โฉมหน้า MOU รถไฟ ไทย-จีน 7 ข้อ ฉบับภาษาไทย-อังกฤษ พร้อม MOI ไทย-ญี่ปุ่น
เปิดรายละเอียด MOU รถไฟไทย-จีน ฉบับภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ 7 ข้อ ก่อนหน้าถูก ก.คมนาคมปกปิด ระบุชัดไม่บอกเลิก ต่อเวลาอัตโนมัติครั้งละ 5 ปี พ่วง MOI พัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่น ฉบับ ภาษาอังกฤษ 5 ข้อ
สืบเนื่องจากคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ ได้มีมติให้สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยข้อมูล
1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (MOU) ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565
2.บันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือ (MOI) ด้านการพัฒนาระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่นรวม 2 รายการ ให้แก่ นายอรุณ อังศุยานนท์ ผู้ยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ (สขร.) ภายหลังถูกปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม โดยให้เหตุผลว่า หากมีการเผยแพร่ข้อมูลไปยังคู่สัญญาของประเทศไทยในอนาคตอาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลไทย (อ่านประกอบ:ฉบับเต็ม! คำสั่ง คกก.วินิจฉัยฯ สขร. ให้เปิด MOUรถไฟ ไทย-จีน พ่วง MOI ไทย-ญี่ปุ่น,ไม่ใช่สนธิสัญญา! คกก.วินิจฉัยฯ สขร.สั่งเปิด MOU รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น หลังถูกปิดข้อมูล)
กล่าวเฉพาะฉบับแรกมีเนื้อหา 7 ข้อ อาทิ ข้อ 7. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะมีผลใช้บังคับ ณ วันที่ลงนาม และจะมีผลบังคับใช้ 5 ปี นอกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 6 เดือนล่วงหน้า ทั้งนี้หากไม่มีการบอกเลิก บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติอีกครั้งละ 5 ปี
มีถ้อยคำรายละเอียดดังนี้
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565
เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 40 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะร่วมกันส่งเสริมความรวมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ด้วยการร่วมพัฒนาพื้นที่ภาตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคอื่นๆของไทยเพื่อประโยชน์ในระยะยาวของประชาชน รวมถึงการใช้ตำแหน่งที่ตั้งอันเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของไทยในภูมิภาคในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน
บนพื้นฐานข้างต้นทั้งสองฝ่ายได้บรรลุความเข้าใจดังต่อไปนี้
1.รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินารตาม “กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565”โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด (ประมาณ 734 กิโลเมตร) และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ (ประมาณ 133 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลในการดำเนินโครงการความร่วมมือดังกล่าว
2.ในการดำเนินการตามเนื้อหาข้างต้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้หลักการดังนี้
2.1 ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบในการก่อสร้างและพัฒนระบบรถไฟตามที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับการสนับสนุนเงินลงทุนและการชำระเงินลงทุนจะมีการหารือกันต่อไป
2.2 ฝ่ายไทยตกลงที่จะให้ฝ่ายจีนเข้ามามีส่วนร่วมในโอกาสแรกที่เป็นไปได้ในขั้นตอนการเตรียมการของโครงการฯ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ และจะพยายามให้เริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2559
2.3 ในการประเมินมูลค่าโครงการฯ ให้เป็นการหารือระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งให้มีองค์กรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสองฝ่ายเป็นผู้ประเมิน
2.4 ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือของโครงการฯ โดยจะหารือกันต่อไปเกี่ยวกับรูปแบบดังกล่าว
3. ให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ สำหรับไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานร่วม สำหรับจีนให้ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Council) เป็นประธานร่วม
4.ในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ในประเทศคู่ภาคี
5.ในกรณีที่สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ขัดหรือแย้งกับบันทึกความเข้าใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟที่ลงนามระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลเหนือกว่า
6.บันทึกความเข้าใจฉบับบี้อาจแก้ไขโดยความเห็นชอบร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร
7.บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะมีผลใช้บังคับ ณ วันที่ลงนาม และจะมีผลบังคับใช้ 5 ปี นอกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 6 เดือนล่วงหน้า ทั้งนี้หากไม่มีการบอกเลิก บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติอีกครั้งละ 5 ปี
เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องเพื่อการนี้จากรัฐบาลของแต่ละฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไว้เป็นสำคัญ
ทำเป็นคู่ฉบับ ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2557 เป็นภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ทุกบับมีความถูกต้องเท่าเทียมกัน ในกรณีที่มีความแตกต่างในการตีความ ให้ฉบับภาษาอังกฤษ มีผลเหนือกว่า
สำหรับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
สำหรับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายฉี เจ้าฉือ ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ
ดูเอกสาร MOU ไทย-จีน ฉบับภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และ MOI ไทย-ญี่ปุ่นฉบับภาษาอังกฤษประกอบ