อธิบดีกรมศิลปากร กับคำชี้แจง "เซรามิกประดับพระปรางค์วัดอรุณฯ มีกว่า 3 แสนชิ้น"
"พอเวลามีสีดำคนจะมองเห็นว่า เต็มไปหมดไม่เห็นพื้นพระปรางค์ ปัจจุบันเซรามิกไม่ได้น้อยลง เท่าเดิม หากเราทำให้น้อยลงลายเดิมจะหายไป นี่ลายไม่ได้หาย ที่เสื่อมสภาพจำเป็นต้องเซาะออก ใช้รูปแบบเดิมสีเดิม ทำใหม่ 40% หรือไม่น้อยกว่า 1.2 แสนชิ้น รวมลวดลายทั้งหมดที่ประดับพระปรางค์วัดอรุณฯ ประมาณ 3 แสนชิ้น"
วันที่ 16 สิงหาคม ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดแถลงข่าวชี้แจงการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามวรวิหาร ตามที่มีการแชร์ในโลกโซลเชี่ยมีเดีย ต่อสื่อมวลชน
อธิบดีกรมศิลปากร ยืนยันถึงการเปลี่ยนเซรามิก เพียงแค่ 40% อีก 60% เป็นเซรามิกของดั่งเดิม และเหตุผลที่พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความจำเป็นต้องบูรณะเพื่อให้กลับสู่สภาพดั่งเดิม และเพื่อส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้สู่คนรุ่นต่อไป
"ก่อนบูรณะเราได้เก็บรายละเอียดไว้หมด แค่ทำความสะอาดยังไม่ได้ทาสีน้ำปูนก็ต่างกันอย่างมาก คนอาจไม่ชินตาดูขาวเว่อร์ไป มีการใช้แปรง ใช้น้ำล้าง เหมือนเราขัดปกติ"
นายอนันต์ โชว์ภาพถ่ายให้สื่อมวลชนดู หลังแถลงข่าว
เมื่อถามถึงจำนวนเซรามิกหลังการบูรณะนั้น นายอนันต์ ยืนยันว่า ไม่ได้น้อยลง คือพอเวลามีสีดำคนจะมองเห็นว่า เต็มไปหมดไม่เห็นพื้นพระปรางค์ ปัจจุบันเซรามิก็ไม่ได้น้อยลง เท่าเดิม หากเราทำให้น้อยลงลายเดิมจะหายไป นี่ลายไม่ได้หายไป
เมื่อถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม นายอนันต์ กล่าวว่า กรมศิลปากรน้อมรับไว้ทั้งหมด เพราะพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นมรดกอันล้ำค่าสำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง เป็นสมบัติร่วมของคนไทย ดังนั้นพี่น้องวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสิ่งที่ดีทำให้เราทำงานที่ตระหนัก ละเอียด และทำงานให้เป็นไปตามหลักวิชาการครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น
ในช่วงแถลงข่าว นายอนันต์ เท้าความให้เห็นว่า พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามวรวิหาร เป็นโบราณสถานสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มาสถาปนาเป็นวัดในพระราชวังในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี พอสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สร้างพระปรางคร่อมพระปรางค์เดิมสมัยกรุงศรีอยุธยา จนเราได้เห็นภาพปัจจุบัน จากนั้นพระปรางค์ และวัดอรุณฯ ก็เป็นวัดสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์มาโดยตลอด มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ รัชกาลที่ 2 มาแล้วเสร็จปลายรัชกาลที่ 3 จนรัชกาลที่ 5 มีการบูรณะครั้งใหญ่ มาถึงรัชกาลที่ 9 บูรณะประมาณปี 2510 และ 2539
นายอนันต์ บอกว่า พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามวรวิหาร เป็นพระปรางค์ที่มีชีวิต มิใช่ซากโบราณสถานในแบบอยุธยา สุโขทัย หรือซากโบราณสถานอื่น
"เรามีภาพถ่ายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีภาพดั่งเดิม มีความเป็นสีขาวโพลนเช่นเดียวกัน ซึ่งหากจำกันได้ ปี 2554 ที่พระปรางค์ทรุดลงตรงด้านตะวันออกของปรางค์ประธานและเป็นข่าวใหญ่ ทำให้กรมศิลปากรจำเป็นต้องเข้าไปเพื่อตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเข้าไปดูโครงสร้าง มีการตรวจสอบสภาพต่าง ๆ ก็เห็นว่าต้องมีการบูรณะครั้งใหญ่ ด้วยเห็นว่า ปูนหมัก ปูนตำ ซึ่งเป็นปูนโบราณนั้นอยู่ในสภาพเสื่อม มีตะไคร่น้ำ มีเชื้อรา มีคราบสปรกจนแทบจะเป็นสีดำ ขณะเดียวกันลวดลายพระปรางค์ ทั้งเซรามิกประดับ และเครื่องถ้วยเซรามิกมาแปะเป็นรูปทรงต่าง มีสภาพที่ชำรุด ดังนั้นภาพที่บูรณะตั้งแต่ปี 2511 ภาพที่เราชินตา มองไกลๆ ก็มีสุนทรียภาพ แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบใกล้ชิดพบความเสื่อมสภาพ ทั้งความชื้น เชื้อรา รอยแตกร้าว รอยอิฐที่แตกกระจัดกระจาย เซรามิกก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมเช่นกัน"
ปี 2555 กรมศิลปากร มีการเก็บข้อมูล วางกรอบแนวคิดในการบูรณะเพื่ออนุรักษ์ศิลปกรรมรัชกาลที่ 2 แม้หลายยุคหลายคราวจะมีการซ่อมแซม บูรณะ ปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่ความเป็นพระปรางค์ จำเป็นต้องบูรณะในเชิงศิลปะคงเดิมเอาไว้มิใช่การอนุรักษ์แบบสิ่งเก่าๆ แบบที่เราทำงานที่อยุธยา สุโขทัย
"กรมศิลปากรทำงานแบบอนุรักษ์ศิลปกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ ในลักษณะเต็มรูปแบบเพื่อให้คงความเป็นวัดที่ยังมีชีวิต วัดที่คนยังไปกราบไหว้" อธิบดีกรมศิลปากร ยืนยัน พร้อมกับอธิบายต่อว่า พอปี 2556 กรมศิลปากร สำรวจและเก็บข้อมูลของพระปรางค์วัดอรุณฯ อย่างละเอียดยิบ ทุกชั้น ทุกด้าน ทั้งปรางค์ประธาน ปรางค์ประจำมุม บุษบก ถ่าย 3D สแกน CT scan มีการคัดลอยลายไว้ทั้งหมด จากนั้นสำรวจสี แบ่งลวดลาย
"การสำรวจลวดลายเราพบว่า ลายเซรามิกมีทั้งสิ้น 120 ลวดลาย กรมศิลปากรมีการเก็บทั้งสี เก็บภาพสภาพปัจจุบันไว้ด้วย แยกไว้เพื่อให้เห็นมีลายอะไรบ้าง CT scan เก็บลายทั้งหมดเพื่อให้เห็นว่า มีกี่แสนชิ้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บตรงนี้"
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงขั้นตอนการลอกลายพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่มีความซับซ้อนและยุ่งยากมาก มีการตรวจสอบอย่างละเอียดทั้งประติมากรรม และพื้นผิว จนพบชั้นปูนบางตำแหน่ง มีการใช้ปูนดำหรือปูนซีเมนต์เข้ามาฉาบ ซึ่งเป็นอันตรายต่องานศิลปกรรม ซึ่งต้องเตรียมกระเทาะ บางตำแหน่งมีการใช้กระเบื้องมุงหลังคา ตะปูจีนเข้ามาผสมกับชั้นปูน ซึ่งเป็นอันตรายมาก เราตรวจสอบเป็นจุดๆ แบบนี้
"นี่คืองานที่เราตรวจสอบ ชั้นปูนเดิมฉาบไว้ด้วยปูนซีเมนต์ เราก็ตรวจสอบมีการวิเคราะห์ดูลักษณะความเสียหาย ยิ่งดูจากฝั่งพระนครจะเห็นความงาม แต่หากไปดูชิดๆ เราจะเห็นว่า ลักษณะปูนหลุดออก เอามือไปดึงก็หลุด มีการแตกลายงา แตกหัก แตกร้าว สึกกร่อน โป่งพอง กรมศิลปากรเก็บข้อมูลใช้เวลา งบประมาณ และบุคลากรก่อนดำเนินการค่อนข้างมาก เพราะเราตระหนักพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นโบราณสถานที่ล้ำค่า สัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร"
ผลจากการเก็บข้อมูลนำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อดำเนินการซ่อม อธิบดีกรมศิลปากร ชี้ว่า หากพบปูนเปื่อยอย่างมาก จำเป็นต้องกระเทาะออก แล้วฉาบปูนใหม่ เพื่อเสริมความมั่นคง ปูนใหม่ที่เราใช้คือ "ปูนหมัก ปูนตำ" เช่นเดียวกับงานช่างศิลป์ไทย ปูนที่หลุดลอกต้องทำความสะอาด ส่วนผิวที่หลุดร่อนมีการใช้ปูนเข้าไปฉาบ ที่แตกลายงามีการกระเทาะ และฉาบ รวมถึงพวกโป่งพองที่่รอวันหลุด ก็ต้องมีการกระเทาะออก และฉาบปูนใหม่ หรือแม้แต่พวกที่แตกหักจะมีการเสริม ดามด้วยเหล็กไร้สนิม
นี่คือสิ่งกรมศิลปากรวิเคราะห์ จนนำสู่การบูรณะให้พระปรางค์วัดอรุณฯ สมบูรณ์แบบเหมือนครั้นที่พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จสมัยรัชกาลที่ 3 หรือปี 2389 ที่มีผิวปูนที่ขาว และมีเซรามิก
นายอนันต์ ยังชี้แจงเพิ่มเติมถึงการจัดทำเซรามิกที่ชำรุด มีการเก็บข้อมูล ทำบล็อก เพื่อเผาทำเข้ามาใหม่ ให้มีรูปแบบบคงเดิม โดยเฉพาะสีเซรมิกต้องให้คงเดิมมากที่สุด "ผมมีส่วนตัดสินใจเวลาให้โรงงานที่ราชบุรีเผา และนำมาติด มีการพิจารณาและส่งกลับไปหากใช้ไม่ได้ การบูรณะครั้งนี้เซรามิกที่เสื่อมสภาพจำเป็นต้องเซาะออก ใช้รูปแบบเดิมสีเดิม ทำใหม่ 40% หรือไม่น้อยกว่า 1.2 แสนชิ้น ฉะนั้นลวดลายทั้งหมดที่ประดับพระปรางค์วัดอรุณฯ มีประมาณ 3 แสนชิ้น"
อธิบดีกรมศิลปากร ยืนยันว่า เรื่องลายเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากของพระปรางค์วัดอรุณฯ กรมศิลปากรไม่ได้ถอดของเดิมหมด หรือนำลายใหม่มาติด หากลายใดชำรุด 30-50% เราจะเอาออก มิเช่นนั้นจะไม่งดงามในสภาพเดิม ดังนั้นลายเดิมประมาณ 60% ก็ยังคงอยู่ ส่วนลายใหม่ที่ติดตั้งผ่านการวิเคราะห์และลอกลายอีก 40%
"มีรูปเปรียบเทียบแค่เราทำความสะอาด รูปกินรีครึ่งองค์ที่มีตะไคร่น้ำ มีเชื้อรา เราก็จะเห็นความแตกต่าง ภาพพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่ออกมาขาวนั้น อยากเรียนว่า สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ก็มีสภาพไม่แตกต่างกันมากนักกับปัจจุบัน มีลวดลายสีขาว ดังนั้น ความเป็นวัดอรุณฯ เรายังยึดมั่นหลักการอนุรักษ์โบราณสถานที่มีชีวิต เราไม่สามารถอนุรักษ์ความเก่าได้ โบราณสถานที่มีหลักฐานชัดเจนตั้งแต่เริ่มก่อสร้างมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้มีการทิ้งร้าง หลักการอนุรักษ์จะเป็นแบบนี้ บูรณะรูปทรงดั่งเดิม "
ทั้งหมด คือคำชี้แจงจากกรมศิลปากร ที่ใช้เวลาบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ถึง 5 ปีเต็มๆ แล้วเสร็จในปี 2560 เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 250 ปี แห่งการสถาปนากรุงธนบุรี...