ นอกจากนี้ ในส่วนของ ทก. ภายหลังจากที่ได้รับข้อมูลจากคณะทำงานฯ แล้วยังได้เชิญผู้ให้บริการภาคเอกชนมาตรวจสอบข้อมูลโครงข่ายและบริการอินเทอร์เน็ตเพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนการดำเนินงานอีกครั้ง อีกทั้งการดำเนินงานที่ผ่านมาภายหลังจากการกำหนดพื้นที่เป้าหมายระดับหมู่บ้านแล้วสำนักงาน กสทช. และ ดศ. ยังคงประสานงานกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นความทับซ้อนของพื้นที่เป้าหมายดำเนินการในระดับหมู่บ้านของ ดศ. และสำนักงาน กสทช. แต่อย่างใด
ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. ภายหลังจากที่ได้รับมอบหมายพื้นที่ 3,920 หมู่บ้านจากหัวหน้า คสช. แล้ว เพื่อให้เกิดความรอบคอบและโปร่งใส มีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สำนักงาน กสทช. จึงได้พิจารณาใช้กระบวนการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และได้มีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลโครงข่ายโทรคมนาคมอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ความขาดแคลนและความต้องการใช้งานที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันความซ้ำซ้อนการดำเนินงาน เพื่อให้การออกแบบโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบของสำนักงาน กสทช. มีรายละเอียด (Detail Design) ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน รูปแบบสถาปัตยกรรมระบบ รวมถึงรายการอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปอย่างเหมาะสม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานฯ จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ของ ทก. นั้นได้ใช้วิธีที่แตกต่างกันไปโดยได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที เป็นผู้ดำเนินการแทน
3.2 ต่อกรณีที่ สตง. กล่าวหาว่าได้มีการเสนอข้อมูลไปยังหัวหน้า คสช. โดยแจ้งข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงจนเป็นผลให้ กสทช. ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการ USO นั้น สำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่าขั้นตอนและกระบวนการในการนำเสนอไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการ USO นั้นไม่ใช่ขั้นตอนการดำเนินงานของ กสทช. แต่อย่างใด หากแต่เป็นขั้นตอนการดำเนินงาน ของ ดศ. และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการเสนอความเห็นต่อ คสช. และ ครม. ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระจึงเป็นผู้รับข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ภายหลังจากกระบวนการพิจารณาอนุมัติให้ กสทช. ดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นสำนักงาน กสทช. จึงไม่ทราบถึงรายละเอียดการนำเสนอข้อมูลต่อ คสช. และ ครม. แต่อย่างใด
3.3 ต่อกรณีที่ สตง. ได้มีความเห็นถึงการดำเนินโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ของสำนักงาน กสทช. ที่มีความแตกต่างจากการดำเนินงานของ ทก. โดยอ้างว่าการดำเนินงานของ ทก. เป็นไปตามมติ ครม. ที่มีเจตนารมณ์ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งต้องการให้หน่วยงานของรัฐกำกับดูแลโครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) เพื่อเป็นหลักประกันถึงระบบสื่อสารเพื่อความมั่นคงของรัฐ นั้น สำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการแล้ว โครงข่ายต่างๆ ที่อยู่ภายใต้โครงการจะถูกส่งมอบให้แก่รัฐ (ดศ.) ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในส่วนดังกล่าวในส่วนนั้นต่อไป และหากมีโครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) ภายใต้โครงการจะถูกส่งมอบตามเงื่อนไขดังกล่าวด้วยเช่นกัน ดังนั้นการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. จึงสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ส่งมอบโครงข่ายสื่อสารให้แก่รัฐต่อไป
จากเหตุผลตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ชี้แจงตามข้อสังเกตของ สตง. ทั้งสามฉบับข้างต้นนั้น สำนักงาน กสทช. ใคร่ขอนำเรียนบทสรุปเพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาของ สตง. เพิ่มเติม ดังนี้
1. โดยที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 17 และมาตรา 18 ได้บัญญัติให้การจัดให้มีบริการ USO เป็นอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. โดยสามารถกระทำได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) มอบหมายให้แก่ผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่ กสทช. กำหนด ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้ กสทช. ไม่มีอำนาจมอบหมายงาน USO ของผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่งไปให้ผู้รับใบอนุญาตอีกรายหนึ่งดำเนินการแทนได้ หรือ (2) ให้ผู้รับใบอนุญาตนำส่งค่าธรรมเนียม USO แก่กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ประกอบกับพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 50 ได้บัญญัติให้ กสทช. จะต้องกำหนดแผนการจัดให้มีบริการ USO พร้อมทั้งประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน โดยจะจัดเก็บค่าธรมเนียม USO จากผู้รับใบอนุญาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวและเพื่อให้การดำเนินงานของ กสทช. มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ กสทช. จึงได้ประกาศแผนการจัดให้มีบริการ USO พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตทุกรายจะต้องชำระค่าธรรมเนียม USO ในอัตราร้อยละ 3.75 ของรายได้ เพื่อให้ กสทช. นำเงินค่าธรรมเนียม USO ดังกล่าวไปใช้ในการจัดให้มีบริการ USO ตามแผนฯ ซึ่งได้กำหนดให้การคัดเลือกผู้ให้บริการ USO จะต้องใช้วิธีการประกวดราคา เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการตามที่ได้มีการลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ดังนั้น การประกวดราคาโครงการ USO ที่เกิดขึ้นจึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ
2. เดิมสำนักงาน กสทช. ได้มีแผนเตรียมการดำเนินโครงการจัดให้มีบริการ USO ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา แต่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ชะลอการดำเนินโครงการดังกล่าวออกไปก่อน ซึ่งภายหลังจากที่สำนักงาน กสทช. ได้รับคำสั่งหัวหน้า คสช. ในเดือนสิงหาคม 2559 ว่าให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินโครงการจัดให้มีบริการ USO ต่อไปได้โดยจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ซ้ำซ้อนกับงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เกิดผลสัมฤทธิ์สอดคล้องเกื้อกูลกัน ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงได้หารือร่วมกับกระทรวงฯ เพื่อร่วมกันพิจารณาพื้นที่เป้าหมายไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน จนกระทั่งได้ข้อยุติร่วมกันว่า กระทรวงฯ จะดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมหมู่บ้านในชนบทจำนวน 24,700 หมู่บ้าน ภายใต้เงินงบประมาณแผ่นดิน และให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในหมู่บ้านในชนบทที่เหลือจำนวน 15,732 หมู่บ้าน และหมู่บ้านชายขอบจำนวน 3,920 หมู่บ้าน โดยใช้งบประมาณโครงการจัดให้มีบริการ USO
3. ในการจัดให้มีบริการ USO ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงาน กสทช. นั้น เนื่องจากสำนักงาน กสทช. มุ่งหมายที่จะให้โครงการดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางไว้ ให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทและถิ่นทุรกันดารได้มีโอกาสเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อสร้างเสริมอาชีพ รายได้ เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ต่างๆ จากการดำเนินโครงการ USO โดยตรง โดยเฉพาะเปิดให้บริการให้เร็วที่สุดและมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่าอัตราปกติที่เอกชนให้บริการ โดยผู้ให้บริการไม่สามารถนำต้นทุนในส่วนที่เป็นอุดหนุนของรัฐมาใช้ในการคิดคำนวณเป็นต้นทุนในการให้บริการได้ ดังนั้น การประกวดราคาในครั้งนี้ ผู้ให้บริการจึงไม่สามารถคิดอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่โครงการที่มีการลงทุนในส่วนของโครงข่าย USO ในกรณีที่ประชาชน ครัวเรือน หรือวิสาหกิจชุมชนต้องการใช้งานเป็นการส่วนตัวได้เต็มราคาเท่ากับอัตราค่าบริการเรียกเก็บโดยทั่วไป หากแต่ต้องพิจารณาถึงต้นทุนที่สำนักงาน กสทช. สนับสนุนแก่ผู้ให้บริการที่ชนะการประกวดราคาไปแล้วเท่านั้น ซึ่งสำหรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความเร็ว 30 Mbps (Megabit per second) นั้น จะต้องลดลงจาก 599 บาทต่อเดือนเหลือประมาณไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน อีกทั้งยังต้องมีแพ็คเกจพิเศษสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีความต้องการความเร็วอินเทอร์เน็ตต่ำกว่าที่กำหนด เช่น แพ็คเกจความเร็ว 10 Mbps ราคาประมาณไม่เกิน 100 บาท/เดือน แพ็คเกจความเร็ว 15 Mbps ราคาประมาณไม่เกิน 150 บาท/เดือน เป็นต้น ซึ่งมาตรการทางด้านราคาดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่โครงการสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างทั่วถึง อันจะนำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน ชุมชน สังคม จังหวัด และส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ทั้งนี้ ผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องเริ่มดำเนินโครงการภายในเดือนกันยายน 2560 และภายในเดือนธันวาคม 2560 จะต้องเปิดให้บริการร้อยละ 15 ของจำนวนหมู่บ้านเป้าหมาย ในเดือนเมษายน 2561 จะต้องเปิดให้บริการร้อยละ 60 ของจำนวนหมู่บ้านเป้าหมาย และเดือนกรกฎาคม 2561 จะต้องเปิดให้บริการครบทุกหมู่บ้านเป้าหมายทั้งหมด
อนึ่ง การประกวดราคาในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประกวดราคาแข่งขันจำนวน 5 ราย โดย มีราคากลางของโครงการฯ มูลค่า 13,614,618,000 บาท และเมื่อสิ้นสุดการประกวดราคาแล้วมียอดการประกวดราคาเป็นมูลค่า 12,989,687,066 บาท จากผลการประกวดราคาในครั้งนี้ทำให้รัฐประหยัดเงิน ไปถึง 624,930,934 บาท
สำนักงาน กสทช. ขอนำเรียนชี้แจงเหตุผลดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนความเห็นของ สตง. และสำนักงาน กสทช. ยินดีที่จะน้อมรับความเห็นของ สตง. เพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป โดยหาก สตง. พิจารณาเหตุผลของสำนักงาน กสทช. ที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วยังคงยืนยันตามความเห็นเดิม สำนักงาน กสทช. พร้อมที่จะยุติโครงการดังกล่าว และจะได้มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐอื่นดำเนินการแทนภายใต้กรอบอำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และกรุณาแจ้งผลการพิจารณามายังสำนักงาน กสทช. เพื่อที่สำนักงาน กสทช. จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
(นายฐากร ตัณฑสิทธิ์)
เลขาธิการ กสทช.