"หนุ่มตาชี"ทิ้งเมืองกรุง มุ่งกลับยะลาปลูกเมล่อนขายออนไลน์
แม้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีปัญหาความไม่สงบมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 1 ทศวรรษ และเป็นดินแดนที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับคนนอกพื้นที่ จนขยาดที่จะเดินทางไปเยี่ยมเยือน แต่สำหรับ "คนใน" ที่เกิดและเติบโตในดินแดนแห่งนี้แล้ว ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ที่นี่ก็คือบ้านของพวกเขา
บางคนมีโอกาสไปศึกษาต่อและทำงานถึงในเมืองหลวงและเมืองเจริญอย่างกรุงเทพมหานคร แต่ที่ไหนก็หาได้สุขใจเหมือนบ้านเกิดของตนเอง
พิพัฒน์ ว่องปิติธวัฒน์ หรือ "ปอนด์" หนุ่มชาวตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในคนที่เคยมีโอกาสดีๆ ในสายตาของคนทั่วไป เขาเรียนจบปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน กทม. เคยทำงานบริษัทเอกชนที่กรุงเทพฯนานถึง 5 ปี แต่การใช้ชีวิตในเมืองหลวงกลับไม่สนุกเลยสำหรับเขา และนั่นทำให้เขาตัดสินใจหันหลังให้เมืองกรุง แล้วกลับบ้านมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร
"ผมคิดว่ามันเป็นชีวิตที่อิสระ ไม่ต้องต้องแข่งกับเวลามากนัก เมื่อผมกลับมา ช่วงแรกก็กรีดยางพารา ปลูกผัก ก็มีความสุขดี และมีรายได้พอสมควร" ปอนด์ เล่าถึงการตัดสินใจกลับบ้านมาเป็นเกษตรกร
แต่หนทางในการเป็นเกษตรกรชาวสวนยางก็ไม่ได้โรยด้วยกรีบกุหลาบ เพราะระยะหลังราคายางพาราตกต่ำอย่างหนัก ทำให้เขาเริ่มคิดว่าน่าจะปลูกพืชชนิดใหม่ๆ ที่ไม่มีใคนปลูกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพืชชนิดนั้นก็คือ "เมล่อน"
"เมล่อน" เป็นพืชล้มลุกตระกูลแตง ลำต้นเป็นเถาเลื้อย ชอบอากาศอบอุ่น และมีแสงแดดเพียงพอ ผลของมันกำลังเป็นของหวานยอดนิยม และเป็นส่วนผสมของเมนูของหวานญี่ปุ่น รวมทั้งเกาหลี ใครที่รู้จัก "แคนตาลูป" จะทราบว่าเป็นสายพันธุ์หนึ่งของเมล่อน
"ผมเริ่มศึกษาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต จนได้พบเพื่อนทางออนไลน์ เขาแนะนำให้ปลูกเมล่อน เพราะบ้านเราในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีใครปลูก จึงตัดสินใจหาข้อมูลเพิ่มเติม และมีกลุ่มเพื่อนๆ อาจารย์ที่ปลูกเมล่อนคอยแนะนำ ผมศึกษาอย่างจริงจังประมาณ 5 ปี จึงลงมือขยายสายพันธุ์ต่างๆ จนกลายเป็นเมล่อนแห่งเดียวที่มีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน" ปอนด์ เล่าด้วยรอยยิ้มภาคภูมิ
แต่ก็ใช่ว่าการปลูกเมล่อนของเขาจะไม่มีอุปสรรคเอาเสียเลย เพราะช่วง 4 ปีแรกที่เริ่มทดลองปลูกด้วยระบบเปิด ไม่ได้กางมุ้ง เขาต้องเผชิญกับสารพัดปัญหา โดยเฉพาะแมลงที่เจาะกินผลของมัน และไม่รู้จะป้องกันอย่างไร
"ผมจึงไปปรึกษาพ่อกับแม่ โชคดีที่ทั้งสองท่านเข้าใจ จึงให้เงินสร้างโรงเรือนขนาด 7X18 ตารางเมตร ใช้เงินประมาณ 2 แสนกว่าบาท เพื่อกางมุ้งให้เมล่อน ป้องกันแมลงเจาะกิน"
ปอนด์ อธิบายข้อดีของการสร้างโรงเรือนว่า ลงทุนไปคิดว่าคุ้มค่า ลดภาวะโรคแมลง โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง แถมยังปลอดสารพิษ ส่วนปุ๋ยก็จะใช้ปุ๋ยเฉพาะของเมล่อน ซึ่งมีธาตุ 17 ชนิดในการบำรุงต้นของมัน
ส่วนพันธุ์เมล่อน เขาสั่งซื้อโดยตรงมาจากประเทศญี่ปุ่นบ้าง เกาหลีบ้าง ราคามีตั้งแต่เมล็ดละ 7 บาท ถึง 50 บาท แล้วแต่สายพันธุ์ และจำนวนที่สั่ง ปัจจุบันปลูกอยู่ 6 สายพันธุ์ คือ คิโมจิ, ซูบาริคิง, เอกะ, ซูเอโต้, เอิร์ทเม้าฮาเกะ และฮาเกะ F1 โดยการปลูกเมล่อนต้องเริ่มจากเพาะเมล็ด กระทั่งเจริญเติบโตเป็นต้น และออกผล กว่าจะสุกใช้เวลาราว 90 วัน หรือ 3 เดือน
"การปลูกเมล่อนต้องเอาใจใส่ บำรุงรักษาเป็นอย่างดี เพราะเมล่อนเป็นพืชที่ดูแลยาก เป็นพืชตระกูลแตง เป็นไม้เลื้อย การผสมเกสรจะต้องดูช่วงเวลา นับวัน กำหนดวัน อีก 90 วันก็จะเก็บเกี่ยวได้ วิธีการปลูกมีรายละเอียดมาก หลังจากเมล่อนติดลูก ต้องใช้เชือกโยงต้น โยงลูก เนื่องจากผลเมล่อนจะมีน้ำหนักมาก มีตั้งแต่ผลละ 1.5 กิโลกรัะม จนถึง 2 กิโลกรัม แล้วแต่สายพันธุ์ น้ำหนักจะไม่เหมือนกัน"
ปอนด์ เล่าว่า เมล่อนที่ปลูกในโรงเรือนที่ปลูกสร้างขึ้นเอง จะได้ผลประมาณ 400 ลูกต่อการปลูก 1 ครั้ง ปีหนึ่งปลูกได้ 4 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 3 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่ก็ต้องขึ้นกับสภาพอากาศด้วย เพราะถ้าน้ำมากไป ความชื้นสูงเกินไป จะทำให้รากเน่า หรือรสชาติเปลี่ยน เมล่อนไม่หวาน ไม่หอม
ผลผลิตของปอนด์ จะขายกิโลกรัมละ 150 บาท ลูกหนึ่งน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม สำหรับตลาดจำหน่ายเมล่อน จะขายทางเฟซบุ๊ค และชาวบ้านที่รู้พากันมาจอง ทุกวันนี้มีคนมาจองผลผลิตจนผลิตไม่ทัน
"ตอนนี้ผมมีความคิดจะทดลองปลูกองุ่น โดยสั่งซื้อต้นองุ่นมาแล้วประมาณ 20 ต้น จะเริ่มทดลองปลูก หากปลูกสำเร็จก็จะสามารถมีรายได้เพิ่มจากการปลูกองุ่นแทน ยางพาราที่ยังราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง" เขาวาดแผนในอนาคต
ล่าสุดมีคนจากเบตง จังหวัดยะลา เดินทางไกลมาดูสวนเมล่อนของปอนด์ ด้วยหวังจะนำไปปลูกขยายพันธุ์ที่เบตง เพราะเขาเชื่อว่าน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ขยายตลาดได้ถึงในมาเลเซีย
เรื่องราวชีวิตของปอนด์ และสวนเมล่อนที่น่าอัศจรรย์ เป็นอีกหนึ่งบททดสอบของ "คนกลับบ้าน" ที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจชายแดนใต้จากปัญหาความรุนแรง
-------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : อับดุลเลาะ หวังหนิ