เวทีศึกษาทางเลือกจี้ยุบก.ศึกษาฯเหตุทำสังคมล่มสลาย
นักวิจัยการศึกษาชี้สพฐ.ตัวถ่วงการศึกษาไทย “เอกวิทย์”เสนอยุบทิ้งศธ.เหตุนำสังคมล่มสลาย “พิภพ”แนะทางรอด ปรับหลักสูตรท้องถิ่น
วันที่ 14 มี.ค.55 ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.)ประสานมิตร กรุงเทพฯ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือก(สกล.)และภาคีเครือข่ายฯ จัดเวทีสมัชชาการศึกษาทางเลือกครั้งที่ 2 โดยรศ.สุภา ปานเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มศว.ประสานมิตร กล่าวว่า การศึกษาเป็นปัจจัยพัฒนาประเทศพัฒนาคน ที่ผ่านมาการศึกษาไทยถูกผูกขาดรับรู้แต่ในหลักสูตร ในห้องเรียน ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของคนและความเป็นมนุษย์ ปัจจุบันระบบการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการขยายแนวคิดแนวทางที่หลากหลายสร้างแนวทางใหม่ขึ้นมาเป็นทางเลือกให้การศึกษาไทย
นายพิภพ ธงไชย กรรมการผู้จัดการสถาบันการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม มูลนิธิเด็ก กล่าวถึงเส้นทางการศึกษาทางเลือกสู่การปฏิรูปใหญ่การศึกษาไทยว่า ที่ผ่านมาหลักสูตรการศึกษาไทยเป็นระบบแพ้คัดออก เด็กเถียงครูไม่ได้ ถูกครอบงำทางการเมือง ถูกครอบงำโดยระบบวัฒนธรรมศาสนา ซึ่งอิงกับตะวันตกเป็นทุนนิยมและศักดินาหรือศัพท์สมัยใหม่เรียกว่าอมาตยาธิปไตย แม้ว่าการปฏิรูปการศึกษาไทยจะเริ่มมาตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ.2517 แต่ยังไม่ไปไหน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง งบประมาณที่ทุ่มลงไปมหาศาลไปตกอยู่ที่ครู การศึกษาทางเลือกต้องปฏิเสธหลักสูตรของรัฐเพราะถูกครอบงำ
การศึกษาของคริสต์ศาสนามีการหยุดวันเสาร์อาทิตย์เพื่อให้เด็กได้เข้าโบสถ์ แต่การศึกษาแบบพุทธของไทยลอกเลียนแบบ ดังนั้นการศึกษาทางเลือกต้องเปลี่ยนวันหยุดใหม่ จากวันเสาร์อาทิตย์เป็นวันโกนวันพระเพื่อให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมในวัดได้ใกล้ชิดกับพุทธศาสนาและต้องเปลี่ยนวันปิดเทอมใหม่ให้หยุดปิดเทอมตามอาชีพของผู้ปกครอง โรงเรียนทางเลือกต้องไม่ละเลยวิถีชีวิต เมื่อลงไปชุมชนต้องจัดหลักสูตร 3 ส่วนคือส่วนของชุมชน เด็ก และกระทรวงฯ เรียนรู้หลักสูตรในอัตราส่วนที่พอเหมาะเพื่อให้รู้ความเป็นไปของรัฐ แต่ต้องไม่ทิ้งชุมชนและเด็ก ในสัดส่วน 30:30:30 เมื่อเด็กโตขึ้นต้องปรับการเรียนรู้ที่เอาเด็กเป็นตัวตั้งมากกว่า60% ให้เด็กมีการเรียนรู้ให้มากขึ้น บางวิชาหมดความจำเป็นไปตามวัยต้องทิ้งไป
“เมื่อมีใครลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ อย่างเช่นบ้านเรียนที่ให้ผู้ปกครองสอนเด็กได้ รัฐบาลก็จะพยายามเข้าไปจัดการ ผู้ปกครองสอนเด็กเองไม่ได้ใครทำต้องถูกปรับ แม้มีการกระจายอำนาจแต่อบต.เทศบาลก็ยังนำหลักสูตรระบบการศึกษาของรัฐมาใช้ ซึ่งเป็นการเอาเด็กออกจากชุมชนมาสู่ส่วนกลาง โจทย์คือจะทำอย่างไรให้การศึกษาเป็นอิสระ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมาใช้สอนเด็กได้อยางมีประสิทธิภาพ”
นายยุทธชัย เฉลิมชัย นักวิจัยอิสระด้านการศึกษา กล่าวว่า อุปสรรคการศึกษาทางเลือกเกิดจากทัศนคติเชิงลบของรัฐ แม้จะมีกฎหมายการศึกษามากมายที่เปิดโอกาสท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้จัดการศึกษาเพื่อทำให้อำนาจรัฐเล็กลง แต่ในทางปฏิบัติแทนที่รัฐจะเล็กลงกลับใหญ่มากขึ้น สพฐ.กลายเป็นเจ้านายคนใหม่ของท้องถิ่น เข้าไปแสดงอำนาจ ทั้งๆที่หน่วยงานนี้เต็มไปด้วยปัญหา ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราต่อการศึกษาไทยในอนาคต ส่วนปัญหาภาคประชาชนแม้มีเครือข่ายมากขึ้น แต่ยังต้องเพิ่มความเข้มแข็งมากกว่านี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมต่อความเข้าใจในแนวทางการศึกษาทางเลือก จากที่เคยมองว่าเป็นการแก้ปัญหาเด็กเฉพาะกลุ่มไม่ใช่เพื่อคนทั้งสังคม โรงเรียนทางเลือกถูกเข้าใจว่าเป็นแค่โรงเรียนเอกชน
นักวิจัยอิสระ ด้านการศึกษา กล่าวต่อว่า ปัญหาการศึกษาทางเลือกยังตอบคำถามสังคมไม่ได้ว่าเด็กที่เข้าเรียนจบแล้วไปอยู่ที่ไหน สังคมตั้งคำถามว่าทำไปทำไม จะเป็นทางรอดสังคมได้หรือไม่และการศึกษาทางเลือกจะเข้ามาแทนที่การศึกษากระแสหลักหรือเปล่าและจะทำให้เด็กดีขึ้นหรือไม่นี่คือสิ่งที่ท้าทายภาคประชาชนต้องตอบคำถาม
“การศึกษาต้องตอบสนองความเป็นชุมชน ท้องถิ่นมีอิสระในการจัดทำหลักสูตร โดยไม่ถูกกำกับจากภาครัฐ แม้ศธ.มอบหมายให้สพฐ.ดูแลบ้านเรียนหรือโอมสคูลแต่ก็ไม่เป็นจริง สพฐ.เป็นหน่วยงานที่ฉุดดึงการบริหารจัดการศึกษาไทยอย่างรุนแรง ซึ่งเห็นว่าหากมีการยุบกระทรวงศึกษาธิการ ยุบสพฐ.ทุกอย่างจะราบรื่น การปฏิรูปการศึกษาจะรุกหน้ารวดเร็วมากขึ้น” นายยุทธชัย กล่าว
นายคมสรรค์ เมธีกุล ผอ.กลุ่มงานพัฒนานโยบายและมาตรการ คณะกรรมสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ปัญหาสิทธิเกี่ยวข้องกับบ้านเรียน จากการได้รับการร้องเรียนจากโฮมสคูลถูกคุกคาม ถูกกดดันในแนวทางปฏิบัติจากสพฐ.อย่างหนัก แม้ตามกฎหมายระหว่างประเทศจะมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่รัฐไทยต้องปฏิบัติตาม แต่ในความเป็นจริงรัฐไทยกลับไม่ใส่ใจที่จะนำเรื่องนี้มาทำอย่างจริงจัง
“โฮมสคูลที่กระทรวงศึกษามอบให้สพฐ.รับผิดชอบ ถามว่าสพฐ.มีความพร้อมแค่ไหน ในทางปฏิบัติไม่เป็นจริง การเสนอให้ยุบกระทรวงศึกษาแม้เป็นไปตามอารมณ์ความรู้สึก แต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นจริง เป็นไปตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นรุนแรงในปัจจุบัน ถามว่าหน่วยงานนี้มีความชอบธรรมหรือไม่ที่จะดูแลระบบการศึกษาเพราะเห็นมีแต่ฉุดดึง เข้าไปก้าวก่ายการทำงานและล้าหลัง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะยุบหน่วยงานนี้ การศึกษาไม่ใช่ของเล่นเพราะกระทบต่อเด็กทั้งประเทศ”นายคมสรรค์ กล่าว
ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง นักวิชาการและนักคิดทางด้านการศึกษาและวัฒนธรรม กล่าวว่า กฎกระทรวงศึกษาธิการมีการชี้นำ มันขัดกับความเป็นพื้นบ้าน ความเป็นครอบครัวที่เด็ก พ่อ แม่ อยู่ร่วมกันกันเรียนรู้ร่วมกัน ระบบการศึกษาไทยชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลว มันจะนำพาประเทศไปสู่ความล่มสลาย เราจะจัดการระบบการศึกษาภายใต้ภาวะวิกฤติอย่างไร ถ้ายุบกระทรวงศึกษาธิการอะไรๆอาจจะดีขึ้น ประเทศในอาเซียนและไทยอยู่ในกับดักที่ชั่วร้ายของรัฐและทุนนิยมสามานย์ ชาวบ้านต้องกลายเป็นเหยื่อ
“กฎหมายการศึกษากี่ฉบับก็ช่วยอะไรไม่ได้ เราต้องมาตั้งต้นกันใหม่โดยภาคประชาชน ทางออกให้กลับคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ บ้านคือหัวใจของความรัก เราต้องเริ่มต้นที่ความรักความอบอุ่น ให้เด็กได้เรียนวิถีชีวิตของพ่อแม่ที่ถือว่าเป็นหลักสูตรตัวจริง ใช้จุดแข็งของชุมชนสอนเด็ก การศึกษาที่ดีต้องเริ่มต้นที่บ้าน ซึ่งมันจะขยายตัวไปเอง เริ่มต้นในสิ่งที่เรามี ทำด้วยความรักความอบอุ่นกลับสู่ความเป็นจริง” ดร.เอกวิทย์ กล่าว
นายสุรพล ธรรมร่มดี กรรมการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตนเองจากการกำกับมาเป็นส่งเสริมนโยบายขยายผลให้สอดคล้องกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง หากทำไม่ได้ก็ควรยุบตัวเอง นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น หรือไม่ก็ต้องมีการออกพรบ.ยกเลิกกระทรวงศึกษาฯเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทย
ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่าเวทีสภาการศึกษาทางเลือกดังกล่าวจะมีถึงวันที่ 15 มี.ค.ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.choice2learn.net