เมื่อโรคอ้วน กับ โลกดิจิทัล กลายเป็นเรื่องเดียวกัน
แม้ว่าเทคโนโลยีจะสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์มากมายเพียงใดก็ตาม ภายใต้ประโยชน์เหล่านั้นมักจะแฝงไว้ด้วยด้านมืดเสมอหากเรามีการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างขาดความพอดี แม้กระทั่งความอ้วนที่เคยเชื่อกันว่าเกิดจากพฤติกรรมการกินแต่เพียงอย่างเดียวนั้น กลับกลายเป็นว่าความอ้วนมีความสัมพันธ์กับการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่น่าเป็นไปได้
เมื่อปี 2557 มีรายงานจาก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึง "รายงานสุขภาพคนไทย 2557" พบว่า คนไทยน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 2 ทศวรรษ เทียบ 10 ประเทศในเอเชีย โดย คนไทยอ้วนสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 10 ประเทศอาเซียน รองจากมาเลเซีย
รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2557 ระบุด้วยว่า โรคอ้วนถือเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวันอันควร จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคซึมเศร้า ภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับ และโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น โดยคนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าปกติ 2-3 เท่า ขณะเดียวกัน ยังพบเด็กอ้วนตั้งแต่ในระดับปฐมวัย (อายุ 1-5 ปี) และวัยเรียน (อายุ 6-14 ปี) ขยายตัวมากจนน่าเป็นห่วง คือเด็กนักเรียนทุกๆ 10 คน จะพบผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนอย่างน้อย 1 คน
นอกจากประเทศในอาเซียนแล้วประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดียและจีน ล้วนมีอัตราการเพิ่มของประชากรที่มีน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วมีคนอ้วนน้อยมาก แต่จากข้อมูลการสำรวจตั้งแต่ปี 1991 ถึง 2009 พบว่าคนญี่ปุ่นมีภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นสูงถึง 77 เปอร์เซ็นต์(จาก 2.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 1991 เป็น 3.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2009 ) ส่วนประเทศเกาหลีมีอัตราภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้น 73 เปอร์เซ็นต์(จาก 2.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 1998 เป็น 3.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2009) ส่วนประเทศอินเดียและประเทศจีนนั้นก็มีสถิติประชากรน้ำหนักเกินสูงมากเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ประชากรโลกอยู่ในภาวะโรคอ้วนมากกว่าสองเท่านับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ในปี 2014 มีข้อมูลว่า ประชากรโลกผู้ใหญ่มากกว่า 1,900 ล้านคนมีน้ำหนักเกินและ มากกว่า 600 ล้านคน เป็นโรคอ้วนนอกจากนี้ยังพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบถึง 41 ล้านคนเป็นโลกอ้วนและน้ำหนักเกิน
ปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกและนำไปสู่การรักษาโรคอื่นๆที่จะเกิดขึ้นตามมาซึ่งความสิ้นเปลืองงบประมาณในการรักษาแต่ละปีมิใช่น้อย ความอ้วนมักเกิดจากการบริโภคอาหารที่เกินความพอดี แต่ปัจจัยที่เรานึกไม่ถึงและไม่คาดว่าจะทำให้เกิดความอ้วนก็คือปัจจัยที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีมากเกินไปซึ่งเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆโดยที่เราไม่รู้ตัว
จากการศึกษาและรายงานจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือพบว่าความอ้วนมีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมีความเชื่อมโยงกับสุขภาพของมนุษย์อย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งเราใช้เทคโนโลยีประเภท ทีวี และคอมพิวเตอร์แบบต่างๆมากเท่าใด ก็จะส่งผลต่อสุขภาพของเราเองทั้งทางที่เป็นคุณและทางที่ให้โทษมากเท่านั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนกับเทคโนโลยีได้มีผู้ทำการศึกษาและรายงานมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาโดยพบว่าผู้ที่ใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไปจะเกิดผลกระทบต่อผู้ใช้อย่างน้อยที่สุดดังนี้
เทคโนโลยีทำให้เกิดพฤติกรรมติดเก้าอี้
การใช้เทคโนโลยีมักจะมาควบคู่กับพฤติกรรมการลดกิจกรรมการเคลื่อนไหวของมนุษย์เสมอ มนุษย์จึงถูกตรึงอยู่กับที่ด้วยการใช้เทคโนโลยีมากกว่าเดิม เด็กๆที่เคยวิ่งเล่น ในสนาม กลับต้องมานั่งเฝ้าจอคอมพิวเตอร์หรือ ทีวี ทำให้มีการออกกำลังน้อยลง ที่สำคัญคือขณะที่จ้องดูรายการทางทีวีหรือเล่นคอมพิวเตอร์ มักจะเพลิดเพลินกับของขบเคี้ยวซึ่งนำไปสู่การเพิ่มน้ำหนักในที่สุด
เทคโนโลยีทำให้เกิดการซึมซับเนื้อหาบนจอที่อาจเป็นโทษ
นอกจากพฤติกรรมติดเก้าอี้แล้ว ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ การโฆษณาสินค้า บนหน้าจอ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพของเด็กนั้นเป็นภัยเงียบที่พ่อแม่ไม่ควรนิ่งเฉย
จากรายงานในวารสารของ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งสหรัฐอเมริกา ( Journal of the American Dietetic Association) เมื่อปี 2008 พบว่า โฆษณา 9 ใน 10 รายการบนจอทีวีในเช้าวันเสาร์ซึ่งเป็นรายการเกี่ยวกับเด็กนั้น เป็นโฆษณาที่นำเสนอของกินที่มีสารอาหารต่ำ มีไขมันและโซเดียมสูง รวมทั้งผสมน้ำตาลค่อนข้างมากซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ แต่โฆษณาเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความชอบของเด็กซึ่งยังไม่สามารถแยกแยะเนื้อหาบนจอได้ว่ารายการใดคือรายการปกติและรายการใดคือการโฆษณา ที่สำคัญคือบนจอที่แสดงเนื้อหาของสื่อสังคมออนไลน์ที่ขาดการกลั่นกรองเป็นจำนวนมากได้สร้างความเชื่อผิดๆให้กับเด็กจนเชื่อว่าเป็นความจริงและนำไปสู่ภัยในภายหลังได้
เทคโนโลยีทำให้เพลิดเพลินต่อการกิน
การใช้เวลาอยู่หน้าจอ ทีวีหรือจอคอมพิวเตอร์มากขึ้นเท่าใด เป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่การกินของขบเคี้ยวและการกินที่ขาดความระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Cardiology) เมื่อปี 2014 โดยการเฝ้าดูพฤติกรรมของนักเรียนเกรด 6 จำนวน 1,003 คน พบว่า เด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นจอ ทีวีหรือคอมพิวเตอร์หรือตู้เกมก็ตามจะกินของขบเคี้ยวบ่อยกว่าและกินของขบเคี้ยวที่มีคุณค่าทางอาหารต่ำมากกว่าเด็กวัยเดียวกันที่ใช้เทคโนโลยีน้อยกว่า
ในขณะที่อีกการศึกษาหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association) สรุปว่าประเภทของรายการบนจอ มีอิทธิพลต่อการกินของขบเคี้ยวของผู้นั่งอยู่หน้าจอ โดยเฉพาะรายการที่มีการกระตุ้นหรือเร้าใจในรูปแบบต่างๆ มักจะนำไปสู่การกินของขบเคี้ยวที่มากขึ้นได้เช่นกัน
เทคโนโลยีรบกวนการนอนหลับ
การนำอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้ง คอมพิวเตอร์ ทีวี ฯลฯ เข้าไปไว้ในห้องนอนนั้นอาจเพิ่มโอกาสส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งผู้ใหญ่และเด็กซึ่งอาจเกิดจากความเพลิดเพลินต่อการใช้คอมพิวเตอร์หรือดูทีวีนานเกินไปรวมทั้งอาจเกิดจากปฏิกิริยาจากแสงสีน้ำเงินบนจอในเวลากลางคืน ส่งผลให้รบกวนการนอนหลับได้ การนอนไม่พอมีผลให้ฮอร์โมนในร่างกายที่ชื่อว่า เกรลิน(Ghrelin ) ที่ควบคุมความหิวของมนุษย์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็จะไปลดฮอร์โมนควบคุมความอิ่มที่ชื่อว่า เลปติน(Leptin) ด้วย เท่ากับว่าร่างกายยังคงต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา โดยเฉลี่ยแล้วคนที่นอนไม่เต็มอิ่มมักจะบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและของว่างมากกว่าคนที่พักผ่อนเพียงพอราว 300 แคลอรี ต่อวัน ซึ่งจะนำไปสู่การอยู่ในภาวะน้ำหนักเกินอย่างไม่ต้องสงสัยหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยี
ผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้มีผู้กล่าวถึงเอาไว้มากมายและหลายต่อหลายคนรับทราบถึงปัญหา เหตุที่ปัญหายังไม่หมดไปแต่กลับเพิ่มขึ้นก็เพราะว่าพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยียังไม่มีการปรับเปลี่ยนรวมทั้งผู้ใช้เทคโนโลยีจำนวนมากอยู่ในภาวะที่อาจเรียกได้ว่าเสพติดเทคโนโลยีไปแล้วก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือนั้นกลายเป็น “บุหรี่ชนิดใหม่” ของมนุษย์ไปเสียแล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจและไม่ค่อยมีคนพูดถึงก็คือ ความสูญเสียของประเทศชาติ จากความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) (ในที่นี้ขอเรียกว่าเทคโนโลยีดิจิทัล) ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียมากมายไม่แพ้การสูญเสียด้านอื่นๆ พูดง่ายๆว่า ยิ่งเราลงทุนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากเท่าใด ความความอ้วนของประชากรก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
แม้ว่าเรื่องนี้จะมีการนำเสนอเป็นข่าวมาบ้างแล้วตั้งแต่ปี 2555 แต่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังมีนโยบายนำประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบจึงขอนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังกันอีกครั้ง
จากผลการศึกษาของสถาบัน มิลเกน( Milken Institute) แห่งสหรัฐอเมริกา เรื่อง “รอบเอวของคนทั้งโลก” (Waistlines of the World) เผยแพร่เมื่อปี 2012 พบว่า “หากประเทศหนึ่งมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( ICT) เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้อัตราความอ้วนของประชากรเพิ่มขึ้นราว 1 เปอร์เซ็นต์”
ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเฉพาะกลุ่มประเทศ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(OECD) จำนวน 27 ประเทศ ในช่วงปี 1988-2009 พบว่า “หากประเทศหนึ่งในกลุ่ม OECD มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้อัตราความอ้วนของประชากรเพิ่มขึ้นราว 1.4 เปอร์เซ็นต์” ( บนสมมุติฐานตัวเลขที่ชี้ถึงผลกระทบทางตรงซึ่งได้แก่ งานที่ใช้กำลังงานลดลงและมีพฤติกรรมติดเก้าอี้มากขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ บวกกับ ผลกระทบทางอ้อมได้แก่การบริโภคแคลอรี่ส่วนเกินระหว่างนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ 0.4 เปอร์เซ็นต์ ) และ ถ้าการลงทุนนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเพิ่มของความอ้วนจะพุ่งสูงขึ้นถึง 18 - 20 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ใช้ตัวแปรต่างๆหลายตัวแปร เช่น กิจกรรมทางกายภาพ แคลอรี่และประเภทอาหารที่บริโภค การเพิ่มของประชากรในเมือง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้แรงงานสตรี การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เป็นต้น
หากคิดง่ายๆโดยนำสมมุติฐานจากการศึกษาดังกล่าวมาใช้กับประเทศไทย ที่มีประชากร 66 ล้านคน และมีการลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ จะมีคนไทยอ้วนเพิ่มขึ้นราว 660, 000 คนและถ้าใช้ตัวเลขจากสมมุติฐานจากประเทศในกลุ่ม OECD มาใช้กับประเทศไทย ตัวเลขอัตราความอ้วนของคนไทยจะเพิ่มเป็น 942,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อย และหากนโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลย่อมสูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ อย่างแน่นอน ซึ่งหมายความว่าอัตราการเกิดความอ้วนของคนไทยจะต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านคนต่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละครั้ง ส่งผลไปถึง ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของคนไทยและงบประมาณด้านสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอีกมากมายมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
สถาบันมิลเกนแห่งสหรัฐอเมริกาเคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า “ถ้าประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถจะย้อนอัตราการเกิดความอ้วนกลับไปอยู่ในระดับของปี 1998และใช้อัตรานี้ในปี 2023 แล้ว จะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการดูแลด้านสุขภาพได้ถึง 60,000 ล้านเหรียญและเพิ่มผลผลิตได้ถึง 254,000 ล้านเหรียญ”
แม้ว่าความอ้วนของประชากรในประเทศต่างๆที่เพิ่มขึ้นกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก แต่ข่าวดีก็คือปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันได้ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดต่อการยับยั้งการเกิดความอ้วนของประชากร ดีกว่ามาตรการการแก้ไขซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากมายมหาศาลและทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจในขณะที่เรากำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าซึ่งเหมือนกับการเดินที่สวนทางกัน
จากการศึกษาของสถาบันมิลเกนในเรื่องเดียวกันพบว่า “การเคลื่อนไหวร่างกายของมนุษย์ 1 เปอร์เซ็นต์ สามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการเพิ่มความอ้วนได้ราว 0.2 เปอร์เซ็นต์”
ปัญหาโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินนั้นเป็นสาเหตุการตายลำดับที่ 5 ของโลก อย่างน้อยที่สุดพลเมืองโลกเกือบ 3 ล้านคนต้องตายทุกปีจากโรคอ้วน ดังนั้นความรับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าวคงไม่พ้นนโยบายของภาครัฐที่ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เทคโนโลยีดิจิทัลที่พยายามนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ส่งผลเฉพาะด้านบวกเท่านั้น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานนั้นภาครัฐควรแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงไปถึงผลกระทบของเทคโนโลยีด้านลบ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะโรคอ้วนเท่านั้น อุบัติภัยและผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นๆที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีทั้งหลายควรมีการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างทั่วถึงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีเสียใหม่
หากประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีโดยไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยทางลบด้านสุขภาพและความสูญเสียอื่นๆที่จะเกิดขึ้นกับคนหมู่มากแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมก็คือภาพลวงตาที่ซ่อนเร้นความเจ็บป่วยของผู้คนและต้องนำงบประมาณจำนวนมหาศาลกลับไปเยียวยาความเจ็บป่วยเหล่านั้นอย่างไม่จบสิ้น
หมายเหตุุ : ภาพประกอบจาก www.futuristgerd.com