SLAPPs เมื่อกฎหมายถูกนำมาใช้ปิดปาก จากกรณีจับกุมผู้สื่อข่าวอิศรา
SLAPPs หรือ การใช้กฎหมายปิดปากการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ จากกรณี ณัฐพร และตัวอย่างคนในวงการนักข่าว การทำงานที่ต้องเผชิญความเสี่ยงคุกตาราง เพียงเพราะพูดความจริง
จากกรณีของ นายณัฐพร วีระนันท์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถูกแจ้งความจับข้อหาบุกรุก เหตุเกิดที่อพาร์ตเมนต์เลขที่ 1124/277 ซอยพหลโยธิน 32 ถ.รัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2560
อ่านประกอบ ข้อเท็จจริงกรณีผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถูกแจ้งจับข้อหาบุกรุก //ใครคือ ณัฐพร ผู้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 คน
จากเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า การตั้งข้อหาดังกล่าวนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะการทำหน้าที่ของนายณัฐพรนั้น ตั้งอยู่บนการทำงานตามหน้าที่และเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ
ลักษณะการฟ้องดังกล่าว ไม่ได้เพียงเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก หากแต่มีการใช้กฎหมายเข้ามาเล่นงานกับกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวบ้าน อย่าง ชาวบ้าน 7 คน ในกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ศาลสั่งฟ้อง 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ในคดีฝ่าฝีน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะจากการชุมนุมด้านหน้า สำนักงานอบต.เขาหลวงเพื่อติดตามการประชุมสภาในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ
อ่านประกอบ ยูเอ็นออกโรงเร่งไทยหยุดใช้กฎหมายปิดปากนักกิจกรรมหญิง
หรือกรณีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) เผยแพร่รายการนักข่าวพลเมือง ตอน ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของเมื่อ วันที่ 1 กันยายน 2558 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการทำเหมืองแร่ทองคำในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย บริษัท ทุ่งคำ เจ้าของประทานบัตรเหมืองแร่ แจ้งความดำเนินคดีกับวันเพ็ญ หรือพลอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ปรากฏเสียงอยู่ในรายการ ที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี และยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
ขณะเดียวกันก็ยื่นฟ้องสถานีไทยพีบีเอส นักข่าว และผู้บริหารสถานี ต่อศาลอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
คดีที่บริษัททุ่งคำยื่นฟ้องต่อศาลอาญา มี จำเลย 5 คน ประกอบด้วย
1. วิรดา แซ่ลิ่ม ผู้ดำเนินรายการช่วงข่าวพลเมือง
2. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)
3. สมชัย สุวรรณบรรณ อดีต ผอ.ส.ส.ท.
4. ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว
5. โยธิน สิทธิบดีกุล ผู้อำนวยการสำนักโทรทัศน์และวิทยุ
ตามคำฟ้องของบริษัททุ่งคำฯ ระบุว่า ไทยพีบีเอสได้นำเสนอข่าวสิ่งแวดล้อมและผลกระทบเกี่ยวกับออกค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 ส.ค. 2558 ที่วัดโนนสว่าง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งมีการระบุว่าลำน้ำฮวยได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ทำให้ใช้ดื่ม ใช้กินไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ เป็นการใส่ร้ายทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และเกิดผลกระทบต่อธุรกิจให้ได้รับความเสียหาย ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50 ล้านบาท ให้ ส.ส.ท.หยุดประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นเวลา 5 ปี
โดย 2 มิถุนายน 2559 เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง รายงานว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย มีหนังสือถึงน้องพลอย ระบุว่า สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลยมีความเห็นไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องน้องพลอยต่อศาลเยาวชนและครอบครัว
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 99 วางหลักว่า ห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาซึ่งมีข้อหาว่าเด็กและเยาวชนกระทำความผิดต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ
ส่วนคดีความอาญา วันที่16 พฤศจิกายน 2559 ศาลอาญาสั่งยกฟ้อง ศาลพบว่า หลายหน่วยงานระบุตรงกันถึงการตรวจพบสารไซยาไนด์ในแหล่งน้ำ ทำให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ไม่ได้ และศาลยืนยันจำเลยทำหน้าที่สื่อนำเสนอปัญหา เป็นการวิจารณ์โดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ส่วนบริษัททุ่งคำ ยื่นอุทธรณ์ต่อไป
อีกกรณีหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นกับนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ภาคภาษาอังกฤษ เมื่อบริษัท เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่เฮงดา ประเทศพม่า เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อ นายปรัชญ์ รุจิวนารมย์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น (จำเลยที่ 1) และบริษัท เนชั่น นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (จำเลยที่ 2) ต่อศาลจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2560 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังยื่นฟ้องคดีเดียวกันไปแล้วก่อนหน้านี้ ต่อศาลจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2560 ในข้อหาเดียวกันคือ หมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 83, 91, 326 และ 328 และการละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยบริษัทอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัท เนื่องจากรายงานข่าวการปล่อยหางแร่ออกจากเหมืองดีบุกและไหลลงสู่แม่น้ำโดยตรง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสำหรับการบริโภคของชาวบ้านที่หมู่บ้านเมืองเพียว เขตตะนาวศรี ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2560
ภายหลังศาลจังหวัดร้อยเอ็ด พิพากษายกฟ้องคดี โดยระบุว่า ศาลสอบคู่ความแล้วต่างยอมรับว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในเรื่องเดียวกันที่ศาลจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2560 คดีอยู่ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับมูลคดีเดียวกันที่ศาลนี้เป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2560 จึงให้งดไต่สวนมูลฟ้อง และวินิจฉัยว่าการฟ้องคดีหลังของโจทก์ที่ศาลนี้เป็นฟ้องซ้อน พิพากษายกฟ้อง
ปัจจุบัน ศาลจังหวัดนครปฐมนัดคู่ความมาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งในวันที่ 1 กันยายน 2560 นี้
ส่วนอีกกรณีที่เกิดกับนายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ซึ่งถูกจับกุมระหว่างขากลับ หลังติดรถนักกิจกรรมไปทำข่าว การให้กำลังใจชาวบ้านซึ่งโดนจับข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน ในช่วงก่อนการลงคะแนนประชามติด้วยข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ และถูกนำตัวไปฝากขัง โดยต่อมาได้รับการประกันตัว ด้วยเงิน 140,000 บาท ปัจจุบันคดีก็ยังอยู่ในขั้นตอนสืบพยาน
จะเห็นได้ว่าในช่วงเพียง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการใช้กฎหมายคุกคามการทำงาน ทำหน้าที่ ทั้งที่การลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของกลุ่มชาวบ้าน การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอความเป็นไปของปัญหาในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องของสาธารณะที่ต้องรับรู้
ในบทความ การฟ้องร้องคดีทางกฎหมายกับการเคลื่อนไหวเรื่องการจัดการทรัพยากรของชาวบ้าน กรณีคัดค้านการทำเหมืองแร่ จ.เลย ของ วิเชียร อันประเสริฐ นักวิจัย และอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุ แนวคิดการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากการเคลื่อนไหวในประเด็นสาธารณะ หรือ SLAPPs (Strategic Lawsuit against Public Participations) โดยแนวคิดเรื่อง SLAPPs ถูกสร้างขึ้นโดยนักทฤษฎีชาวอเมริกัน คือ George W. Pring and Penelope Canan โดยหัวใจหลักของแนวคิดนี้คือ การฟ้องร้องคดีถูกนำมาใช้เพื่อคุกคามการมีส่วนร่วมของพลเมือง โดยมีเป้าประสงค์สำคัญอยู่ที่การทำให้ผู้ถูกฟ้องเกิดความหลาดกลัว ปริวิตก และหยุดการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์หรือหยุดการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ ผู้ที่ดำเนินคดีไม่ได้มีเจตนาที่จะร้องขอความยุติธรรม แต่ดำเนินคดีเพียงเพื่อข่มขู่บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับตนหรือกิจการที่ตนได้กระทำ
ขณะเดียวกันการฟ้องร้องดังกล่าวต้องใช้เวลายาวนานและสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ทำให้คนที่ถูกดำเนินคดีที่แสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบ ประนีประนอนยอมความ ขออภัยและแก้ไข ถ้อยคำที่ตนเองเคยพูดไว้
ลักษณะสำคัญของแนวคิดนี้มีอยู่ด้วยกัน 5 ลักษณะ ได้แก่
ลักษณะที่ 1 ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการสื่อสารที่มีผลต่อการแสดงออกของรัฐ การฟ้องเกิดขึ้นสัมพันธ์กับกิจกรรมของชาวบ้าน การเรียนรู้ ปกป้องบ้านเกิด รณรงค์ต่อต้านต่างๆ
ลักษณะที่ 2 คือมีการฟ้องร้องคดีแพ่งหรือการฟ้องแย้งทางแพ่ง ในสหรัฐอเมริกา การฟ้องหมิ่นประมาทเป็นคดีแพ่ง แต่ประเทศไทยเป็นคดีอาญา ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือเป็นคดีอาญา เช่น การบุกรุก การหมิ่นประมาท การข่มขู่-ทำร้ายแต่ไม่เกิดความเสียหาย หรือการชุมนุมต่างเป็นการฟ้องร้องเพิ่มความกลัวมากกว่าเพียงแค่ฟ้องแพ่งประการเดียว
ลักษณะที่ 3 มีฟ้องร้องต่อองค์กรพัฒนาเอกชนหรือนักพัฒนาเอกชน(ฟ้องร้ององค์กร หรือส่วนตัวบุคคล) ในเรื่องนี้พบการฟ้องร้องชาวบ้านในฐานะที่เป็นนักพัฒนาเอกชนอิสระที่ตั้งขึ้นมาเองในนามของ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด”
ลักษณะที่ 4 มีประเด็นพื้นฐานเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะหรือมีความสำคัญทางสังคม กิจกรรมการเคลื่อนไหวของชาวบ้านล้วนเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะและมีความสำคัญทางสังคม
ลักษณะที่ 5 คือ การฟ้องร้องนั้นปราศจากการให้คุณค่าความถูกผิดและเต็มไปด้วยแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงการฟ้องร้องคดีความต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อหยุดชาวบ้านในการเคลื่อนไหวคัดค้าน และหยุดวิพากษ์วิจารณ์การประกอบกิจการของบริษัทมากกว่าการคำนึงถึงความถูกผิด ซึ่งเห็นได้จากคดีความที่ฟ้องร้องจนถึงพิพากษืในชั้นศาลถูกยกฟ้องเกือบทุกคดี
จะเห็นได้ค่อนข้างชัดจากกรณีตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น(ซึ่งยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่เผชิญการฟ้องร้องในลักษณะดังกล่าว) ว่าการฟ้องร้องนั้นไม่ได้มุ่งหวังอะไร นอกเหนือแต่จะสร้างความหวาดกลัวเพียงเท่านั้นเอง
อ่านประกอบ :
เปิดรับเงินบริจาคสู้คดีกรณีผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรากรณีการตรวจสอบ ทรัพย์สิน อดีต ผบ.ตร.
องค์กรด้านสิทธิฯแถลงการณ์จี้นายกฯตั้ง กก.สอบ ตร.คุกคามนักข่าวอิศราฯ-รื้อระบบสอบสวน
องค์กรพันธมิตรสื่ออาเซียนตีข่าว'นักข่าวอิศรา'ถูกตั้งข้อหาบุกรุกหลังลงพื้นที่ดูหอพัก'พัชรวาท'
ชมรมนักข่าวกองปราบฯเรียกร้อง ตร.เร่งชี้แจงกรณีจับกุมนักข่าวอิศราขณะปฎิบัติหน้าที่
แถลงการณ์สมาคมนักข่าวฯ : หยุดคุกคามสื่อ ยัดข้อหา กรณีแจ้งจับนักข่าวอิศรา
ข้อเท็จจริงกรณีผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถูกแจ้งจับข้อหาบุกรุก
ปธ.ป.ป.ช.เผยคดี‘พัชรวาท’อยู่ระหว่างรวมหลักฐาน-ยัน จนท.ทำอิสระแทรกแซงไม่ได้
‘พัชรวาท’ถูก ป.ป.ช.สอบปมเจ้าของคอกม้าร้อยล.-รีสอร์ทให้‘ภรรยา-บุตร’ถือหุ้น
รีสอร์ทขาดทุน5ปีรวด-ทรัพย์สิน137ล. ‘พัชรวาท’ก่อน ป.ป.ช.สอบปมคอกม้า-หุ้น'ภรรยา'
จ่าเฉยยืนเฝ้า!เผยโฉม รีสอร์ตทรงไทยครอบครัว ‘พัชรวาท’-ปลวกขึ้น คนงานอดีตทหาร(มีคลิป)
อ้างอิง
https://freedom.ilaw.or.th/case/706#progress_of_case
https://prachatai.com/journal/2016/07/66822