คมนาคมยอมให้สัมปทาน 7 ปี รถร่วมฯ ใต้เงื่อนไขรวมผู้ประกอบการรายเดียวเหมือน ขสมก.
ก.คมนาคม พร้อมอนุญาตสัมปทาน 7 ปี เดินรถร่วม ตั้งเงื่อนไขรวมผู้ประกอบการรายเดียวเดินรถ 1 เส้นทาง เหมือนขสมก. ด้านรถร่วมฯ ยันจัดซื้อรถใหม่ทันที 2 พันคัน นำเข้า 100 คันแรก ต้นปี 61 คาดใช้ต้นทุนดำเนินการ 2 หมื่นล.
วันที่ 16 ส.ค. 2560 ที่กระทรวงคมนาคม สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง นำโดยนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เข้าพบนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือและขอความเป็นธรรมต่อกรณีรถร่วมโดยสารประจำทางได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลและแผนการปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง 40 บริษัท จาก 75 บริษัท โดยมีสมาคมผู้ประกอบการฯ เป็นองค์การกลางนั้น ได้ข้อสรุปว่า ผู้ประกอบการรถร่วมโดยสารประจำทางเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง และยินดีที่จะให้กรมการขนส่งทางบกเข้ามาดูแลหนี้ก้อนใหญ่ของรถร่วมโดยสารประจำทาง
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมยินยอม หากสมาคมผู้ประกอบการฯ จะรวมตัวเป็นผู้ประกอบการรายเดียว มีฐานะเหมือนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขอใบอนุญาตสัมปทานเดินรถโดยตรงต่อ 1 เส้นทาง กับกรมการขนส่งบกได้ทันที อายุใบอนุญาต 7 ปี โดยไม่ต้องประมูล แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นรถใหม่ ติดตั้งระบบที่ทันสมัย เช่น ระบบติดตามรถโดยสาร (GPS Tracking system) ระบบตั๋วอีทิคเก็ต (e-ticket system)
ด้านนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ผู้ประกอบการกำลังเป็นจำเลยของสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งคุณภาพการให้บริการจะดีได้ ต้องมาจากต้นทุนที่สมเหตุสมผล อย่างไรก็ตาม การหารือในครั้งนี้ พบว่า หน่วยงานภาครัฐมีความชัดเจนในนโยบายมากขึ้น ซึ่ง 40 บริษัทที่จะรวมตัวเป็นผู้ประกอบการรายเดียว ปัจจุบันมีรถรวมกันประมาณ 2,000 คัน หลังจากนี้จะต้องไปศึกษากันต่อ ทั้งนี้ ไม่ปฏิเสธ แนวทางประมูล แต่ต้องทำในเส้นทางใหม่เท่านั้น ไม่ใช่เส้นทางเดิม
“วันนี้นโยบายมีความชัดเจน ต้องรีบไปดูรถในต่างประเทศ เพื่อนำเข้ามา แต่บางส่วนอาจประกอบในประเทศ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐที่ให้การสนับสนุนด้วย” นายกสมาคมผู้ประกอบการฯ กล่าว และว่า เบื้องต้นคาดว่า หากตกลงกันได้ จะนำเข้ารถโดยสารประจำทางคันใหม่ 100 คันแรก ในต้นปี 2561 และครบ 2,000 คัน ภายใน 1 ปี
เมื่อถามถึงการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการรายเดียว นางภัทรวดี ระบุว่า มีทั้งสิ้น 34 บริษัท จากทั้งหมด 75 บริษัท ขอใบอนุญาตสัมปทาน 60 เส้นทาง ซึ่งยืนยันจะไม่ทับเส้นทางกันเหมือนปัจจุบัน จำเป็นต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ ส่วนอีก 41 บริษัท ที่เหลือ ยอมรับยังไม่ได้เจรจากัน เนื่องจากสมาคมผู้ประกอบการฯ ยังไม่ได้รับความชัดเจน แต่หากรัฐยินดี เชื่อว่า บริษัทเหล่านั้นพร้อมเข้าร่วมด้วย เบื้องต้นคาดว่าใช้ทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท และใช้ทุนดำเนินการเพื่อปลดหนี้และซื้อรถคันใหม่ 2 หมื่นล้านบาท .