13 รพ.รัฐจี้รมว.คลัง กำหนดเกณฑ์ซื้อยา-อวัยวะเทียม หลังพ.ร.บ.จัดจ้างใหม่มีผล หวั่นโทษอาญา
พ.ร.บ.จัดซื้อจ้างฉบับใหม่พ่นพิษ! 13 รพ.รัฐดัง 'ศิริราช-รามาธิบดี-วชิรพยาบาล-ธรรมศาสตร์-ราชวิถี-สภากาชาดไทย' ยื่นหนังสือถึง รมว.คลัง โอดกระทบจัดซื้อยา อวัยวะเทียม อุปกรณ์บางรายการ เหตุยังไม่มีเกณฑ์รองรับ หวั่นฝ่าฝืนทางกม.มีโทษอาญา ชงเสนอกำหนดแนวทางปฏิบัติหลังประกาศใช้ 23 ส.ค.60 นี้ ให้สอดคล้องเจตนารมณ์มติด้านคุณภาพด้วย
พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2560 นี้ กำลังส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อยา อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาบางรายการของสถานพยาบาลรัฐ เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์รองรับ ซึ่งหากมีการจัดซื้อ อาจมีผลเป็นการฝ่าฝืนทางกฎหมายและมีโทษอาญา ทำให้ผู้บริหารสถานพยาบาลของรัฐมีความกังวล และรวมตัวกันทำหนังสือยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นข้อเสนอทางแก้ไขปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติงาน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารสถานพยาบาลของรัฐ นำโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ผู้บริหารโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มหาวิทยาลัยบูรพา โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ลงชื่อในหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นข้อเสนอกรณีการจัดซื้อยา อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
หนังสือระบุว่า ตามที่พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2560 นี้ ถึงแม้จะได้มีการทดลองใช้ปฏิบัติในการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ประเภทยา อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาแล้วก็ตาม การนำร่องดังกล่าวเป็นเพียงรายการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์บางกลุ่มที่ไม่ซับซ้อนเท่านั้น แต่ผู้ป่วยของโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ มีความซับซ้อนมาก และรักษายากจำเป็นต้องใช้ยาหรือเวชภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงและมีมูลค่าสูง หากไม่เตรียมการอย่างรอบคอบเสียก่อนจะมีผลให้สถานพยาบาลของรัฐไม่สามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์บางรายการให้แก่ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมความเจ็บป่วยของผู้ป่วยหากเครือข่ายโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์ดำเนินการจัดซื้อ ในขณะที่ยังไม่มีเกณฑ์รองรับจะผิดกฎหมายและมีโทษอาญาด้วย ดังนั้น โรงพยาบาลอาจไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อผลิตภัณฑ์การแพทย์ หรือดำเนินการโดยรับความเสี่ยงเอง
จึงขอเสนอ รมว.กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้รักษาการตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ และเป็นประธานนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โปรดใช้โอกาสนี้ในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เหล่านี้ที่เหมาะสมของประเทศ ทั้งการจัดหายา อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ดังนี้
1. ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศกระทรวงการคลัง หรือระเบียบปฏิบัติด้านยา อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา โปรดกำหนดแนวทางปฏิบัติหลังการกำหนดใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2560 เพื่อให้สถานพยาบาลจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เหล่านี้ สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไปได้โดยถูกกฎหมาย
2. การกำหนดแนวทางปฏิบัติให้สถานพยาบาลสามารถจัดหายา อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา เครือข่ายโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์เห็นว่าควรสอดคล้องกับเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งหวังใช้มิติด้านคุณภาพด้วย มิได้ใช้เพียงเกณฑ์ราคาอย่างพ.ร.บ.ฉบับก่อน ทั้งนี้ เพราะผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เหล่านี้มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ดังเอกสารจากเครือข่ายโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์ที่นำเสนอต่ออธิบดีกรมบัญชีกลาง ถึงปัญหาต่อการปฏิบัติตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2560
จึงขอเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาเป็นการเร่งด่วน จะเป็นพระคุณยิ่ง (ดูหนังสือประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มีหลักการสำคัญให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานรัฐ ต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งเรื่องความคุ้มค่า โปร่งใส่ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตุการณ์ตั้งแต่การจัดทำร่างทีโออาร์ จนสิ้นสุดโครงการ กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ทั้งวิธีการประกาศเชิญชวนทั่วไป วิธีการคัดเลือก วิธีการเฉพาะเจาะจง การบอกเลิกสัญญา การทิ้งงาน กำหนดบทลงโทษ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง10 ปี ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เท่ากับผู้ใช้หรือผู้สนับสนุบในการกระทำความผิดด้วย
(อ่านพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ. 2560 ฉบับเต็มที่นี่ http://www.gprocurement.go.th/wps/wcm/connect/433632804038610babc2abb0125d3146/information_act_2560.pdf?MOD=AJPERES)