ภาคประชาสังคมยื่น คตง.เอาผิดนายกฯ ละเว้นหน้าที่ ไม่สั่งคืนท่อก๊าซฯ
ภาคประชาสังคมยื่น สตง.เอาผิดนายกฯ -รมว.คลัง-รมว.พลังงาน-ผู้บริหาร ปตท. ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่สั่งคืนท่อก๊าซฯ ให้ครบถ้วน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิเพือ่ผู้บริโภค เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน เเละนางรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ทำหนังสือลงวันที่ 15 ส.ค. 2560 ถึงศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้บริการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย มีรายละเอียดดังนี้
ตามข่าวที่ปรากฎว่าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ได้ประชุมและมีมติเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 และมีหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอให้มีการทบทวนมติครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2560 เรื่อง การดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ได้มอบหมายให้สำนักอัยการสูงสุดรับไปดำเนินการยื่นคำขอตามมาตรา 75/3 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2559
โดยที่มติ ครม.ดังกล่าวมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนสาระสำคัญของการประชุม 4 ฝ่าย ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากกระทรวงการคลังได้ส่งรายงานการประชุมที่นำเสนอต่อครม.ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญไม่ตรงกับรายงานการประชุม (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ลงวันที่ 24 พ.ย. 2559 เป็นผลให้ ครม.ได้รับข้อมูลผิดพลาดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ35/2550
โดยมีมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ขอให้ครม.ทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2560 เสียใหม่ โดยขอให้ดำเนินการตามมติที่มาจากการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สำนักงานอัยการสูงสุด และ สตง. เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2559 ที่ให้ ครม.สามารถสั่งการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซตามหลักการบังคับบัญชาตามที่ได้ระบุไว้ในคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 800/2557 และเมื่อครม.สั่งการและมีการส่งมอบแล้ว ครม.ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็สามารถแจ้งต่อศาลปกครองสูงสุดว่ามีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว และหากไม่อาจดำเนินการได้จึงค่อยให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป
โดยที่มติของ คตง.ที่ขอให้ ครม.แก้ไขความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในมติ ครม.เดิม ที่มอบหมายให้อัยการนำเรื่องขึ้นสู่ศาลปกครองสูงสุดนั้น มาเป็นการสั่งการตามหลักการบังคับบัญชาเสียก่อนนั้น พบว่า ครม.ยังมิได้มีการแก้ไขให้เป็นไปตามมติ คตง. เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 แต่ประการใด โดยที่คตง.ได้ให้เวลาครม.ในการพิจารณาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ทั้งที่ตามพ.ร.บ.การตรวจเงินแผ่นดิน ได้บัญญัติให้ผู้รับตรวจต้องปฏิบัติตามมติ คตง. 10 พ.ค. 2559 ภายใน 60 วัน โดยคตง.ได้แจ้งมติดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2559 ซึ่งครบกำหนดเวลาตั้งแต่ 24 ต.ค. 2559 แต่จนบัดนี้ ก็ไม่ปรากฎว่านายกรัฐมนตรี และครม. ตลอดจน บมจ.ปตท.จะให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามกฎหมายแต่ประการใด
ดังนั้นเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมายที่ทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ ตลอดจนประชาชน ล้วนต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งสิ้น จึงขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้โปรดดำเนินคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วย .