ดัชนีคอร์รัปชั่นไทยล่าสุดอัตราจ่ายสินบนพุ่งเป็น25%
“ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย” พบว่าความรุนแรงลดลง และ “คนไม่จ่ายสินบนมีมากขึ้น ขณะที่คนจ่ายก็มีเพิ่มขึ้นสูง”
รายงานผลการสำรวจ “ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย” (CSI) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมามีข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้
1. ดัชนีคอร์รัปชันได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 55 คะแนนในการสำรวจคราวที่แล้ว เป็น 53 คะแนน ถือว่าแย่ลง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์เกินกว่า 50 คะแนน หรือสอบผ่าน จึงยังไม่น่ากังวลว่าเป็นการถดถอยอย่างน่าวิตก และภาพรวมผลการประเมินในช่วงเวลาของรัฐบาลนี้ยังดีกว่ารัฐบาลอื่นในรอบ 6 ปีครึ่งที่เคยสำรวจมา
2. ความรุนแรงของการจ่ายสินบนลดลง กล่าวคือ ประชาชนที่ตอบว่า “ลดลง” มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 48 เป็น 51 ประชาชนที่ตอบว่า “เพิ่มขึ้น” ก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกันจาก 19 เป็น 35 หรือกล่าวได้ว่า คนไม่จ่ายมีมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน คนจ่ายก็จ่ายมากขึ้นเช่นกัน
3. ในการสำรวจครั้งที่แล้ว อัตราสินบนเฉลี่ยอยู่ที่ 1 - 15% แต่คราวนี้ขยับเป็น 6 - 15% ขณะที่อัตราสินบนที่ 20 - 25% เริ่มปรากฎให้เห็น
4. ประชาชนเป็นห่วงว่าอาจมีคอร์รัปชันมากขึ้นในหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งคณะผู้สำรวจประเมินว่า อาจเป็นเพราะข่าวและข้อสงสัยเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการใช้อำนาจและการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มีการตั้งคำถามกันมากในขณะนี้ กอปรกับการที่รัฐจะมีการลงทุนในเมกกะโปรเจคอีกเป็นจำนวนมาก
5. ประชาชนมองว่าสาเหตุสำคัญที่คอร์รัปชันเพิ่มขึ้น เป็นเพราะความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย การขาดความโปร่งใสตรวจสอบได้ยาก กฎหมายเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจสูง ความล่าช้ายุ่งยากของกฎหมายกฎระเบียบในการติดต่อราชการ
6. ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อภาคส่วนหรือองค์กรต่างๆ ในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยพบว่า ป.ป.ช. ได้รับความเชื่อมั่นสูงกว่าทุกครั้งที่เคยสำรวจมา
7. โดยสรุป ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย 4 หมวด มีคะแนนลดลง 3 หมวด คือ ด้านการป้องกัน การปราบปราม และ ปัญหาและความรุนแรงของคอร์รัปชัน คงมีด้านการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกเพียงด้านเดียวที่คะแนนสูงขึ้น
ข้อคิดเห็นของผู้เขียนต่อผลสำรวจ
ก. “ทัศนคติ ความตื่นตัวและเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันของประชาชนมีมากและชัดเจนขึ้น” เห็นได้จากการตอบแบบสอบถามครั้งหลังนี้ ประชาชนเลือกตอบแบบกลางๆ น้อยลง เช่น ไม่แน่ใจ ไม่เพิ่มขึ้นหรือเท่าเดิม แต่เลือกตอบแบบฟันธงไปทางใดทางหนึ่งเลยว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จ่ายหรือไม่จ่าย เพิ่มขึ้นหรือลดลง
ข. ผลการสำรวจนี้สอดคล้องกับข้อมูลของ Global Corruption Barometer 2017 (มีนาคม 2560) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ซึ่งเป็นผู้จัดทำการสำรวจ CPI เช่นกัน ความสอดคล้องมีในแง่ที่ว่า คนไทยรับรู้และเข้าใจถึงการโกงกินที่กำลังเป็นปัญหาวิกฤติของประเทศ จึงต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับคอร์รัปชันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ติดตามและแสดงการสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการดำเนินการและมาตรการของรัฐบาลเพื่อเอาชนะปัญหานี้ให้ได้
ค. การที่กฎหมายและมาตรการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายต่อสาธารณะและที่ออกมาบังคับใช้แล้วแต่ยังมีผลในทางปฏิบัติน้อยมาก อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมขาดความมั่นใจในการควบคุมคอร์รัปชันในอนาคต เช่น กรณี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ และ พ.ร.ฎ. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฯ
ง. ต่อคำถามที่ว่า “อะไรคือสาเหตุ” และ “อะไรคือรูปแบบคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสังคมไทย” มีข้อสังเกตว่า คำตอบในการสำรวจแต่ละครั้งมักสัมพันธ์กับข่าวอื้อฉาวการโกงกินหรือความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ เสมอ
“ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชัน” เป็นการสำรวจทางวิชาการทุก 6 เดือน โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ด้วยเก็บข้อมูลโดยตรงจากประชาชน ข้าราชการ และนักธุรกิจ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.itespresso.fr