เผยชื่อเจ้าของ บ.ขุดดิน อยุธยา ถูกตรวจสูบน้ำเค็มทิ้งคลองปากกราน-อบต.สนามชัยจี้สร้างบ่อบำบัด
เผยชื่อเจ้าของ บ.ขุดดิน 2 เเห่ง ถูกตรวจสอบลักลอบสูบน้ำบ่อดิน 'ค่าเค็มสูง' ลงคลองปากกราน อบต.สนามชัย กำชับให้จัดบ่อบำบัดน้ำเสีย ห้ามปล่อยก่อนรับบำบัดเด็ดขาด ขณะที่ค่าระดับน้ำผิวดิน ล่าสุด ยังเค็มเกินมาตรฐาน สูงสุด 0.43%
ภายหลังสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์ความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ ต.สนามชัย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มาอย่างต่อเนื่อง กรณีเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาน้ำเค็มสูงจนทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย ตั้งแต่ปี 2554 หลังเหตุการณ์อุทกภัย โดยเชื่อว่าสาเหตุเกิดจากบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นเจ้าของบ่อดิน ลักลอบสูบน้ำจากบ่อดินที่มีสภาพเค็มทิ้งลงไปในคลองปากกราน ทำให้น้ำมีความเค็มเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)สนามชัย ได้ทำงานร่วมกับจ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
(อ่านประกอบ: ชาวนาอยุธยาร้องตรวจสอบบ่อดิน ต้นเหตุน้ำเค็ม กระทบพื้นที่เกษตร, นายอำเภอบางไทรรับเป็นคนกลาง ประสานแก้คลองปากกรานเค็ม กระทบพื้นที่เกษตร)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจขุดดินถมดิน ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขุดดินถมดิน พ.ศ. 2543 และถูกอ้างมีการปล่อยน้ำเค็มลงในคลองปากกราน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ต.สนามชัย คือ บ่อดินของ น.ส.วนิดา เกษแก้ว มีใบอนุญาตแล้ว ดำเนินการขุดดินอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ 3 ต.บ้านแป้ง และบ่อดินของนายวันชัย ลามอ มีใบอนุญาตแล้ว ดำเนินการขุดดินอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ 1 ต.บ้านแป้ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 กองช่าง อบต.สนามชัย ได้มีบันทึกข้อความถึงนายอมร ขมิ้นสน นายกอบต.สนามชัย รายงานผลการตรวจสอบสถานประกอบการขุดดินถมดินทั้ง 2 แห่ง ตาม พ.ร.บ.การขุดดินถมดิน พ.ศ. 2543 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2560 ปรากฎว่า บริษัทเอกชนขุดดินทั้ง 2 แห่ง หยุดดำเนินการขุดดินระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากอยู่ในช่วงฝนตกอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร พนักงานเจ้าหน้าที่ อบต. สนามชัย และผู้ร่วมตรวจพื้นที่ได้กำชับให้ปฎิบัติตามกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย
นอกจากนี้ยังได้กำชับแนะนำบริษัทเอกชนขุดดินให้พิจารณาประเมินสถานประกอบการของตนเอง ตามแบบตรวจสถานประกอบกิจการขุดดินตาม พ.ร.บ.การขุดดินถมดิน พ.ศ. 2543 พร้อมให้จัดให้มีบ่อบำบัดน้ำเสียขึ้นภายในสถานประกอบการ โดยไม่ให้ปล่อยน้ำลงสู่ลำคลองสาธารณะ ก่อนได้รับการบำบัดโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำในเขตพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงในอนาคต
นายอมร ขมิ้นสน นายก อบต.สนามชัย เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมอบต.สนามชัยได้หยิบยกปัญหาการลักลอบปล่อยน้ำผิวดินที่มีค่าความเค็มเกินมาตรฐานลงสู่คลองปากกราน ซึ่งกำลังถกเถียงหาทางแก้ไขอย่างยั่งยืน เบื้องต้นได้เชิญบริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง เข้ามาพูดคุยแล้ว แต่ได้รับการยืนยันว่า จะสูบน้ำในบ่อทิ้งต่อเมื่อฝนตกเท่านั้น และน้ำที่สูบไม่ใช่น้ำที่มีความเค็มเกินมาตรฐาน เบื้องต้นจึงต้องหวังพึ่งให้หน่วยงานระดับจังหวัดแก้ไข เพราะยอมรับว่า อบต.สนามชัยมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการเฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้มีการลักลอบสูบน้ำทิ้งอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดิน โครงการอนุรักษ์แหล่งน้ำคลองปากกราน ครั้งล่าสุด วันที่ 7 ก.ค. 2560 พบว่า บริเวณประตูน้ำคลองปากกราน, ปากคลองบ้านแป้ง และสะพานรอยต่อ ต.ตลาดเกรียบ/ต.ช้างน้อย มีค่าความเค็ม อยู่ในมาตรฐาน
ส่วนสะพานบ้านนายเพลิน จิตรีโภชน์, สะพานบ้านนางสาวกุหลาบ บัวอุไร, สะพานคู่, สะพานบ้านโรงอ้อ และสะพานวัดลาดระโหง มีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน (ดังตารางแนบ)
ทั้งนี้ ค่าความเค็มมาตรฐานต้องน้อยกว่า 0.05% หากเกิน 0.05% ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก .